ไพ่ตายวัดใจ – ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยเห็นต่างอย่างไร ประเทศไทยหลังวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความขัดแย้งทางการเมืองที่สั่งสมไว้ 14 ปี มาถึงจุดท้าทายสูงสุด กระทั่งจรดเพดาน โดยยังมองไม่ออกว่า ผู้มีอำนาจจะหาทางคลี่คลายแก้ไขอย่างไร

ในฐานะฝ่ายประชาธิปไตยรุ่นเก่า ยอมรับว่าอ้าปากค้าง หลังม็อบ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ประกาศข้อเรียกร้อง ไม่ใช่คัดค้านต่อต้าน เพราะเป็นเสรีภาพของเขา โดยสาระหลักยังอยู่ในกรอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่อาจจะมองในสายตา “ผู้ใหญ่” ห่วงกังวล ว่ากล้าเกินไป เสี่ยงเกินไป จะเป็นภัย สังคมยังไม่พร้อม จะมีคนยอมรับไม่ได้จำนวนมาก รวมทั้งยังกังวลว่า จะกระทบข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา หยุดคุกคาม ซึ่งสังคมวงกว้างพอจะรับได้

กระนั้น ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยเห็นต่างอย่างไร ทั้งในแง่ทัศนะ วิธีการ ฯลฯ ม็อบ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ก็ยกระดับสถานการณ์ไปสู่ความท้าทายสูงสุด เข้าสู่เกมวัดใจ ระดับสูงสุด เสมือนจู่ๆ “ม็อบเด็ก” ก็พาเราขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา ทำเอาคนอายุ 50-60-70 ไม่ว่าข้างไหน หัวใจจะวาย

เราทั้งประเทศนี่ละ โดนพาขึ้นรถไฟเหาะ แต่อย่าไปโทษเขา คนรุ่นเก่าต่างหาก สร้างภาระให้คนรุ่นใหม่ ขนาดนั้นก็ยังมีพวกให้ร้ายสร้างผังโยงใย เป็นขบวนการสมคบคิดตั้งแต่ปี 2549 ทั้งที่ตอนนั้น เนติวิทย์เพิ่งอยู่ ป.4

เด็กรุ่นนี้ ตอนรัฐประหาร 49 บ้างก็เพิ่งเกิด ตอนม็อบปี 53 ยังเรียนประถมมัธยม หลายคนบ่นอุบต้องหยุดเรียน ม็อบ กปปส.ปี 57 บางคนก็ไปกับพ่อแม่ ใช้สมองหน่อยสิ รัฐไปทำอะไรให้เขาคิดอย่างนี้

โทษธนาธร ปิยบุตร ล้างสมอง แล้วที่ให้ท่องค่านิยม 12 ประการมา 6 ปี ใครล้างสมองกันแน่ แต่ทำไมล้างไม่สำเร็จ กลายเป็นปลุกกระแสต้าน โปรดใช้สติ คิดทบทวนกันใหม่

สถานการณ์ขณะนี้ เข้าสู่เกมวัดใจระดับสูงสุด ว่าฝ่ายที่กุมอำนาจ คือรัฐบาลจะจัดการอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แม้มีอำนาจล้นหลาม

แน่ละ เราเห็นคนโกรธแค้น ประณาม ปลุกความเกลียดชัง ต้องการให้รัฐบาลปราบม็อบนักศึกษา แต่ถามว่าจะทำไง? จะเข่นฆ่าแบบ 6 ตุลา 2519 หรือเมษา-พฤษภา 53 มันไม่ง่ายหรอกนะ

เอาแค่จับกุมคุมขัง รัฐบาลยังต้องระมัดระวัง เพราะประลองกำลัง “วัดใจ” กันมาตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว ตอนจับกุมทนายอานนท์ ไมค์ ภาณุพงศ์ แล้วม็อบฮือตั้งแต่ สน.บางเขน ไปจนแน่นสกายวอล์ก

รัฐบาลก็รู้ว่าการจับกุมยับยั้งกระแสคนรุ่นใหม่ไม่ได้ ยิ่งไปคุกคาม เช่น จะบุกจับแกนนำกลางดึก หรือคุกคามถึงบ้านทั้งที่ไม่ได้ตั้งข้อหา ยิ่งไปกันใหญ่

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ไม่ต้องการตั้งข้อหา “หมิ่นเหม่” เลี่ยงไปใช้ ม.116 “กบฏ” จากการจัดชุมนุมเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. จึงถูกคัดค้านอย่างกว้างขวาง

หรือต่อให้ตั้งข้อหา “หมิ่นเหม่” รัฐบาลก็ต้องดำเนินคดีอย่างอารยะ ท่ามกลางการจับตาของทุกฝ่าย จะละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าเหตุได้ยาก

เข้าใจตรงกันนะ รัฐบาลประยุทธ์ 2/2 จะต้องประคองสถานการณ์ประเทศให้อยู่ในความสงบ รับมือวิบัติเศรษฐกิจหลังโควิด รับมือวิกฤตศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม ภายใต้องคาพยพที่เสื่อมถอยแทบทุกด้าน กระทั่งอนุกรรมาธิการงบฯ ยังถูกกล่าวหาว่าอดอยากปากแห้งรีดไถราชการ

ฉะนั้น แม้กระทั่งการเกิด “ม็อบชนม็อบ” รัฐบาลเองก็ต้องระวัง และต้องเป็นฝ่ายควบคุมป้องกัน แม้หวังพึ่งการปลุกกระแสเกลียดชัง “ล้อมปราบ” นักศึกษา เพื่อปิดกั้นทางการเมือง แต่ถ้าเลยเถิดไปสู่การใช้กำลัง รัฐบาลก็ลำบาก

เราไม่ได้อยู่ในโลกยุค 6 ตุลา “ขวาพิฆาตซ้าย” แม้ 10 ปีพฤษภา 53 เพิ่งผ่านไป แต่หลังจากนั้นคืออะไร คือนักศึกษาเข้าป่า คือพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย

ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลประยุทธ์และกองทัพ คือสกัดกั้นความคิดของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ยิ่งไปทำให้ไฟลามทุ่ง

รัฐประหารเสียอีกทีไหม? โอ๊ย ง่ายนิดเดียว จะทำเมื่อไหร่ก็ได้ แค่ดีดนิ้วมือ แต่รัฐประหารแล้วจะทำอย่างไร กวาดจับนักเรียนนักศึกษา นักวิชาการประชาธิปไตย ก้าวหน้า ก้าวไกล ฯลฯ ต้องจับไม่น้อยกว่า 2-3 พัน ต้องปิดสื่อ ปิดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ปกครองน้องๆ เกาหลีเหนือ แล้วจะรับมือกับเศรษฐกิจอย่างไร จะยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกได้ไหม

รัฐประหารทุกครั้ง มีข้ออ้างละเมิดสถาบัน แต่ก็ต้องมีข้ออ้างล้มรัฐบาลเลวชั่วโกง อ้าว นี่มันรัฐบาลใคร

ภายใต้รัฐบาลนี้ เครือข่ายอนุรักษนิยมมีอำนาจล้นเกินอยู่แล้ว ทำไมต้องรัฐประหาร ล้มประชาธิปไตยปลอมที่อุตส่าห์สร้าง กลับไปตั้งต้นใหม่ (และยิ่งทำให้กระแสต้านแรงขึ้น)

ในสถานการณ์อย่างนี้ จึงกลายเป็นว่า คนรุ่นใหม่ทิ้งไพ่ตาย พารัฐบาลสูงวัยขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา โดยพวกเขายอมเสี่ยง ถึงที่สุด แต่รัฐบาลก็หาทางคลี่คลายได้ยากเช่นกัน ขณะเดียวกัน ยังไปกดดันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญเพื่อ ตัดไฟ

นี่คือสถานการณ์วัดใจ ตัดสินใจพลาดไม่ได้เลยแม้แต่ ก้าวเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน