เวิลด์แบงก์คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.9% รับ นักท่องเที่ยวทะลักครึ่งปีหลัง ห่วงเงินเฟ้อพุ่งซ้ำเติมปากท้อง คนยากจน ชี้คุมราคาสินค้าได้ผลไม่มาก จี้ปรับนโยบายช่วยกลุ่มได้รับผลกระทบตัวจริง

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น จากแรงกระตุ้นของ การบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว หลังจากมีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยปีนี้คาดว่าจะมี นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย ประมาณ 6 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของจำนวนนักท่องเที่ยวในครึ่งปีแรก และเพิ่มเป็น 15 ล้านคนในปี 2566 ก่อนจะขยับเพิ่มเป็น 24 ล้านคนในปี 2567

โดยเวิลด์แบงก์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 4/2565 ทำให้คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2565 จะขยายตัวที่ 2.9% และปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 4.3% ส่วนปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว ที่ระดับ 3.9%

สำหรับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงของโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาระบาดอีกระลอก อาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยในเดือนพ.ค. อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.1% ทะลุกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% ไปแล้ว และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 13 ปี ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแบบกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มพลังงานและอาหาร ไม่ได้ปรับขึ้นในทุกหมวดสินค้า

ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจึงไม่ได้เป็นแบบยั่งยืน จะค่อยๆ ลดระดับลงมาอยู่ที่ 2.2% ในปี 2566 จากปีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 5.2% ส่งผลกระทบกับครัวเรือนยากจนเป็นหลัก โดยประเมินว่าราคาอาหารและน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุก 10% จะส่งผลให้ครัวเรือนมีความยากจนมากขึ้น 1.5 เท่า

“เงินเฟ้อคือความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทย แต่ยังอยู่ในระดับที่ยังรับมือได้โดยการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งมีผลระดับหนึ่ง แต่มองว่าไม่ใช่มาตรการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และไม่ได้ยั่งยืน เพราะ ไม่ได้มีการจัดสรรมาตรการให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับประโยชน์ จึงควรพิจารณาเครื่องมืออื่นควบคู่ไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายจากนโยบายภาคการคลังที่ต้องติดตาม จากหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 10% จากระดับ 49% มาเป็น 61% ขณะเดียวกันมองว่าการกู้ยืมใหม่ของรัฐบาลน่าจะหมดไปเพราะเข้าสู่การฟื้นตัว โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยจะพุ่งสู่จุดสูงสุดที่ 62.5% ต่อจีดีพี ในปีงบประมาณ 2566 และต้องติดตามความเสี่ยงที่หนี้ครัวเรือนจะสูงกว่าระดับ 90% ต่อจีดีพีจากสิ้นปี 2564

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน