2563 เยาวชนเปิดฉากร้องสิทธิ – ช่วงปี 2563 เป็นปีที่หนักสำหรับบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษา เมื่อถูกท้าทายจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เจ้ากระทรวงอย่าง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผชิญกับ ‘ม็อบนักเรียน’ ที่ต่างตบเท้า เข้า ศธ. ตั้งคำถามอย่างแหลมคมจากข้อขัดแย้งว่าด้วยอำนาจนิยม ที่ดำเนินมานาน

ข้อเรียกร้องของนักเรียนเริ่มต้นจากข้อเรียกร้องเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด ไม่ว่าจะเป็นขอให้ยกเลิกระเบียบทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 และยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน ให้โรงเรียนยอมรับความหลากหลายทางเพศของนักเรียน เพราะมองว่ากฎระเบียบเหล่านี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพ พร้อมกับเปิดช่องให้โรงเรียนมีสิทธิในการจำกัดทรงผมและเครื่อง แต่งกายของนักเรียน

และกฎระเบียบที่ ศธ. ออกมานั้น “ละเมิด” สิ่งที่รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดไว้ว่า “ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย” อย่างชัดเจน

รวมทั้งเรียกร้องในประเด็นที่ใหญ่ขึ้นไปอีกคือให้ ศธ. หาวิธีการจัดการการล่วงละเมิดทางเพศ และการคุกคามนักเรียนในโรงเรียน รวมทั้งได้เรียกร้องให้ ศธ. ทำการปฏิรูปการศึกษาเสียที เพราะมองว่าถ้าการศึกษาของประเทศยังเป็นเหมือนปัจจุบัน อนาคตของนักเรียนจะไม่ก้าวหน้าและไม่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้!!

การที่นักเรียนลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพกับผู้บริหาร ศธ. ถือเป็นมุมมองใหม่ของสังคมไทย

การที่นักเรียนลุกขึ้นมาเรียกร้องเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสนิสิต นักศึกษา และประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สร้างแรงกระเพื่อมให้ “นักเรียน” ระดับชั้นมัธยมศึกษาลุกขึ้นมาชูสามนิ้วต้านเผด็จการ ระหว่างเข้าแถวหน้าเสาธงเพื่อเคารพธงชาติ หรือการผูกโบสีขาวต้านเผด็จการ ชูกระดาษเปล่าหน้าโรงเรียน เป็นต้น โดยมีการแชร์ภาพผ่านทางสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ “#ผูกโบขาวต้านเผด็จการ” เป็นแฮชแท็กยอดนิยมในทวิตเตอร์ชั่วข้ามคืน

แต่ปฏิกิริยาเมื่อนักเรียนแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองในโรงเรียน กลับถูกครูและผู้บริหารสถานศึกษาห้ามปราม ไม่ว่าจะเป็นการชี้หน้าด่ากลางแถว พร้อมขู่ไล่นักเรียนออก หรือตบนักเรียนที่ถ่ายคลิป เป็นต้น

การเรียกร้องของนักเรียนเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อ “กลุ่มนักเรียนเลว” เริ่มเคลื่อนไหว เข้ามาเรียกร้องประเด็นต่างๆ ถึง ศธ. ซึ่งกลุ่มนักเรียนเลว เริ่มออกมาจัดกิจกรรมครั้งแรกที่หน้า ศธ. เมื่อ วันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยชวนนักเรียนทวงสิทธิของตนคืน ด้วยจุดยืน 3 ข้อคือ ครูต้องไม่ทารุณกรรมนักเรียน กฎระเบียบ ต้องไม่ละเมิดสิทธินักเรียน และนักเรียนต้องแสดงความคิดเห็น ได้อย่างมีเสรีภาพ

สำหรับการชุมนุมครั้งสำคัญที่สร้างกระแสวิพากษ์และสะเทือนวงการการศึกษาอย่างมากคือ การชุมนุมในวันที่ 19 สิงหาคม ที่กลุ่มนักเรียนเลวพร้อมนักเรียนกว่า 500 คน จัดแฟลชม็อบที่ ศธ. ขึ้นปราศรัย สะท้อนปัญหาที่พบในสถานศึกษา พร้อมจัดกิจกรรม “#เลิกเรียน ไปกระทรวง ผูกโบขาว ชูสามนิ้ว เป่านกหวีดไล่ณัฏฐพล” โดยระบุว่า เป็นการออกมาปกป้องอนาคตของชาติ ออกมาปกป้องนักเรียนของเรา ผูกโบขาวให้กระทรวง ชู 3 นิ้ว ร้องเพลงชาติ และเป่านกหวีดไล่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.

หลังจากการชุมนุมครั้งนี้ ส่งผลให้นักเรียนแต่ละโรงเรียนทั่วประเทศ จัดเวทีปราศรัย แสดงออกทางการเมืองและสะท้อนปัญหาการศึกษาที่ตนพบเจอ นอกจากนี้ยังมีนักเรียนกลุ่มอื่นที่เข้ามาเรียกร้องให้ ศธ. เปลี่ยนแปลงและเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหา และพัฒนาการศึกษา ให้กับนักเรียน เช่น ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย’ ‘ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย’ เป็นต้น

การชุมนุมที่เรียกร้องโดยนักเรียนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเรียกร้องที่จะแสดงออกทางการเมืองในโรงเรียน

เมื่อมองบรรยากาศของทั้งปี 2563 ยังพบนักเรียนออกมาให้ข้อมูลว่าถูกครูจำกัด ละเมิดสิทธิ และถูกคุกคามหากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ในเดือนกันยายน นักเรียนเลว และแนวร่วมองค์กรนักเรียน นัดจัดการชุมนุมหน้า ศธ. อีกครั้งโดยใช้ชื่อว่า ‘หนูรู้หนูมันเลว’ พร้อมกับเป่านกหวีดเรียกนายณัฏฐพล เข้าร่วมดีเบต กับแกนนำนักเรียนเลว

นักเรียนเลวยื่น 3 ข้อเรียกร้อง 1 เงื่อนไขให้กับนายณัฏฐพล คือ 1.หยุดคุกคามนักเรียน 2.ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง 3.ปฏิรูปการศึกษา 1 เงื่อนไข คือ หากรัฐมนตรีว่า ศธ. ทำไม่ได้ให้ ‘ลาออก’!!!

วันที่ 6 พฤศจิกายน กลุ่มนักเรียนเลวและแนวร่วมองค์กรนักเรียน ออกมาประกาศยกระดับข้อเรียกร้องของนักเรียนไปอีกขั้น เพราะมองว่า นักเรียนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งกลุ่มนักเรียนเลวเห็นว่าถ้าการเมืองไม่ดี การศึกษาจะดีได้อย่างไร จึงตัดสินใจยกระดับการเรียกร้องไม่ได้มีแค่ ‘การปฏิรูปการศึกษา’ อีกต่อไป แต่จะเป็นการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก โดยมีการชุมนุมเรียกน้ำจิ้ม เตรียมความพร้อม ก่อนม็อบครั้งใหญ่ของนักเรียน ในวันที่ 14 พฤศจิกายน โดยจัดกิจกรรม เดินขบวนจาก ศธ. ไปอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย

สำหรับการยกระดับการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว เกิดขึ้นใน วันที่ 21 พฤศจิกายน ที่บริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมจัดกิจกรรรม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ โดยเปรียบสภาผู้แทนราษฎร เป็นไดโนเสาร์ ที่ไม่ รับรู้รับฟังเสียงของนักเรียน นักเรียนก็จะเป็นอุกกาบาตพุ่งชนความล้าหลัง นี้เอง

การเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลวยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะในวันที่ 1 ธันวาคมกลุ่มนักเรียนเลว มาชุมนุมที่ ศธ. อีก เพื่อเรียกร้องให้ ศธ. แก้ไขระเบียบการใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียน และขอให้สวมใส่ ‘ชุดไปรเวต’ ไปโรงเรียนได้ ซึ่งในวันนั้นเองมีการจัดกิจกรรม #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ โดยมีนักเรียนมัธยมจำนวนหนึ่งแต่งชุดไปรเวต ไปโรงเรียนเพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์ และต้องการให้โรงเรียนแก้ไข กฎระเบียบและเปิดกว้างในเรื่องดังกล่าว

ส่วนท่าทีของนายณัฏฐพล แม้ตอนแรกออกมารับฟังเสียงนักเรียนด้วยตนเอง ทั้งส่งหนังสือเน้นย้ำให้สถานศึกษารับฟังเสียงและ การแสดงออกของนักเรียน และไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียนนักศึกษา ที่มีนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นประธานเพื่อแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา

แต่วาทะตอบโต้เงื่อนไขให้รัฐมนตรีลาออก ว่า “ผมว่าอันนี้แหละครับ คือการคุกคาม” ไม่ช่วยให้บรรยากาศดีขึ้น

ยิ่งท้ายปี เดือนธันวาคม การมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาว่า จะดำเนินคดีและยื่นปิดเว็บไซต์ของกลุ่มนักเรียนเลว ยิ่งทำให้บรรยากาศ ย่ำแย่ลง

ปีที่ผ่านมา เราจึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลง จากเดิมจะเห็นกลุ่มครู และบุคลากรทางการศึกษาเข้ามาเรียกร้องขอความเป็นธรรมจาก ศธ. แต่ในปีนี้เรากลับเห็นนักเรียนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จากระบบการศึกษาขึ้นมาเรียกร้องขออนาคต และขอการศึกษาที่ดีขึ้นจาก ศธ.

จนเกิดคำถามตามมาว่า การเคลื่อนไหวของนักเรียนในช่วงที่ผ่านมา สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการศึกษามากน้อยแค่ไหน และ ศธ. ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของนักเรียนอย่างไรบ้าง?

ประเด็นนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า สิ่งที่นักเรียนเลวเรียกร้อง ผู้ใหญ่ ต้องรับฟัง และนำไปหารือกันในที่ประชุมทุกครั้ง และมีการปรับปรุงแก้ไข แต่อาจไม่ทันใจเด็ก เพราะเต็มไปด้วยระเบียบ กฎเกณฑ์ และต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน แต่สุดท้ายจะเห็นว่า บทสรุปที่ได้มานั้น เห็นความสำคัญกับเสียงของเด็ก และเสียงของนักเรียนมากขึ้น

“การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลว เป็นปรากฏการณ์ที่นำไปสู่ความตื่นตัวของคนในวงการศึกษา และทุกประเด็นที่เด็กหยิบยกขึ้นมา มีเหตุผล มีตรรกะ และมีที่มาที่ไป ผมมองว่าถ้ากลุ่มนักเรียนเลว หยุดเรียกร้องเรื่องการศึกษา ทุกเรื่องที่กลุ่มนักเรียนเลวเคยทำมา จะหายไปทันที จึงไม่อยากให้กลุ่มถอนตัวจากงานด้านการศึกษา เพราะกลุ่มนักเรียนเลวเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ให้เร็วขึ้น ดีขึ้น จึงอยากให้กำลังใจ และอย่าเพิ่งถอดใจในตอนนี้” ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ

ด้านผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า การชุมนุมของนักเรียนยังไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงกับโรงเรียน แต่ตนมองว่าโรงเรียนเริ่มมีความตระหนักบ้าง อย่างเรื่องการแต่งกาย ภาพรวมยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ผู้ใหญ่เริ่มตระหนักว่าในอนาคตข้างหน้าควรจะปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ได้แล้ว แต่สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาคือ การเรียกร้องของนักเรียนถูกทำให้มองไปในทางการเมืองที่มีแค่คำว่าแพ้และชนะเท่านั้น ข้อเรียกร้องของนักเรียนจึงไม่ถูกเอาใจใส่ และถูกนำมาพิจารณาอย่างแท้จริง

“เมื่อมองเป็นการเมืองแล้ว คนจะมองว่าถ้าผู้ใหญ่ทำตามเด็ก ก็จะแพ้ แต่ไม่ได้มองว่าถือผลกระทบข้อดีข้อเสียของเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชุดนักเรียน เรื่องทรงผมนักเรียน เป็นต้น โจทย์ที่รัฐบาล และ ศธ. ควรจะคิดต่อไปคือ ควรจะต้องมีการนำเรื่องต่างๆ ที่นักเรียนเรียกร้องมาหาข้อดีข้อเสียกันอย่างจริงจัง สิ่งที่เด็กนำเสนอบางเรื่อง ก็เป็นเรื่องถูกต้อง เพราะมีการกดทับเรื่องอำนาจอยู่ ทุกอย่างมีสองด้าน ควรมาวิเคราะห์ดูข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ” ผศ.ดร.อดิศรระบุ

ส่วนที่นักเรียนเรียกร้องให้ ศธ. ปฏิรูปการศึกษา ตนมองว่าไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนักเรียนเลวที่ออกมาเรียกร้องให้ ศธ. ปฏิรูปการศึกษา แต่เป็นข้อเรียกร้องของสังคมทั้งระบบ ผมมองว่า ศธ. รับฟังปัญหา แต่อาจจะถูกระบบราชการที่ข้าราชการประจำวางกลไกวางระบบการทำงานที่เคลื่อนตัวและดำเนินการยาก การจะปฏิรูปเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักสูตรที่ยังไม่คืบหน้า หรือการที่นักเรียนเรียกร้องให้ศธ. เปลี่ยนวิธีการเรียน โดยวางนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ในความจริง ศธ. ปฏิรูปเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่เกิดผลเพราะระบบราชการเป็นพิษ

“ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปการศึกษา ไม่ว่าจะปฏิรูปตามความคาดหวังของเด็ก หรือตามความคาดหวังของสังคม จะต้องปฏิรูป ศธ. ทั้งหมด โดยรื้อใหม่ทั้งองคาพยพ ไม่ใช่เปลี่ยนแค่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. แต่ข้าราชการ ประจำที่จะต้องปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็กต่อไป” ผศ.ดร.อดิศรกล่าว

ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพรวมการศึกษาตลอดปี 2563 ของ ศธ. ยังเป็นภาพของ “นักเรียน” ลุกขึ้นมาสู้และออกมาเรียกร้องสิทธิของตน

ต้องจับตาดูปี 2564 ที่จะถึงนี้ จะเป็นปีวัวดุ สำหรับ ศธ.หรือไม่ และ ศธ.จะเดินเครื่องพัฒนาการศึกษาไทยพร้อมกับรับมือม็อบนักเรียน ไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน

หรือจะเผชิญหน้าแทนการหาทางออก??

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน