คําประกาศ “ร่วม” เส้นทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย แหลมคม
แหลมคมตรงที่ไม่เพียงแต่จะสะท้อนถึงปฏิบัติการในลักษณะ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” หากแต่ยังดำเนินไปบนหลักการ “แก้ไข ไม่แก้แค้น”
2 คำประกาศนี้ดำรงอยู่บนฐานอันแข็งแกร่ง
คำว่า “แก้ไข ไม่แก้แค้น” มาพร้อมกับการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554
ขณะที่ “ก้าวข้าม” มากับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ความเป็นจริงทางการเมืองก่อนวันที่ 7 สิงหาคมดำเนินมาอย่างไร รับรู้กันอยู่
รับรู้ว่าที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงทุนทำจดหมายเปิดผนึกในฐานะแห่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเพราะต้องการเล่นบท “ปรองดอง”
จากปัญหาก่อนรัฐประหาร 2549 ก่อนรัฐประหาร 2557
นั่นก็คือปรองดองระหว่างพรรคการเมืองที่เคยอยู่กันคนละขั้ว คนละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ จำเป็นต้อง “ก้าวข้าม”
มีแต่ต้องยึดกุม “แก้ไข ไม่แก้แค้น” จึงจะทำได้
รอยยิ้มที่เห็นระหว่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล คือรูปธรรมหนึ่ง
เป็นเครื่องหมายยืนยันว่าความผิดพ้องหมองหมางระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยในกาลอดีต จักต้องได้รับการแก้ไขและก้าวข้าม
นำไปสู่ “มันจบแล้วนาย” ในอีกมิติหนึ่งซึ่งแตกต่างออกไป
เช่นนี้เองยุทธการ “ไล่หนู ตีงูเห่า” ที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เคยแยกเขี้ยวยิงฟันเข้าใส่พรรคภูมิใจไทย และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จึงได้รับการตีความใหม่
เป็นเพียงเรื่องของ “เทคนิค” เป็นเพียงเรื่องหา “คะแนนเสียง”
บนความเชื่อมั่นแบบเดียวกันนี้จึงย่อมนำไปสู่การประเมินและคาดแนวโน้มใหม่
เป็นแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” กับพรรครวมไทยสร้างชาติ และรวมถึงก้าวข้ามความขัดแย้งกับพรรคพลังประชารัฐ
เมื่อ “แก้ไขไม่แก้แค้น” ก็ย่อม “ก้าวข้าม ความขัดแย้ง”