คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ท่วงท่า อาการ – การเรียกร้องให้ “กลับบ้าน” จาก นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นการ “สื่อ” ไปถึงใคร

คล้ายกับว่า นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คำอภิปรายและการส่งเสียงของเขาย่อมส่งตรงไปยังเพื่อน ส.ส.ในพรรคภูมิใจไทยโดยตรง

ผ่านการร้องชวน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค

กระนั้น เมื่อเป็นการอภิปรายต่องบประมาณที่ถูกลดลงของกระทรวงสาธารณสุข ย่อมมิได้เป็นการสื่อสารต่อสำนักงบประมาณเท่านั้น

หากที่แท้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แท้จริงแล้ว ความรู้สึกของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ คือความรู้สึกของ “ภูมิใจไทย”

ต้องยอมรับว่าในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ตกอยู่ในสถานะเป็น “ไก่รองบ่อน” มาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งๆ ที่อำนาจมิได้อยู่ในมือของตนอย่างเต็มเปี่ยม

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้อำนาจในการบริหารจัดการต่อปัญหา “โควิด” อยู่ใน กำมือแกร่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เต็มเปี่ยม

แต่เมื่อมีปัญหาคนก็ชี้ไปยัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล

สถานการณ์จาก “วอล์ก อิน” กระทั่งการยุติ ลงทะเบียน “หมอพร้อม” เด่นชัด

เด่นชัดว่ากระทบต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะคุมกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง เพราะว่า “หมอพร้อม” อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข

เพราะว่าแผนการฉีดวัคซีนแบบ “วอล์ก อิน” เป็นของใครก็รู้กันอยู่

แต่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เบรก “วอล์ก อิน” แล้วเอา “ออน ไซต์” มาสวมแทน ขณะเดียวกัน ก็ชะลอการลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” กระทั่งต้องยุติไปในที่สุด

ทั้งหมด คนที่หน้าแหกคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ไม่มีใครรู้ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะพา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย “กลับบ้าน” หรือไม่

ทั้งหมดนี้อาจเป็นการตัดพ้อต่อว่าของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เหมือนของ นายศุภชัย ใจสมุทร เหมือนของ นายภราดร ปริศนานันทกุล ก่อนหน้านี้

ทุกสายตาจึงมองไปยัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน