กระซิบรัก‘น่านเน้อเจ้า’ – “น่าน” เป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นจุดหมายสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว
หนึ่งในเป้าหมายที่ทุกคนต้องปักหมุดคือ “วัดภูมินทร์” ที่มีอายุกว่า 400 ปี โดดเด่นด้วยงานจิตรกรรมฝาผนัง กระซิบรักบันลือโลก “ปู่ม่านย่าม่าน” หรือหนุ่มกระซิบ ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นภาพได้รับการยกย่องว่าสมบูรณ์แบบที่สุดทั้งด้านองค์ประกอบและอารมณ์ และยังสะท้อนให้เห็นวิถีการแต่งกายของผู้หญิงไทยลื้ออย่างเต็มยศ
นอกจากนี้ ยังมีภาพอื่นๆ เช่น ภาพการแต่งกายคล้ายผ้าซิ่นลายน้ำไหล การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ เป็นต้น
ปัจจุบันสตรีชาวน่านยังคงสืบสานการทอผ้าอันเป็น อัตลักษณ์เฉพาะตัวจากรุ่นสู่รุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และ อีกหนึ่งแบรนด์ใหม่ที่น่าจับตาคือ “น่านเน้อเจ้า” ที่เข้ามา ร่วมสืบสานงานผ้าซิ่นสู่การสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับหน่วยงานรัฐและกลุ่มสตรีทอผ้าในชุมชนต่างๆ ยกระดับงานทอผ้าซิ่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงศิลปวัฒนธรรม เพื่อสร้างสรรค์และออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือเพื่อเพิ่มมูลค่าผ้าทอและการต่อยอดภูมิปัญญา เกิดการสร้างสรรค์สืบสานทางวัฒนธรรมเมืองน่าน
จนได้รับรางวัล PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment Initiative จากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียแปซิฟิก
เพื่อตามรอยผ้าทอและให้เข้าถึงจิตวิญญาณของคนน่าน หมุดหมายเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง จึงต้องไม่พลาดกับ “โฮงเจ้าฟองคำ” หรือคุ้มเก่าของเจ้าฟองคำ ตั้งอยู่ ต.ในเวียง เป็นบ้านเรือนแฝดโบราณอายุกว่า 200 ปี
นางภัทราภรณ์ ปราบริปู ทายาท เจ้าฟองคำรับช่วงดูแลบ้านหลังนี้ต่อและได้เข้ามาเป็นผู้พัฒนา นำการทอผ้ากลับมาอีกครั้ง เพื่อสืบสานฝีมือการทอและการปัก ของเจ้าฟองคำให้สืบสานต่อไป พร้อม เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับวิถีความเป็นอยู่ของชนชั้นสูง ของคนเมืองน่านในอดีต และโรงทอชุมชนแห่งนี้เป็นหนึ่งแห่งที่สำคัญในการร่วมสร้างแบรนด์ “น่านเน้อเจ้า”
“เราได้ประยุกต์ลายผ้าพื้นฐานจากลายน้ำไหล แบบดั้งเดิมสร้างความซับซ้อนของลวดลายให้มีความอ่อนช้อยร่วมสมัยด้วยสีสันงดงาม เกิดเป็นผ้าลายน้ำไหลหยดน้ำ แต่ใครจะได้ครอบครองคงต้องอดใจรอ เพราะใช้เวลาการทอถึง 22 วัน เรียกได้ว่าแต่ละปี ผลิตได้เพียง 5-6 ผืนเท่านั้น ราคาก็อาจจะแพงหน่อย จึงผลิต ตามคำสั่งซื้อ ส่วนลายผ้าอื่นๆ ที่มีราคาไม่แพงก็มีให้เลือกซื้อเป็นของฝากได้” นางภัทราภรณ์กล่าว
มาเยือนที่นี่ก็ต้องไม่พลาดกิจกรรมทำอาหาร “ไข่งามงอน” เมนูซิกเนเจอร์ สูตรโบราณเกือบ 100 ปี คิดค้นจาก “เจ้าฟองคำ” ที่มีลักษณะเหมือนน้ำพริกหนุ่มใส่ไข่สีสันสวยงาม ทำมาจาก ไข่เป็ดต้มสุก ผ่าครึ่ง คลุกกับน้ำพริกหนุ่มนำไปทอด กินกับผักเครื่องเคียง และข้าวนึ่งร้อนพร้อมเสิร์ฟ
ส่วนกลุ่มที่ชื่นชอบงานประดิษฐ์ สามารถออกแบบงาน จัดดอกไม้ ทำเป็นกระสรวยใบตองที่เรียกว่า “สรวยดอก” ที่ชาวน่านใช้เป็นเครื่องสักการะ และเป็นพุทธบูชาเพื่อนำไปถวายพระที่วัด
อีกจุดที่แนะนำให้มาชมมนต์เสน่ห์แห่ง ผืนผ้าทอ “ลายบ่อสวก” ที่ร่ำลือถึงตำนานจากการแกะลวดลายปากไห ที่มีการขุดค้นพบจากเตาเผาโบราณอายุกว่า 700 ปี เชื่อว่าจะสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้สวมใส่ จึงเป็นที่มาของการเดินทางไป กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ที่ยังคงทอผ้าลาย บ่อสวกและลายโบราณอื่นๆ ทั้งลายป้อง ลายม่าน ลายคำเคิบ ลายเชียงแสน ลายคาดก่าน ลายน้ำไหล ลายยกดอก
รวมถึงลายดอกจันทน์แปดกลีบ ที่สะท้อนถึงความเชื่อของคนในพื้นถิ่น โดยการนำดอกไม้ตามธรรมชาติ มาพัฒนาเป็นลายผ้า มีกลีบดอก 8 ทิศ เป็นความเชื่อป้องกันภัย ทั้ง 8 ทิศที่สามารถนำมาผสมผสานกลายเป็นลายซิ่นในผืนเดียวกัน ตามแต่ศิลปินคนทอจะจินตนาการออกมา นับว่าเป็นงานศิลปะอย่างแท้จริง ที่เกิดขึ้นจากฝีมือหญิงชาวบ้าน
พร้อมออกแบบผลิตภัณฑ์นำลายโบราณสู่แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” เข้ากับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งผ้าพันคอ กระเป๋า หมวก เสื้อ เสื้อคลุม ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในโรงแรม เรียกได้ว่า ราคาย่อมเยา จับต้องได้
ยังมีกิจกรรมให้เรียนรู้การผลิตเส้นด้ายก่อนนำไปทอเป็นผ้าผืน ตั้งแต่เก็บดอกฝ้าย รีดเม็ดฝ้าย ตีฝ้าย แล้วดึงเป็นเส้นด้าย เข้ากระสวย ที่นักท่องเที่ยวร่วมทำกับแม่ๆ ที่คอยต้อนรับ ขึ้นอยู่กับฝีมือและพรสวรรค์ ใครทำได้หมด ทั้งกระบวนการนับว่าฝีมือเข้าขั้นอยู่โรงทอได้
ต่อด้วยดินแดนผ้าซิ่น “ลายตาโก้ง” ที่กลุ่มส่งเสริมอาชีพ บ้านเชียงราย ต.ดู่ใต้ แต่เดิมเป็นลายผ้าขาวม้าและผ้าห่ม ที่เป็นมรดกประจำบ้าน ส่งต่อไปยังลูกสาวที่ออกเรือน ที่ แฝงความเชื่อว่าเป็นการส่งมอบความอบอุ่นและคุ้มครอง
เมื่อกาลเวลาผ่านไปลายผ้าเกือบสูญหาย จึงได้ฟื้นฟูและพัฒนาสร้างสรรค์ออกแบบเพิ่มสีสัน แต่ยังคงอัตลักษณ์ลายตาโก้ง ให้คงอยู่ต่อไป รวมถึงพัฒนาเทคนิคการทอ ให้ผ้ามีความแข็งแรงมากกว่าในอดีต โดยการเพิ่มเส้นยืนจาก 2 เส้นเป็น 3 เส้น เพื่อสามารถนำไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ กว่า 30 ผลิตภัณฑ์ อาทิ เสื้อคลุม ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน พวงกุญแจ ผ้าหุ้มโซฟาโรงแรม กระเป๋าเศษสตางค์
จึงเป็นอีกหนึ่งในผู้ผลิตแบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ที่ได้รับ การตอบรับมากว่า 3 ปี และยังส่งออกไปต่างประเทศด้วย
นอกจากชมการทอผ้าลายตาโก้งแล้ว ยังสามารถร่วมทำกิจกรรม DIY ให้เข้าถึงจิตวิญญาณผ้าลายตาโก้ง เป็น กระเป๋าสตางค์ ปักด้วยฝีมือตัวเอง ทำเป็นของที่ระลึก หรือ ของฝากได้อีกด้วย
นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. กล่าวถึงความมุ่งมั่นยกระดับแบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ว่า ทาง อพท.จะร่วมมือกับชุมชนพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ผสานอัตลักษณ์ดั้งเดิม คาดว่าในไม่ช้าจะมีถึง 17 ผลิตภัณฑ์ โดยการแปรรูปมาจากผ้าทอ ที่นำลายผ้าซิ่นมาออกแบบเป็นของใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มาจาก 4 โรงทอของชุมชน ได้แก่ กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ กลุ่มทอผ้า บ้านซาวหลวง กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา และกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย
นับเป็นพลังชุมชนในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังคงไว้ถึงความเชื่อและศรัทธาในพุทธศาสนาที่ต้องแต่งกายด้วยซิ่นเมื่อ ไปวัด และใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง
แวะมาน่าน สัมผัสความงดงามของธรรมชาติและปล่อยอารมณ์ให้เพลิดเพลินกับงานศิลปวัฒนธรรม แล้วอย่าลืมมา สนับสนุนพลังสตรีเพื่อสืบสานตำนานรักของปู่ม่านย่าม่าน แห่งอาณาจักรน่านเจ้าสืบต่อไปผ่านลวดลายทอผ้าที่ไม่รู้จบ “น่านเน้อเจ้า”
วรนุช มูลมานัส