ภารกิจนักล่าไวรัสมือฉมัง – ขณะที่ทั้งโลกกำลังให้ความสนใจกับโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังมีนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ รวมถึงนักวิจัยไทย กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้มั่นใจว่า “ไวรัสนิปาห์” จะไม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลกซ้ำเติมอีก

เพราะอัตราการเสียชีวิตของการติดเชื้อไวรัสนิปาห์นั้นสูงถึง 75% และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงน่าเขย่าขวัญ

บีบีซีไทย เผยแพร่รายงานบทความสารคดีของ แฮร์เรียต คอนสเตเบิล เป็นส่วนหนึ่งของรายงานชุดเรื่อง “หยุดยั้งการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป” ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากพูลิตเซอร์ เซ็นเตอร์

ภารกิจดังกล่าวมีเทคนิคการแพทย์หญิง สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักล่าไวรัสมือฉมัง รวมอยู่ด้วย

ทนพญ.สุภาภรณ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2534 จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาชีวเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาเอกวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจบการศึกษาได้เข้าทำงานที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ฝ่ายอเมริกัน (AFRIM) เป็นที่แรก จากนั้นปี 2543 จึงมาประจำศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคติดต่ออุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าศูนย์

ศูนย์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพรีดิกต์ (Predict) ซึ่งผนึกความพยายามร่วมมือกันของทั่วโลกในการตรวจหาและหยุดยั้งโรคต่างๆ ที่สัตว์แพร่ให้สู่คนมาตลอด 10 ปี

พญ.สุภาภรณ์และทีมงานเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์มุ่งเน้นไปที่ “ค้างคาว” พาหะของไวรัสโคโรนาหลายชนิด

ย้อนกลับไปวันที่ 3 ม.ค. 2563 ท่ามกลางข่าวสะพัดว่าโรคระบบทางเดินหายใจบางชนิดกำลังทำให้คนในเมืองอู่ฮั่นของจีนป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ช่วงเวลานั้นกำลังเข้าใกล้เทศกาลตรุษจีน มีนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากกำลังจะมุ่งหน้ามาฉลองในประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงเริ่มคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น โดยเลือกห้องปฏิบัติการ 2-3 แห่งตรวจสอบตัวอย่างที่เก็บมาเพื่อดูว่ามีปัญหาหรือไม่ รวมถึงห้องปฏิบัติการของทนพญ. สุภาภรณ์ด้วย

ชั่วเวลาเพียงไม่กี่วัน นักวิจัยหญิงและทีมงานตรวจพบผู้ติดโรคโควิด-19 นอกแผ่นดินจีนคนแรก ที่ประเทศไทย

ทั้งพบว่ามันเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์ มันมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับไวรัสโคโรนาหลายชนิดที่เคยพบในค้างคาวมาก่อน

ทวีปเอเชียมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ภูมิภาคร้อนชื้นมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก ภูมิภาคนี้จึงเป็นแหล่งของเชื้อโรคจำนวนมากเช่นกัน

การสัมผัสกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยง

ตลอดช่วงเวลาที่ต้องทำงานเก็บตัวอย่างค้างคาวหลายพันตัว ดร.สุภาภรณ์และเพื่อนร่วมงานค้นพบไวรัสชนิดใหม่มากมาย ส่วนใหญ่เป็นไวรัสโคโรนา แต่ก็พบโรคอันตรายถึงชีวิตอื่นๆ ที่แพร่เข้ามาสู่คนด้วยเช่นกัน

แม้ว่าขณะนี้โลกกำลังต่อสู้กับโควิด-19 อยู่ แต่ดร.สุภาภรณ์ต้องเริ่มตรวจสอบด้วยว่าจะมีโรคระบาดใหญ่ชนิดใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะไวรัสนิปาห์ ซึ่งมี “ค้างคาวผลไม้” เป็นพาหะตามธรรมชาติ

“เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะไม่มีวิธีรักษา และอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสนี้สูง” ดร.สุภาภรณ์กล่าวและว่า อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสนิปาห์อยู่ระหว่าง 40-75% ขึ้นอยู่กับว่าการระบาดเกิดขึ้นที่ไหน

แต่ละปีองค์การอนามัยโลก (World Health Organization–WHO) จะทบทวนบัญชีเชื้อโรคที่อาจทำให้เกิดเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้ เพื่อตัดสินใจว่าจะสนับสนุนเงินทุนให้กับการพัฒนาและการวิจัยด้านใดเป็นลำดับแรก โดยจะมุ่งเน้นไปที่เชื้อโรคที่เสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์มากที่สุด มีโอกาสทำให้เกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก

ไวรัสนิปาห์อยู่ใน 10 อันดับแรก พบการระบาดเกิดขึ้นแล้วหลายแห่งในเอเชีย และยังไม่เห็นทีท่าว่ามันจะยุติลง อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

มีหลายเหตุผลที่ไวรัสนิปาห์น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง ระยะฟักตัวที่ยาวนานของโรค (มีรายงานว่านานถึง 45 วัน ในกรณีหนึ่ง) เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสที่ผู้ติดเชื้อซึ่งไม่รู้ตัวว่ามีเชื้ออยู่จะแพร่กระจายเชื้อออกไป

สัตว์หลายชนิดติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ ทำให้โอกาสในการแพร่กระจายเชื้อเพิ่มมากขึ้นไปอีก และการติดเชื้ออาจเกิดได้ทั้งจากการสัมผัสโดยตรงหรือการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนไวรัสนี้

คนที่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์อาจมีอาการระบบทางเดินหายใจ รวมถึงไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยและอ่อนเพลีย และสมองอักเสบ ซึ่งเป็นการบวมของสมองที่อาจทำให้เกิดอาการชักและเสียชีวิตได้ เรียกได้ว่า มันเป็นโรคที่องค์การอนามัยโลกต้องการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด

มนุษย์รุกป่า-เชื้อโรคย้อนกลับ

รีเบกกาห์ เจ ไวต์ และ ออร์ลี รัซเกอร์ เขียนบทความของมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ที่มาจากสัตว์ ปี 2563 ว่า การแพร่กระจายของเชื้อโรคที่มาจากสัตว์เหล่านี้และความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้ที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า การขยายตัวของเมือง การทำการเกษตรที่เพิ่มขึ้น

60% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ขณะที่การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วยังคงเกิดขึ้น

ธนาคารโลกระบุว่าผู้คนเกือบ 200 ล้านคนย้ายเข้ามาอยู่ในเขตเมืองในเอเชียตะวันออกระหว่างปี 2543-2553

การทำลายที่อยู่อาศัยของค้างคาวทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส นิปาห์ขึ้นในอดีต

เมื่อปี 2541 การระบาดของไวรัสนิปาห์ในมาเลเซียทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน นักวิจัยสรุปว่า ไฟป่าและภัยแล้งขับไล่ให้ค้างคาวต้องออกจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและต้องเข้ามาเกาะอยู่ตามต้นไม้ที่มีผล ซึ่งต้นไม้เหล่านี้อยู่ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เช่น หมู

เคยมีการศึกษาพบว่าในช่วงที่เกิดความเครียด ค้างคาวจะขับไวรัสออกมามากขึ้น การถูกบังคับให้ย้ายที่ประกอบกับการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตที่พวกมันไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ในช่วงเวลาปกติทำให้ไวรัสแพร่จากค้างคาวมาสู่หมู และแพร่เชื้อต่อไปยังเกษตรกร เอเชียอยู่ในอันดับต้นๆ ของทวีปที่สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในโลกมากที่สุด ส่วนใหญ่เนื่องจากการทำลายป่าเพื่อนำพื้นที่มาใช้ปลูกพืชอย่างปาล์มน้ำมัน รวมถึงใช้สร้างที่อยู่อาศัยและใช้เลี้ยงปศุสัตว์ด้วย

ดังนั้น จึงกระทบต่อถิ่นที่อยู่ของค้างคาวผลไม้ที่มักจะอาศัยอยู่ป่าทึบเต็มไปด้วยต้นไม้ที่มีผลให้มันกินเป็นอาหาร

สำหรับกัมพูชา เมื่อค้างคาวผลไม้ถูกรุกที่อยู่ในป่า พวกมัน ก็จะหาที่อยู่ใหม่อย่างการไปเกาะอยู่ตามบ้านเรือน หรือตาม ซอกหลืบของป้อมต่างๆ ของนครวัด

เวียสนา ดวง หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ห้องปฏิบัติการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สถาบันพาสเจอร์ ประจำกรุงพนมเปญ กล่าวว่า การทำลายที่อยู่อาศัยของค้างคาวและการที่มนุษย์เข้าไปล่าสัตว์ ทำให้ ‘จิ้งจอกบิน’ ต้องหาที่พักพิงทางเลือก

ทีมงานของนักวิจัยหนุ่มพบว่าค้างคาวเดินทางไกลถึง 100 กิโลเมตรต่อคืนเพื่อหาผลไม้ น่าจะกำลังหาที่อยู่ใหม่ด้วย เพราะว่าที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมันไม่มีเหลืออยู่แล้ว

หากค้างคาวเป็นแหล่งเชื้อโรคจำนวนมาก นอกจากนิปาห์และ โควิด-19 แล้ว อีโบลาและซาร์สด้วย แล้วเราควรกำจัดค้างคาวทิ้งหรือไม่

ศ.เทรซีย์ โกลด์สตีน ผู้อำนวยการสถาบัน One Health Institute Laboratory และผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการของโครงการพรีดิกต์ ให้คำตอบว่าไม่ควรทำอย่างยิ่ง หากทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้เรื่องต่างๆ แย่ลงไปกว่าเดิม

“ค้างคาวมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในระบบนิเวศ พวกมันช่วยนำละอองเกสรตัวผู้ไปผสมกับเกสรตัวเมียในพืชมากกว่า 500 สายพันธุ์ และยังช่วยควบคุมจำนวนแมลงต่างๆ ด้วย จึงมีบทบาทสำคัญ อย่างมากในการควบคุมโรคในมนุษย์ ยกตัวอย่าง การกินยุงช่วยทำให้มาลาเรียลดลง” โกลด์สตีนกล่าว

นักวิทยาศาสตร์หญิงกล่าวว่า แม้ว่าค้างคาวจะเป็นพาหะของโรคหลายชนิด แต่พวกมันก็ช่วยควบคุมโรคในมนุษย์ได้ด้วยการกินแมลง ดังนั้น การฆ่าค้างคาวจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี

ศ.โกลด์สตีนยังชี้ด้วยว่า การฆ่าค้างคาวได้ทำให้เห็นแล้วว่าเป็นอันตรายหากมองในแง่ของโรค

“สิ่งที่ประชากรกลุ่มหนึ่งทำเมื่อเกิดการลดจำนวนลง คือการมีลูกเพิ่มขึ้น นั่นจะทำให้มนุษย์มีความเสี่ยงมากขึ้น การฆ่าสัตว์เป็นการเพิ่มความเสี่ยง เพราะคุณได้เพิ่มจำนวนสัตว์ที่กระจายไวรัสมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ทีมงานเหล่านี้เผชิญอยู่คือเงินสนับสนุนการทำงานที่ดวงและดร.สุภาภรณ์กำลังทำขาดความ ต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลสหรัฐยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ปล่อยให้โครงการพรีดิกต์ที่มีอายุ 10 ปีสิ้นสุดลง และต้องลุ้นใหม่ในรัฐบาลโจ ไบเดน ซึ่งรับปากว่าจะรื้อฟื้นการสนับสนุน

ดวงและดร.สุภาภรณ์ หวังว่าจะได้ร่วมมือกันต่อไปในการต่อสู้กับไวรัสนิปาห์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั้งคู่ร่าง ข้อเสนอในการเฝ้าระวังไวรัสนิปาห์ในภูมิภาคนี้ร่วมกันแล้ว ทันทีที่วิกฤต โควิด-19 ทุเลาลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน