นครวัดทัศนะสยาม – รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ มีตัวอย่างหนึ่งฉายชัดในหนังสือ “นครวัดทัศนะสยาม” ถึงทัศนะสยามที่มีต่อนครวัด นั่นคือการจำลองปราสาทนครวัดมาไว้ที่กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นปราชญ์ นอกเหนือจากพระองค์จะมีความสน พระราชหฤทัยเกี่ยวกับวิทยาการใน ด้านอื่นๆ ยังสนพระราชหฤทัยในศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถานกัมพูชาด้วย

ดังปรากฏหลักฐานว่าใน พ.ศ.2402 โปรดให้พระสุพรรณพิศาลและขุนชาญวิชา ออกไปเลือกหาปราสาทหลังเล็กๆ ที่พอจะรื้อมาปลูกไว้ในกรุงเทพฯ (ที่วัดปทุมวนาราม) และเพชรบุรี (ที่เขามหาสวรรค์) ไว้เป็นพระเกียรติยศได้ ดังปรากฏข้อความในสารตราถึงขุนชาญวิชา ฯลฯ เรื่องทำปราสาทศิลาบนยอดเขามหาสวรรค์ จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 (จ.ศ.1221), หนังสือสมุดไทยดำ, อักษรไทย, ภาษาไทย, เส้นดินสอ, เลขที่ 70 ความว่า

 

“มีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ณ เดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม เอกศก เสด็จพระราชดำเนินออกไปเมืองเพชรบุรีทอดพระเนตรบนยอดเขามหาสวรรค์ที่ทำเลกว้างขวางพอจะสร้างปราสาทศิลาได้ จะต้องพระราชประสงค์ปราสาทศิลาเมือง พุทไธสมันที่รูปทรงแลลวดลายสลักงามสักปราสาทหนึ่ง จะได้สูงต่ำโตเล็กประมาณเท่าใดพอจะขนเข้ามาได้ ให้ขุนชาญวิชากับพระสุพรรณพิศาลเลือกวัดชันสูตรสูง ต่ำ ใหญ่ เล็ก เขียนตัวอย่างเขียนรูป วัดกำหนดศอกนิ้ว กับมีหนังสือบอกเข้าให้ถี่ถ้วนแน่นอน จะได้วัดดูกับพื้นบนบกให้พอตั้งได้ จะได้มีตราออกมาให้รีบขนปราสาทเข้าไปให้ถึงกรุงเทพฯ โดยเร็ว”

แต่หลังจากที่พระสุพรรณพิศาลและขุนชาติวิชาเริ่มการบวงสรวงเพื่อจะรื้อปราสาทผไท ตาพรหมในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2403 พอเริ่มรื้อก็มีชาวเขมรประมาณ 300 คนออกจากป่า (แสดงว่าปราสาทผไทตาพรหมน่าจะตั้งอยู่ในป่า) มาฆ่าพระสุพรรณพิศาลและพรรคพวกตายไปหลายคน ยกเว้นแต่ไพร่ไม่ถูกทำร้าย

หลังจากเกิดกรณีนี้ขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงชะลอเรื่องเกี่ยวกับปราสาทหินเขมรไปชั่วคราว จนถึง พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระสามภพพ่ายเดินทางไปถ่ายแบบปราสาทนครวัด เพื่อจะมาจำลองไว้ในกรุงเทพมหานคร แม้การก่อสร้างปราสาทนครวัดจำลองจะเสร็จไม่ทันในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ แต่ก็ถือว่าได้เป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองปราสาทนครวัดเพื่อให้คนทั้งหลายได้ชมสมดังพระราชดำริที่ว่า “เพื่อจะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นของอัศจรรย์ ทำด้วยศิลาทั้งสิ้นไม่มีสิ่งไรปน”

หนังสือ “นครวัดทัศนะสยาม” เผยว่า ก่อนหน้าการค้นพบบนนครวัดของฝรั่งเศส ความรู้เกี่ยวกับนนครวัดของคนท้องถิ่นนั้นก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ในรูปแบบของตำนาน ความทรงจำ และพงศาวดาร
เรื่องความรู้ ความทรงจำต่อนครวัดของคนท้องถิ่น คงมิต้องพูดถึงชาวกัมพูชาเจ้าของดินแดน นับแต่เฉพาะชาวสยาม ก็มีความทรงจำต่อเมืองนครวัดหลากหลายและยาวนาน เพราะถ้าหากย้อนเวลากลับไป เราจะพบว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์นับตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย-รัตนโกสินทร์ ระบุถึงความรู้ของชาวสยามที่มีต่อนครวัดจำนวนมาก และไม่ใช่แค่ในระดับชนชั้นสูงเท่านั้นที่รู้จักนครวัดและสั่งให้สร้างวัด-วังเลียนแบบ แต่ชาวบ้านร้านตลาด-พระสงฆ์องค์เจ้าต่างก็รู้จักนครวัดเช่นกัน และคนเหล่านี้ต่างเคยเดินทางไปเมืองนครวัดด้วยกันทั้งนั้น

จึงไม่ใช่เลยที่นครวัดจะเป็นเมืองที่ถูกทิ้งร้าง และแวดล้อมไปด้วยชนป่าเถื่อนอย่างที่ อองรี มูโอต์ บอกเล่าไว้ เพราะที่แท้เรื่องราวของนครวัดยังคงไหลเวียนอยู่ในความทรงจำของคนท้องถิ่นมาตลอด สายธารของประวัติศาสตร์ เพียงแต่ไม่ใช่ในแบบที่คนปัจจุบันเข้าใจ

รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ได้รวบรวมหลักฐานความรู้ ความเข้าใจนครวัดของชาวสยามมาร้อยเรียงเป็นหนังสือเรื่อง นครวัดทัศนะสยาม เพื่อบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ของชาวสยามที่มีต่อนครวัดที่ปรับเปลี่ยน ผันแปรไปตามบริบทของยุคสมัย และตอกย้ำให้เห็นว่า “นครวัดไม่ได้หายไปไหน แต่อยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดมา”

…เรียงกันมาไม่ขาดสาย หนังสือเล่มใหม่จากสำนักพิมพ์ มติชน ล่าสุดชวนอ่านเรื่องราวความพยายามเพื่อค้นหาท่วงทำนองมหัศจรรย์แห่งอวกาศ “แบล็กโฮลบลูส์ (Black Hole Blues)”

หนังสือที่ไม่ได้เป็นเพียงสารคดีวิทยาศาสตร์ที่บอกเล่าถึง “โครงการสถานีสังเกตการณ์ไลโก” หอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงที่ไม่มีวี่แววจะประสบความสำเร็จ แต่คือเรื่องราวของความพยายามของมนุษยชาติในการพิสูจน์การดำรงอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วง หนึ่งในความมหัศจรรย์แห่งอวกาศที่ได้รับการทำนายไว้โดยทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ซึ่งต้องใช้เพียงเครื่องมือที่มีความละเอียดอ่อนที่สุดจึงจะตรวจจับได้

การเดินทางมาถึงความสำเร็จของไลโก ไม่ต่างจาก “บทเพลงบลูส์” ของเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมกันลงแรงเพื่อรับฟังท่วงทำนองที่ขับขานไปทั่วอวกาศนี้

ผลงาน Janna Levin นักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมสังเกตการณ์โครงการสถานีสังเกตการณ์ไลโก แปลโดย ปิยบุตร บุรีคำ

…และอีกเล่มสดๆ ร้อนๆ จากบันทึกออนไลน์ของคนธรรมดาที่อยากเล่า เพราะเสียงของพวกเขาถูกปิดกั้นบัดนี้เสียงนั้นดังถึงผู้อ่านชาวไทยแล้ว ผ่านหนังสือ “ไดอารี่ล็อกดาวน์อู่ฮั่น”

ย้อนกลับไปที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกแรก ท่ามกลางเสียงชื่นชมจากทั่วสารทิศว่าทางการจีนมีมาตรการช่วยเหลือและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ก็มีเสียงของประชาชนที่บันทึก “สิ่งที่ทางการไม่ได้พูด” ถึงมาตรการล็อกดาวน์ที่คนร่วมชาติต้องประสบพบเจอ

23 มกราคม 2020 วันแรกที่นครอู่ฮั่นถูกสั่งล็อกดาวน์กะทันหัน เพราะการระบาดของโรคติดต่อชนิดใหม่ที่ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ในภาวะสับสนและหดหู่ ประชาชนชาวอู่ฮั่นไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน จากทางการ พวกเขายังต้องกินต้องใช้ทว่า สิ่งจำเป็นอย่างหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์อาหารสด และอาหารแห้งที่วางขายตาม ซูเปอร์มาร์เก็ตกลับร่อยหรอ ไม่ต่างจากขวัญกำลังใจในการรับมือกับหายนะครั้งนี้

“กัวจิง” วัย 29 ปี เป็นนักสังคมสงเคราะห์และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี เธอติดอยู่ที่ อู่ฮั่นระหว่างการปิดเมือง เธอพบเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพื่อนร่วมเมือง และเพื่อนร่วมชาติ ไดอารี่ออนไลน์ของเธอบันทึก “ความจริงที่รัฐไม่เคยเล่า” ของหลายๆชีวิตในช่วงปิดเมืองอู่ฮั่น โดยบางส่วนของบันทึก สื่อตะวันตกอย่างบีบีซีและเดอะการ์เดี้ยนนำไปเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ ก่อนได้ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มฉบับภาษาจีนที่ไต้หวัน

นี่คือเสียงสะท้อนประชาชนจีนยามปิดเมืองอู่ฮั่น คือเรื่องอีกด้านที่ทางการจีนไม่อยากให้พูดถึง คือเรื่องจริง ความรู้สึกอันแท้จริงที่แทบไม่แตกต่างจากความรู้สึกของคนไทยและคนทั่วโลกที่ต้อง เผชิญสถานการณ์เดียวกัน / เรืองชัย รักศรีอักษร แปล

“แตกเป็นแตก” 8 เรื่องความสัมพันธ์อันแตกหักและผันแปรผลงานล่าสุดของ อุรุดา โควินท์ การ กลับมาที่สลัดความ โรแมนติก ความอ่อนโยนทิ้งอย่างไร้เยื่อใย พร้อมจูงมือนักอ่านไปพบกับความแตกร้าวด้วย 8 เรื่องสั้นว่าด้วยความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อน คนรักพ่อแม่ครอบครัว สัตว์เลี้ยง การงาน ตัวตนที่เต็มไปด้วยรอยร้าวไปจนกระทั่งแตกหัก และการเกิดขึ้นใหม่หลังจากนั้นของชีวิตที่เลือกจะยอมหักไม่ยอมงอ

“ในความหมายหนึ่ง แตกคือการทำลาย และในอีกความหมายแตกออกจากกันคือการได้สิ่งใหม่”

…ชวนอ่านก่อนเที่ยวสุขใจด้วยคู่หนังสือราคาพิเศษ 450.- จากมติชน ชุด “เที่ยวสุโขทัย” ประกอบด้วย 1.สมัยสุโขทัย เจดีย์อินคัลเลอร์ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม และ 2.สนุกอ่าน ประวัติศาสตร์สุโขทัย โดย อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ


“สมัยสุโขทัย เจดีย์อินคัลเลอร์” เจดีย์ในสมัยสุโขทัยเล่มนี้ มิได้มีเพียงซากปรักหักพัง หากแต่ผู้เขียนได้ใช้โปรแกรมสรรค์สร้างรูปทรงสันนิษฐานขึ้นมาใหม่ ให้เห็นถึงชีวิตชีวาของเจดีย์แต่ละองค์ อันถือเป็นการต่อยอดแนวคิดองค์ความรู้อย่างไม่หยุดนิ่งเพียงแค่ข้อมูลวิชาการเท่านั้น

“สนุกอ่าน ประวัติศาสตร์สุโขทัย” นำเสนอประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่างรอบด้าน ผ่าน 3 มุมมอง คือ มดตะนอย นกน้อย และช่าง ตีเหล็ก สามสหายที่จะมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์สุโขทัยแบบสนุกๆเด็กๆ อ่านเป็นหลักได้ หรืออ่านเสริมบทเรียนยิ่งดี คลิกสั่งซื้อได้ที่ www.matichonbook.com

…พบกันใหม่อาทิตย์หน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน