สิทธิที่พึงมี 30 ปีที่ยังรอ – 30 ปีที่ผ่านมา ทุ่งแสงตะวันเริ่มผลิตรายการ มีเรื่องราวจากชุมชนบนพื้นที่สูง พี่น้องชาติพันธุ์อันหลากหลายในประเทศไทยของเรา ทยอยออกอากาศอย่างต่อเนื่อง เสนอภาพด้านการพึ่งตัวเอง การพึ่งพาธรรมชาติ การใช้ทรัพยากร วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ

ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็ได้พบเจอประเด็นปัญหาที่อยู่เบื้องหลังวิถีชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิทำกิน ส่งผลถึงการดำเนินชีวิตของผู้คน ชุมชน เวลาผ่านไปปัญหายังคงอยู่ในหลายภูมิภาคหลายพื้นที่ ทั่วประเทศ

จากเด็กหญิงตัวเล็กๆ ในวันก่อน ฟาง ณัฐริดา มงคลคีรี ในวัย 30 ปี จากชุมชนชาวมูเซอดำ อ.แม่สอด จ.ตาก บอกว่า “ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินเป็นเรื่องที่คุยกันมาตลอดเวลาในครอบครัวและในชุมชน ตั้งแต่จำความได้จนถึงปัจจุบัน เหมือนจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในระหว่างที่เราเติบโต แต่ก็ไปไม่สุดทางให้เราเห็นเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้สักที”

ตั้งแต่เด็กจนโต ฟางรับรู้และเข้าใจว่าปัญหาที่พี่น้องชาติพันธุ์ ชนเผ่าในพื้นที่สูงเผชิญอยู่มีมากมายหลายด้าน และไม่ใช่พี่น้องชนเผ่าเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เป็นปัญหาเรื่องชุมชน แต่เป็นปัญหา ระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับประชากรจำนวนมาก

จากทำการเกษตรพืชผักผลไม้เป็นหลัก เข้าสู่ยุคกาแฟนิยม ต้นกาแฟดั้งเดิมกลางป่าก็พัฒนา ปลูกเพิ่ม ขยายสายพันธุ์ ปลูกใต้ ร่มเงาป่า คนรุ่นพ่อบุกเบิกนำทาง รุ่นลูกอย่างฟางต่อยอดผลผลิตและนำพากาแฟดอยมูเซอให้เป็นที่รู้จักมีความร่วมสมัย เป็นทั้งรายได้และความภาคภูมิใจ ชุมชนชาวบ้านเรียนรู้พัฒนาตนเองและธุรกิจไปไกล ในขณะที่การจัดการที่ดินที่ทำกินโดยรัฐยังอยู่ที่เดิม กาแฟดูเหมือนจะมีอนาคต แต่ปัญหาสิทธิทำกินยังคงดำเนินไป

จักรพงษ์ มงคลคีรี คุณพ่อของฟาง กล่าวว่า “อยากเห็นการแก้ปัญหาเชิงนโยบายของรัฐในการแก้ปัญหาคนที่ถูกประกาศทับที่ ทั้งที่เพชรบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ตากเองก็มีหลายพื้นที่ที่บางหมู่บ้านอยู่มาเกิน 300 ปี เกิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประกาศทับที่ ถนนหนทางพัฒนาไม่ได้ โรงเรียนไม่สามารถสร้างอาคารเรียนได้ โซลาเซลล์ไม่สามารถเข้าได้ ไม่มีสถานีอนามัย วัยเจริญพันธุ์ก็มีลูกเยอะแยะ ประชาชนก็มากมาย สิ่งเหล่านี้ในความรู้สึกของ ชาวเขารุ่นเก่ามันจำเจ เราอยากเห็นการพัฒนาที่ภาครัฐเข้าใจ”

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดความมั่นคงที่ดินที่ทำกินทางกฎหมาย และเรื่องสิทธิอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อเรื่องความมั่นคงมั่นใจของ คนรุ่นใหม่ที่จะกลับมาสู่ชุมชนหรือจะมาช่วยกันสร้างชุมชนในอนาคต ปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงเรื่องที่ดินที่ทำกินมีข้อจำกัดหลายอย่างเพราะไม่มีเอกสารสิทธิหรือสิทธิในการอยู่อาศัย ทำให้คน รุ่นใหม่ไม่อยากกลับมา ยากที่ชุมชนจะเข้มแข็งในอนาคต ถึงแม้หลายคนจะมีใจรักชุมชนมากก็ตาม

หมู่บ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นตัวอย่างของชุมชนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน ชุมชน ชาวมูเซอดำอยู่กับธรรมชาติแบบรบกวนให้น้อย ดูแลให้มากมานานกว่า 30 ปี ผลตอบแทนที่ธรรมชาติมอบให้คือชีวิตอันรุ่มรวย มีป่า มีน้ำ มีอาหารโอบอุ้มหล่อเลี้ยงทุกชีวิตตลอดทั้งปี

ตัวอย่างในเรื่องการใช้ทรัพยากรที่หมู่บ้านห้วยปลาหลด จ.ตาก ไม่ใช่ภาพของการใช้ทรัพยากรจนสุดโต่ง จนไม่มีเมล็ดหรือไม่มี หน่อเหง้าให้แตกมาใหม่ ชุมชนจะมีการจัดการคือ 2 เดือนไม่เกิน 2 เดือนครึ่ง ที่เหลือก็ฝากไว้ในป่า ความเป็นป่าก็ช่วยกรองน้ำ เมื่อพายุมา เมื่อฤดูพายุฝนไม่มีน้ำสีแดงๆ ไหลลงไปสู่พื้นที่ข้างล่าง เพราะว่าที่นี่ไม่ได้ทำเกษตรเชิงเดี่ยวเหมือนกับที่อื่น พื้นที่อื่นอาจ จะทำเชิงเดี่ยวด้วยกลไกนโนบายรัฐที่มีการชดเชยประกันราคาพืชผล แต่คนห้วยปลาหลด

ส่วนต่างที่เขาได้รับคือแหล่งต้นน้ำที่ดี สภาพอากาศที่ดี แถมยัง เผื่อแผ่ไปยังคนอื่นๆ ที่ไม่มีป่า อากาศเย็นๆ น้ำสะอาดที่ไหลลงมาให้คนกลางน้ำ ปลายน้ำ คือส่วนต่างที่พวกเขาได้จากป่าที่ ร่วมกันดูแล

คำตอบจึงไม่ใช่เอาคนออกจากป่า แต่ถึงอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังมองไม่เห็นแสงสว่าง ได้แต่หวังว่าสักวันการแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจจากภาครัฐจะเกิดขึ้นบนพื้นฐาน ที่ว่าทุกคนทุกชาติพันธุ์ควรมีสิทธิ์ในการใช้ชีวิตทำกิน บนผืนดินของตนเอง

ติดตามชมเรื่องราวความเป็นไปในสิทธิทำกินของชาติพันธุ์ 30 ปีที่ยาวไกลและไปไม่ถึงจุดหมาย ทุ่งแสงตะวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ในตอน 30 ปีที่ยังรอ ทางช่อง 3 กด 33 เวลา 05.05 น. และทางเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน 07.30 น.

วสวัณณ์ รองเดช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน