เฉลิมพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพฯ – ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธาน แถลงข่าว “การจัดสร้างหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ และลานปฏิบัติธรรม” เพื่อเป็นที่สักการบูชา สถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และใช้เป็นสถานที่สําหรับการปฏิบัติธรรมของนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล และประชาชนทั่วไป

มี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และที่ปรึกษาโครงการ, รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการฝ่ายดำเนินงานโครงการ, นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมระดับอาวุโส สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร หัวหน้าคณะผู้ออกแบบปรับปรุง หอพระฯ และลานปฏิบัติธรรม ร่วมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 ที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับพระราชานุญาตให้ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี ในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญ พระชนมายุครบ 65 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วย การจัดสร้างพระพุทธรูป ประจำมหาวิทยาลัย ขนาดหน้าตัก 65 นิ้ว การจัดสร้างหอพระเฉลิมพระเกียรติ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป และสร้างลาน ปฏิบัติธรรมรอบหอพระ โดยใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นสถานที่ ในการดำเนินโครงการ

ศ.นพ.บรรจงกล่าวว่า การจัดสร้างพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย นำต้นแบบมาจาก “พระพุทธมหาลาภ” ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2563 พระพุทธมหาลาภมีพุทธลักษณะอันหมายถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็น บรมครูแห่งการแพทย์และยารักษาโรค และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยที่ได้จัดสร้างขึ้นใหม่นี้ว่า “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ”ซึ่ง หมายถึง “พระพุทธรูปที่ นำมาซึ่งปัญญาหยั่งรู้อันกระจ่างแจ้งและเป็นมงคลแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” และพระราชทานชื่อหอพระว่า “หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์” ซึ่งปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้อัญเชิญ “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ” ขึ้นประดิษฐานบน “หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์” แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานตกแต่งหอพระให้สวยงามตามที่ศิลปินได้ออกแบบไว้”

นายก่อเกียรติกล่าวว่า การปรับปรุงรูปแบบหอพระพุทธมหาสิริ พีรยพัฒน์ และลานปฏิบัติธรรม นำการผสมผสานสถาปัตยกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งศิลปะแต่ละพื้นมีความสวยงามแตกต่างกัน จึงดึงความสวยงามของแต่ละสถาปัตยกรรมมาร้อยเรียงกันได้แก่ทรงเรือนยอดประยุกต์จากศิลปะพม่า เสาและบัวหัวเสาศิลปะเขมร กรอบประตูทางเข้าเป็นศิลปะจีน ฐานระเบียงมีลวดลายดอกไม้ของมาเลเซีย หัวเสาราวบันไดเป็นศิลปะของชวา มีขนาดฐานกว้าง 9 เมตร ยาว 9 เมตร ความสูงถึงยอดฉัตร 18 เมตร ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ขนาดหน้าตัก 65 นิ้วบนฐานชุกชีปูนชั้น ฉากหลังหอพระที่วาดโดยอาจารย์มณเฑียรชูเสือหึง เป็นสัตว์หิมพานต์มงคล มีความหมายของความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ด้วยพระพุทธมหิดลฯ มีความหมายของปัญญาความรู้ และความเป็นมงคลแก่มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้านคุณหญิงไขศรีกล่าวว่า หอพระและลานปฏิบัติธรรมนี้ จะเป็นสถานที่สำคัญของประชาชนคนไทยและคนต่างชาติที่มาเยือนมหาวิทยาลัยมหิดล จะมีความประทับใจ มีความอิ่มเอมใจ และรู้สึกถึงความเป็นสิริมงคลที่ได้มาสักการะพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ที่หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์และสถานที่แห่งนี้ จะเป็นสถานที่และสิ่งเคารพบูชาได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน ที่เข้ามาร่วมกันทำงานถวายสมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วยความทุ่มเทและเสียสละ ที่จะก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่ดีที่สุด

จึงขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมสร้างหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ ผู้บริจาคจะได้รับเหรียญพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ โดยทุกการบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า มีรายละเอียดดังนี้

บริจาค 200,000 บาท รับชุดเหรียญ (ขัดเงา) 1 ชุด ประกอบด้วย เหรียญทองคำ 96.5% เหรียญทองชมพู 52% เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงพิเศษ (ชนวน) บริจาค 3,000 บาท รับเหรียญเงิน (เนื้อเงินรมดำ) 1 เหรียญบริจาค 300 บาท รับเหรียญบรอนซ์ (ทองแดงรมดำ) 1 เหรียญ

สอบถามรายละเอียดที่มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์ โทร.0-2849-6359, 0-2849-6111

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน