พลังงานชงแพ็กเกจเข้าครม.15ก.พ.นี้

กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอมาตรการภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จากนโยบายหลักของรัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยกรมสรรพสามิตทำทางเลือกลดภาษีแบบ ขั้นบันได พร้อมชี้ผลกระทบจำนวนภาษีที่หายไป เสนอครม. ในสัปดาห์หน้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมจะเสนอแพ็กเกจมาตรการดูแลค่าครองชีพในหมวดพลังงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 15 ก.พ. 2565 โดยมาตรการภาษีสรรพสามิตน้ำมันก็รวมอยู่ในแพ็กเกจดังกล่าวด้วย ซึ่งนโยบายหลักของรัฐบาลคือ การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่วนรายละเอียดคงต้องรอทางกระทรวงพลังงานก่อน

“แพ็กเกจดูแลค่าครองชีพในหมวดพลังงานนั้น เพื่อจะไปดูแล ช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ซึ่งมาตรการทางภาษีก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะพิจารณาพร้อมกับกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งแพ็กเกจจะพิจารณาในภาพรวมทั้งหมดทุกด้าน โดยเฉพาะขีดความสามารถของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการขยายเพดานการกู้เงินเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท ของเดิมอีก 1 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 3 หมื่นล้านบาท รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดด้วย เพราะราคาน้ำมันบางช่วงมีขึ้น บางช่วงมีลง และการตรึงราคาน้ำมันตรงนี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องภาษี แต่กองทุนก็ยังมีเงินนำส่งเข้ามาอยู่ ทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน โดยรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอฟังทางกระทรวงพลังงาน”

ปัจจุบันมีเม็ดเงินจากหลายส่วนที่คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ในการดูแลราคาพลังงานได้ อาทิ เงินงบประมาณ และเงินกู้จาก พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ โดยเม็ดเงินในส่วนนี้จะใช้ได้หรือไม่ได้นั้นต้องไปดูวัตถุประสงค์

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ครม. ทางกรมสรรพสามิตได้ทำทางเลือกเกี่ยวกับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันได ตั้งแต่ 50 สตางค์ จนถึง 5 บาท ให้ ครม. พิจารณาเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด โดยเฉพาะผลกระทบว่าจะทำภาษีหายไปเท่าไหร่

ซึ่งยอมรับว่าจะกระทบกับการจัดเก็บรายได้โดยรวมของประเทศ จนทำให้ปีงบประมาณ ปี 2565 มีปัญหา รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เนื่องจากได้ตั้งงบประมาณแบบขาดดุล 7 แสนล้านบาท ซึ่งเต็มเพดานกฎหมายกำหนดไว้ว่าการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ และการกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ต้องไม่เกิน 20% ของงบประมาณ รวมกับ 80% ของต้นเงินชำระเงินกู้ ซึ่งในปีนี้หากรายได้ไม่พอกับรายจ่ายรัฐบาลไม่มีตัวช่วยเหมือน 2 ปี ที่ผ่านมา ที่ยังมีช่องให้กู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน