ช่อดอกไม้แห่งความหวัง – การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แม้จะต้องเจอความยากลำบากในการจัดแข่งขันท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังระบาดอย่างต่อเนื่อง ทว่าสุดท้ายแล้วโตเกียวเกมส์ ก็สามารถเริ่มเปิดฉากมาตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม

สำหรับประเทศญี่ปุ่น ขึ้นชื่อว่าเป็น ดินแดนแห่งการใส่ใจรายละเอียด และพวกเขาก็นำสิ่งนี้มาอยู่ในส่วนต่างๆ ของโอลิมปิกเกมส์ ด้วย นับตั้งแต่โลโก้, มาสคอต, คบเพลิง รวมถึงเตียงนอนของนักกีฬา ที่ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวและแฝงไปด้วยความเป็นญี่ปุ่น

เช่นเดียวกับช่อดอกไม้ ที่จะมอบให้กับนักกีฬาในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งนอกจากความสวยงามแล้ว ยังมีที่มาและต้นกำเนิดที่เรียกว่าน่าทึ่งจริงๆ

ช่อดอกไม้ในโตเกียวเกมส์จำนวน 5,000 ช่อ ถูกรังสรรค์โดยดอกไม้ 4 ชนิด นั่นคือ ดอกไลเซนทรัส, ดอกโซโลมอนส์ ซีล (ดอกเง็กเต็ก), ดอกทานตะวัน และดอกหรีดเขา ซึ่งล้วนได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะดอกไลเซนทรัส, โซโลมอนส์ ซีล และทานตะวัน ซึ่งล้วนแต่เป็นดอกไม้ที่ปลูกจากพื้นที่ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสึนามิในเขตโทโฮคุ เมื่อปี 2011 และมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 19,000 คน

โดยดอกไลเซนทัส และดอกโซโลมอนส์ ซีล มาจากจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้น ทำให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรพยายามช่วยฟื้นฟูการเกษตรที่ถูกทำลาย ด้วยการเริ่มปลูกดอกไม้ทั้ง 2 ชนิดส่งออก และเป็นการจุดความหวังการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ขึ้นมาอีกครั้ง

ขณะที่ดอกทานตะวันมาจากจังหวัดมิยางิ ที่ปลูกโดยผู้ปกครองที่สูญเสียลูกไปจากเหตุแผ่นดินไหว ไว้เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ปลอดภัยหากเกิดเหตุการณ์สึนามิในอนาคต รวมถึงเป็นที่ระลึกถึงผู้เสียชีวิต ด้านดอกหรีดเขา จากจังหวัดอิวาเตะ มีความโดดเด่นของสีฟ้าคราม ซึ่งตรงกับสีธีมของการแข่งขันครั้งนี้

ส่วนที่ตัวช่อก็ถูกออกแบบมาเส้นผ่าศูนย์กลาง 17 เซนติเมตร และความสูง 28 เซนติเมตร ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นความงามของดอกไม้แบบรอบด้าน พร้อมประดับด้วยใบต้นบัวดอย โดยฝ่ายจัดการแข่งขันตั้งใจในการนำเสนอช่อดอกไม้ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากหวังว่าผู้ชมทั่วโลกจะได้เห็นความสวยงาม รวมถึงรู้ความหมายที่แฝงไว้ด้วยความหวัง และการรำลึกถึง ผู้ประสบภัยจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน