“ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมมีความแกล้วกล้าอาจหาญ เปิดเผยไม่มีที่ลับ ไม่มีที่แจ้ง ตรงไปตรงมา ความลับในวงการของนักปฏิบัติไม่มี มีแต่เปิดเผย” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“พระวชิรสารโสภณ” หรือ “หลวงพ่อจุล อิสสรญาโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหงษ์ทอง อ.ขาณุ วรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร และอดีต เจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรี วัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นมีอยู่หลายรุ่น แต่ที่ได้รับความนิยมคือ “เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อจุล รุ่นแรก วัดหงษ์ทอง กำแพงเพชร พ.ศ.2499”

“จัดสร้างขึ้นวาระที่คณะศิษย์ชาวเมืองกำแพงเพชร สร้างเป็นที่ระลึกถวายไว้แจกเป็นที่ระลึก ลักษณะเป็นเหรียญรูปสี่เหลี่ยม มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจุลนั่งขัดสมาธิเต็มองค์หันหน้าตรง ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “ที่ระฤกในงานถวายของขวัญพระครูวิกรมวชิรสาร วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๙” ด้านหลังเหรียญไม่มีขอบ ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ ปัจจุบันเริ่มหายาก

“หลวงพ่อเต๋ คังคสุวัณโณ” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดสามง่าม (อรัญญิกาวาส) อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เจ้าตำรับเครื่องรางของขลังกุมารทองอันโด่งดัง ที่ได้รับการยอมรับในวงการพระเครื่องคือ “เหรียญหลวงพ่อเต๋ รุ่นแรก” สร้างเมื่อปี พ.ศ.2486 โดยคณะศิษยานุศิษย์ร่วมกับวัดอรัญญิการาม (วัดสามง่าม) จ.นครปฐม ขออนุญาตจัดสร้าง

ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปหลวงพ่อเต๋ ห่มจีวรเฉียงบ่า ปลายสังฆาฏิแตก เป็นเหรียญปั๊มตัดโบราณ ด้านบนมีหูเหรียญ ด้านล่างมีอักขระโบราณอักษรลึกคมชัด ด้านหลังเหรียญ เป็นพระพุทธรูปปางลีลา มีเส้นแซมตรงส้นเท้าใกล้ฐานดอกบัว มีอักขระโบราณ 5 ตัว ล้อมรอบองค์พระ เหรียญหลวงพ่อเต๋รุ่นแรก เท่าที่พบมีเนื้อทองแดง เนื้อเงิน เป็นอีกเหรียญหนึ่งที่หายาก

“หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม” หรือ “พระครูวินัยวัชรกิจ” อดีต เจ้าอาวาสวัดตาลกง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเลื่องลืออีกรูปหนึ่ง ครั้งหนึ่งท่านเคยสร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยม คล้ายพระสมเด็จของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เซียนพระและนักสะสมนิยมเรียกขานว่า “พระสมเด็จเหม็น” หรือพระสมเด็จพิมพ์คะแนน จำนวนการสร้างประมาณ 84,000 องค์

ลักษณะของพระสมเด็จเหม็น แบ่งได้มียันต์หลัง ว.ต.ก. (ย่อมาจาก วัดตาลกง) ชัดเจนอยู่ประมาณ 4,000 องค์, มียันต์หลังและคำว่า ว.ต.ก. ไม่ชัดเจนเนื่องจากป้ายสีผึ้งอยู่ประมาณ 30,000 องค์ และมียันต์หลังไม่ชัดเจน เนื่องจากพิมพ์สึก จนเลือนรางประมาณ 50,000 องค์ ประกอบพิธีปลุกเสกตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2505 รวมระยะเวลา ปลุกเสกนานถึง 8 ปี เหตุที่เรียกขานว่า พระสมเด็จเหม็น เนื่องจากองค์พระมีกลิ่นเหม็น เกิดจากข้าวก้นบาตรนำไปหมักผสมกับผงต่างๆ เหม็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการหมักนานเพียงใด

อริยะ เผดียงธรรม

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน