“ศีลนี่แหละเป็นอุบายเครื่องดับ จะถึงซึ่งความดับสนิทก็เพราะศีล” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงพ่อบุญสาร สังวโร” พระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม จัดสร้าง “เหรียญรูปไข่รุ่นแรก” เมื่อปี พ.ศ.2517 เพื่อแจกพุทธศาสนิกชนที่ร่วมทำบุญก่อสร้างสาธารณูปโภค เป็นเหรียญเนื้อทองแดงรมดำ จำนวนการสร้างประมาณ 3,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญยกขอบ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อ บุญสารนั่งบนอาสนะเต็มองค์ ใต้รูปเหมือนเขียนว่า “หลวงพ่อบน สารสํวโร” (ช่างแกะบล็อกผิด จากบุญเป็นบน) ด้านหลังเหรียญ บริเวณใต้ห่วงเขียนว่า “วัดป่ากุงโพธิสาร” จากด้านซ้ายของเหรียญโค้งลงไปด้านล่างวนขึ้นไปขอบเหรียญด้านขวาเขียนว่า “บ.โนนภิบาล อ.กิ่งแกดำ ต.โนนภิบาล จ.มหาสารคาม” ตรงกลางเหรียญเป็นรูปเครื่องอัฐบริขาร จัดเป็นเหรียญยอดนิยมอีกเหรียญในพื้นที่ อ.แกดำ

“หลวงพ่อฉ่ำ คังคสุวัณโณ” พระเกจิดังเรืองวิทยาคม แห่งวัดท้องคุ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ สร้างวัตถุมงคล โดยเฉพาะพระปิดตาคลุกรักผสมว่านยา เป็นพระที่แตกกรุออกมาหลังมรณภาพไปแล้ว เป็นพระเนื้อผงคลุกรัก ประกอบด้วยผงใบลานคลุกด้วยดิน ว่าน และเกสร โดยมีรักเป็นตัวประสาน และเป็นพระที่ไม่ได้ผ่านการเผาที่เรียกกันว่า “เนื้อดินดิบ” แต่มีความแกร่งพอควร สีขององค์พระจะออกน้ำตาลปนดำ มีเนื้อละเอียดและ หนึกนุ่มมาก แบ่งได้เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์เข่าบุ๋มและพิมพ์เข่าตัน

ลักษณะพิมพ์ทรงเป็นทรงชะลูด องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ พระหัตถ์ปิดพระเนตรทั้ง 2 ข้าง มีรายละเอียดต่างๆ ไม่มากนัก ด้านหลังโค้งมนแบบหลังเบี้ย ภายในจะบรรจุเม็ดปรอทผสมตะกั่ว หรือวงการพระเรียก “ลูกสะกด” ขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพดเอาไว้ เป็นสุดยอดวัตถุมงคลที่หาดูหาเช่ายาก

“พระผงพระพุทธสิหิงค์ ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช” สร้างขึ้นในวาระสร้างศาลหลักเมืองเมื่อปีพ.ศ.2530 ลักษณะเป็นพระเนื้อผง ประกอบด้วยมวลสารศักดิ์สิทธิ์สำคัญ พิมพ์ทรงเป็นรูปทรงแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบชิ้นฟัก

ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ เหนืออาสนะฐานบัวเล็บช้าง 2 ชั้น รองรับด้วยฐานเขียง อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เส้นซุ้มแกะเป็นรูปก้นหอยหรือสะดือทะเลน้อยใหญ่ จำนวน 21 วง และรองรับฐานซุ้มด้วยฐานหน้ากระดาน 3 ชั้น องค์พระแลดูอวบอ้วนสมบูรณ์ พระอุทรพลุ้ยเล็กน้อย ปรากฏเส้นจีวรและเส้นสังฆาฏิ

ด้านหลังเป็นรูปพระราหูอมสุริยัน-จันทรา ด้านล่างกำกับด้วยยันต์หัวใจพระคาถา 3 ตัว คือ ยันต์หัวใจธรณี, หัวใจมนุษย์ และหัวใจพระคาถากำกับธาตุ ตามคติธรรมของชาวศรีวิชัย จำนวนการจัดสร้างเป็นหลักแสนองค์ ทำให้มีแม่พิมพ์หลายบล็อก รายละเอียดจึงแตกต่างกันไปบ้างเป็นพระผงที่ทรงคุณค่า

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน