กทม.ชี้แจงการดูแลคนไร้ที่พึ่ง

เรื่อง ชี้แจงกรณีสื่อข่าวสด คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2563
เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ตามหนังสือที่อ้างถึง หนังสือพิมพ์ข่าวสด คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ได้แสดงความคิดเห็นว่า คนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งย่านฝั่งธนบุรี พระนคร และชานเมือง ทำไมถึงไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือเข้ามาช่วย เหตุใดจึงไม่นำตึกร้าง อาคารร้าง โรงภาพยนตร์ปล่อยร้าง ที่มีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำมาปรับปรุงให้คนไร้บ้านได้เข้าไปพักอาศัยพร้อมทั้งจัดระเบียบให้เรียบร้อย ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบแล้วเห็นว่าข้อมูลดังกล่าว เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 โดยเป็นข้อเสนอแนะเพื่อให้คนไร้ที่พึ่งได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในการสนับสนุนให้คนไร้ที่พึ่งมีที่พักอาศัย จึงขอเรียนข้อมูล ดังนี้

1.จากรายงานวิจัย “การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) พบคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 1,307 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ แหล่งที่พบมากได้แก่ บริเวณสนามหลวง ราชดำเนิน คลองหลอด จำนวน 395 คน บริเวณหัวลำโพง เยาวราช จำนวน 125 คน ร้อยละ 76 ของคนไร้บ้าน ยังคงมีบ้านหรือครอบครัวและกลับไปเยี่ยมบ้านหรือครอบครัว อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2.การดำเนินการด้านคนไร้ที่พึ่ง ตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 มีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักมีภารกิจและอำนาจหน้าที่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ มีหน้าที่ในการรับแจ้งให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยเหลือ ตลอดจนจัดส่งคนไร้ที่พึ่งไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานครหรือสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 3.การดำเนินการสนับสนุนให้คนไร้ที่พึ่งมีที่พักอาศัยตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดอำนาจหน้าที่ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สนับสนุนให้คนไร้ที่พึ่งมีที่พักอาศัย และสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อนำไปสู่การมีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนจัดให้คนไร้ที่พึ่งมีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง จัดที่พักอาศัยชั่วคราวให้คนไร้ที่พึ่งในระหว่างการหาที่พักอาศัยเป็นของตนเอง โดยมีหน่วยงานที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย ดังนี้

3.1 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จัดบริการในรูปแบบ
-ที่พักอาศัยชั่วคราว รองรับได้วันละ 50 คน ครั้งละไม่เกิน 15 วัน มี 5 แห่งได้แก่ 1)ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) 2)บ้านมิตรไมตรี ห้วยขวาง 3)บ้านมิตรไมตรี สายไหม 4)บ้านมิตรไมตรีอ่อนนุช เขตประเวศ 5)บ้านมิตรไมตรี ธนบุรี
-ที่พักอาศัยระยะยาว ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง ที่ใกล้กรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี,สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรีและสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี รวมรองรับได้วันละ 1,680 คน
-การจัดหาที่ดินในนิคมสร้างตนเองเพื่อการมีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน อาชีพเป็นหลักแหล่ง ตามโครงการบ้านน้อยในนิคม เพื่อให้คนไร้ที่พึ่งสามารถพึ่งตนเองได้

3.2 มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (ม.พ.ศ) ประสานความร่วมมือกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย ดังนี้
1)แบบบริการที่พักอาศัยชั่วคราว ในศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู เขตบางกอกน้อย รองรับได้วันละ 300 คน

2)แบบยั่งยืนถาวร โดยการรวมกลุ่มของคนไร้ที่พึ่งเพื่อการมีที่อยู่อาศัย เป็นของตนเอง ตามโครงการบ้านมั่นคง ในรูปแบบการส่งเสริมการออมร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
ในกรณีจะนำตัวคนไร้ที่พึ่งออกจากพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเข้ารับการคุ้มครองในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น จะต้องได้รับความสมัครใจจากคนไร้ที่พึ่งก่อนเสมอ แต่ปัญหาที่สำคัญคือบุคคลเหล่านี้ชอบความอิสระ ที่ผ่านมาเคยเข้าไปอยู่ที่บ้านพักที่รัฐบาลจัดสรรไว้ให้ ก็หนีออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะเหมือนเดิม

4.กรุงเทพมหานคร ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบตามภารกิจของหน่วยงาน ดังนี้
4.1 สำนักพัฒนาสังคม ดำเนินการศูนย์คัดกรองและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส (บ้านอิ่มใจ) ตั้งอยู่ที่ 4641 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการลงพื้นที่สำรวจรับเรื่องราว คัดกรอง ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ การเยี่ยมบ้าน การประสานงานหรือส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามสภาพปัญหาและความต้องการของคนไร้ที่พึ่ง โดยการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร หน่วนงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตามสภาพปัญหาและความต้องการของคนไร้ที่พึ่ง โดยการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
4.2 สำนักงานเทศกิจและสำนักงานเขต มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีภารกิจปฏิบัติการด้านคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักงานเขต 50 เขต จะร่วมการบูรณาการ การดำเนินงานลงพื้นที่สำรวจ การจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่ง กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยการอำนวยความสะดวก การประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ

นางจิตรลดา ถนอมศักดิ์

รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม

รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน