FootNote:ปัญหานโยบาย ปัญหาหลักการ พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล
ไม่ว่ากรณีของ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ไม่ว่ากรณีของ นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล ในวงล้อมอันอบอุ่นครื้นเครงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชาและคณะ
จะดำเนินไปในลักษณะ”กลอนพาไป”ดังคำนิยามจากปาก นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์
กระนั้น ลักษณะ”กลอนพาไป” ไม่ว่าของ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ไม่ว่ากรณีของ นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล ก็มากด้วยความละเอียด อ่อนยิ่งในทางการเมือง
คนที่เข้าถึง”ประเด็น”ได้อย่างถึงแก่นแกนอย่างที่สุดน่าจะเป็น นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจากโควตาของภาคอีสาน
นี่มิได้เป็น”กลอนพาไป”หากเป็นปัญหา”หลักการ”
หลักการในที่นี้ 1 นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร เคยกล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่ชอบคนที่ไปเลียท็อปบู๊ททหาร ความหมายมิได้อยู่ที่วุฒิสภาหากแม้กระทั่งในพรรคเพื่อไทยเอง
นี่เป็นหลักการของพรรคเพื่อไทยที่สรุปบทเรียนตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน
ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 มายังรัฐประหาร 2557
หลักการในที่นี้ 1 พรรคเพื่อไทยเพิ่งร่วมกับ 6 พรรคร่วมฝ่าย ค้านในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม
ในประเด็นสำคัญ คือการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และครม. มีความผิดพลาดไม่ครบถ้วนตามบทบัญญัติมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ
นี่มิได้เป็นเพียงมติของพรรคเพื่อไทยหากแต่ยังเป็นมติของ 7 พรรคร่วมรัฐบาล สมควรที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยจักต้องยอมรับและปฏิบัติตาม
เรื่องของ”นโยบาย” เรื่องของ”หลักการ”จึงสำคัญ
ในสภาพการณ์ทางการเมืองภายหลังรัฐประหารไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีลักษณะพิเศษ และซับซ้อน
การสร้างเอกภาพ การสร้างสามัคคีมีความสำคัญอย่างสูง
แต่เอกภาพและสามัคคีจะเปี่ยมด้วยพลานุภาพได้ต้องวางอยู่บนหลักการในการแยกมิตร แยกศัตรูแจ่มชัด
ยิ่งเป็นพรรคเพื่อไทยยิ่งต้องมากด้วยความสังวรณ์อย่างสูง