ประเด็นปมหุ้นไอทีวี ส่งผลให้การเมืองหลังเลือกตั้งเดือดระอุ ระหว่างรอกกต.ประกาศรับรองส.ส.

กลายเป็นหนึ่งในขวาหนามสกัด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

ทั้งที่ พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ประกาศลงนามเอ็มโอยูกับ 7 พรรคการเมือง จัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค 312 เสียง

นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคภูมิใจไทย ซึ่งได้โอนหุ้นไอทีวีที่เคยถือครองให้กับ ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน อดีตลูกน้องของตนเอง ก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา

โพสต์ข้อความ เมื่อ 24 เม.ย. ก่อน การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของไอทีวีเพียง 2 วัน

ระบุว่านักการเมืองที่กำลังถือหุ้นไอทีวี เตรียมตัวประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และมอบตัว กกต. ด้วย หัวหน้าพรรคหนึ่งถือ 42,000 หุ้น

วันที่ 10 พ.ค. เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

โดยอ้างว่า ตรวจสอบพบว่า พิธา ถือหุ้นใน บมจ.ไอทีวี

แล้วยังระบุอีกว่า บริษัทดังกล่าวยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยตามการ จดแจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อ

ตามด้วยบรรดา ‘นักร้อง’ แห่ตบเท้าเข้ายื่นให้ตรวจสอบ พิธา ในประเด็นถือหุ้นสื่อ

อย่างไรก็ตาม 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา กกต.มีมติไม่รับ 3 คำร้องกรณี พิธา มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามสมัครส.ส. เหตุถือหุ้น ไอทีวี เนื่องจากคำร้องยื่นเกินระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด

แต่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณา เป็นคดีอาญา ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังฝืน โดยตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน

ก่อนจะมีคลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อ 26 เม.ย. เปิดเผยออกมาว่าการประชุมและบันทึกการประชุมมีข้อความที่ไม่ตรงกัน

เอกสารบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีในวันดังกล่าวที่ใช้ยื่นร้องพิธา ระบุว่า ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น สอบถามว่า ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่ออยู่หรือไม่

ประธานในที่ประชุม ตอบว่า ปัจจุบันบริษัทยังมีการดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ

แต่ในคลิปการประชุมที่มีการเปิดเผย ออกมา ประธานที่ประชุม ได้ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน”

ทั้งนี้บุคคลที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมดังกล่าว และเป็นคนลงนามในเอกสารรับรองรายงานการประชุม คือ คิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด

ต่อมาได้ออกเอกสารชี้แจงว่า ไอทีวีซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ อินทัชถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 52.92 ทางบริษัทได้รับทราบข้อมูล และได้ให้คณะกรรมการและฝ่ายจัดการของไอทีวี ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

นำมาซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์ ว่าทั้งหมดนี้ เป็นขบวนการฟื้นคืนชีพไอทีวี เพื่อเล่นงาน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล หรือไม่

นิกม์ แสงศิรินาวิน

นิกม์ แสงศิรินาวิน

เกิด 24 มิ.ย. 2525 อายุ 41 ปี บุตรชาย พล.ต.ท.นพ.สิทธิเดช แสงศิรินาวิน หรือ หมอโส่ย อดีตรองแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ

ปริญญาโท ด้านนโยบายสาธารณะ(การปกครองท้องถิ่น) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ เอกการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เคยเป็น Supervisor Thai Airways International

ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ Channel 9 MCOT HD

International Manager ร.พ.สหวิทยาการมะลิ

ผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย และประธานเครือข่ายเส้นด้ายสายไหม

ปี 2562 ลงสมัคร ส.ส.เขตสายไหม กทม. สังกัดพรรคอนาคตใหม่ แต่สอบตก

ลาออกจากพรรคอนาคตใหม่

ปี 2565 กลับเข้าสนามการเมือง ลงสมัคร ส.ก.เขตสายไหม ในนามกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

เลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ลงสมัครส.ส.กทม. เขต 17 หนองจอก ได้แค่ 549 คะแนน พ่ายแพ้ ผู้สมัครพรรคก้าวไกลไม่เห็นฝุ่น

คิมห์ สิริทวีชัย

คิมห์ สิริทวีชัย

อายุ 54 ปี

ปริญญาโท บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประสบการณ์ผู้บริหารบริษัทเอกชน อาทิ กรรมการ บจก.อุ๊คบี, กรรมการ บจก. ไฮ ช็อปปิ้ง ทีวี, กรรมการ บจก.วงใน มีเดีย

กรรมการ บจก.ไอ.ที.แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ เซอร์วิส, กรรมการ บจก.ลิตเติ้ล เชลเตอร์, กรรมการ บจก.ลิตเติ้ล เชลเตอร์ และ กรรมการ บจก.สเปซ เทค อินโน เวชั่น

ปี 2557 รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์

ปี 2562 หัวหน้าคณะผู้บริหารด้าน การเงิน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์

กรรมการ บมจ.ไอทีวี, กรรมการ บจก. อาร์ตแวร์ มีเดีย

ปี 2564 – ปัจจุบัน กรรมการเเละกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์

กำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เป็นเอ็มดีผู้ลงนามตรวจสอบการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

เกิดเมื่อ 26 ส.ค.2504 อายุย่าง 62 ปี ชาว อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์

ปริญญาตรีบริหารธุรกิจ (บัญชี) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ปริญญาโทบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เปิดตัวเป็นที่รู้จักในสังคมจากการเป็น ที่ปรึกษาคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน

ปี 2551 ได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว.สรรหา อยู่กลุ่ม 40 ส.ว. ประกาศตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามพรรคพลังประชาชน

ยื่นตรวจสอบ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี รัฐบาลพรรคพลังประชาชน กรณีจัดรายการ ‘ชิมไป บ่นไป’ รับค่าตอบแทน เข้าข่ายกระทำการขัดมาตรา 267 เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

ก.ย.2551 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ สมัคร พ้นจากตำแหน่ง

2 ปีต่อมา ปรากฏตัวตามเวทีต่างๆ ของกลุ่มคนเสื้อแดง สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร

ปี 2557 ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 41 (การเลือกตั้งโมฆะ)

ปี 2562 ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่พรรคถูกยุบ

ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการงบประมาณ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ในการพิจารณางบประมาณ ปี 2563

ลาออกจากพรรคเพื่อไทย หลังถูกถอดจากกรรมาธิการงบประมาณ ปี 2564

ปี 2565 เข้าพรรคพลังประชารัฐ

ก่อนเลือกตั้งพ.ค.2566 มีภาพปรากฏร่วมโต๊ะอาหารกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน