“เมื่อท่านปฏิญาณตนถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ได้กรุณากำหนดดูจิตของตนเอง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือ คุณธรรมที่มีอยู่ในใจของเรานั่นเอง” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงปู่ยิ้ม จันทโชติ” หรือหลวงพ่อเฒ่ายิ้ม อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว (วัดศรี อุปลาราม) อ.เมือง จ.กาญจนบุรี วัตถุมงคลล้วนเป็นที่นิยมสะสม โดยเฉพาะพระปิดตา สร้างจากผงวิเศษที่ทำเอง โดยใช้เวลารวบรวมมวลสารถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2439-2441

ส่วนผสมต้องตรงตามสูตรการสร้างพระปิดตาแบบโบราณ ส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติ ได้แก่ ผงอิทธิเจ ปถมัง มหาราช ตรีนิสิงเห ว่าน 108 ดอกไม้บูชาพระไคลโบสถ์ ฯลฯ จากนั้นปลุกเสกจนถึงปี พ.ศ.2445 จึงนำออกมามอบให้ มีทั้งเนื้อเหลือง เนื้อขาว เนื้อผงเทา เนื้อผงคลุกรัก เนื้อผงธูป ฯลฯ ทั้งแบบจุ่มรักและคลุกรัก

เนื้อนิยมคือ เนื้อเหลือง ลักษณะเป็นพระปิดตาแบบลอยองค์ องค์พระประทับนั่งปางสมาธิราบ พระหัตถ์ปิดพระเนตร มี 3 พิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์สังกัจจายน์ และพิมพ์แข้งซ้อน พิมพ์ใหญ่ ยังแบ่งเป็นพิมพ์ใหญ่ชะลูด และพิมพ์ใหญ่ต้อ ซึ่งต่างกันเพียงพิมพ์ใหญ่ต้อ จะมีความสูงน้อยกว่าและดูต้อกว่า พิมพ์ใหญ่ชะลูด นับเป็นพิมพ์ยอดนิยม ทุกพิมพ์มีพุทธคุณเด่น รอบด้านเป็นที่ประจักษ์

“หลวงปู่นาค ปุญญนาโค” วัดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อดีตพระเกจิอาจารย์ เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิต สร้างวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเสมา มีหู จัดสร้างโดย พระครูประสิทธิสมณการ (ต้าน เมนะจินดา) วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ

สร้างถวายเพื่อเป็นที่ระลึก ในวาระอายุครบ 6 รอบ หรือ 72 ปี ด้านหน้าเหรียญแกะขอบเป็นลวดลายกนก ตรงกลางเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หันหน้าตรง ด้านบนรูปเหมือนเขียน คำว่า “ที่ระลึก” ด้านล่าง รูปเหมือนเขียนคำว่า “พระครูวิริยาธิการี” ด้านหลังเหรียญไม่มีขอบเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นยันต์อุณาโลม ล่างลงมาเป็นอักขระขอม เป็นเหรียญ ยอดนิยมเหรียญหนึ่งของวงการพระเครื่อง

“หลวงพ่อห่วง สุวัณโณ” วัดท่าใน จ.นครปฐม อดีตพระเกจิชื่อดัง ปัจจุบันวัตถุมงคลค่อนข้างหายากมาก รุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก” ที่สร้างในปีพ.ศ.2499 เนื่องในงานฉลองสมณศักดิ์ จำนวนประมาณ 500 เหรียญ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเงิน เนื้อทองแดงรมดำมีบ้าง แต่น้อยมาก

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม ทรงเสมาคว่ำ หูในตัว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อห่วงครึ่งองค์ หน้าตรง มีอักษรไทยระบุชื่อ “หลวงพ่อห่วง” ตกแต่งโดยรอบด้วยลายกนก ด้านหลังเหรียญเป็นหลังเรียบ ตรงกลางเป็น “ยันต์กระต่ายสามขา” ซึ่งเป็นยันต์ด้านคงกระพันชาตรีซ้อนกัน 2 ยันต์ โดยรอบเป็นอักขระขอม ยอดบนเป็น “อุณาโลม” ด้านล่างเป็นอักขระขอมว่า “นะ อุ ทะ” ได้รับการยกย่องให้เป็นเหรียญยอดนิยมนครปฐม

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน