10 ปี-19 พฤษภา

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

10 ปี-19 พฤษภา – วันสิ้นสุดการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่ม นปช. เมื่อสิบปีก่อน คือวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

ไม่ใช่การสิ้นสุดที่ควรจะเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย ตรงกันข้ามเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ที่เพิ่มขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ความสูญเสียเกือบร้อยศพ และบาดเจ็บกว่าสองพันคน ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึง 19 พ.ค.2553 บ่งบอกว่ามีความผิดปกติ และเป็นความผิดพลาดที่รัฐกระทำต่อประชาชน

แต่ 10 ปีหลังจากนั้น บทเรียนจากเหตุการณ์ความรุนแรงปี 53 ยังคงไม่ได้บทสรุป และถูกกล่าวอ้างทุกครั้งที่มีการรำลึกเหตุการณ์ว่าจะสร้างความขัดแย้ง

ทั้งที่เหตุการณ์พฤษภา 53 ไม่อาจใช้วิธีเดียวกับการล้างคราบเลือดบนถนนใจกลางกรุงเมื่อสิบปีก่อน

เหตุรัฐประหาร 2549 เป็นจุดปะทุและขยายความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ส่วนเหตุรัฐประหาร 2557 เป็นจุดสานต่อ โดยมีเหตุการณ์เดือนเมษาฯ และพฤษภาฯ 2553 เป็นรอยต่ออยู่กลางหลุมดำของความขัดแย้ง

ความขัดแย้งดังกล่าวมาจากการฉกชิงสิทธิและอำนาจในการตัดสินใจของประชาชน บิดกระบวนการประชาธิปไตยให้เบี้ยวอย่างผิดครรลอง ผิดหลักการ และผิดวิธีการ ด้วยการใช้กำลังและอาวุธ

คำถามที่รอคำตอบ 10 ปีมานี้คือเราจะจัดการความขัดแย้งนี้อย่างไร

จะทำอย่างไรให้ญาติผู้สูญเสียและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจนบาดเจ็บ ได้รับความยุติธรรม

เมื่อกระบวนการหรือกลไกค้นหาความยุติธรรมให้ความตาย 99 ศพที่ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนถูกทำให้สะดุดมาเป็นระยะ

หากประเมิน 10 ปีจากนี้ไป การชุมนุมเรียกร้องหรือประท้วงรัฐบาลและหน่วยราชการของรัฐย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์โรคระบาดผ่านพ้น

จะมีกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อน มีการทวงสัญญาปฏิรูป และการเรียกร้องความยุติธรรมอีกมากมายที่ประชาชนต้องแสดงออกต่อรัฐบาลของตนเอง

จะทำอย่างไรให้รัฐเลือกไม่เลือกใช้วิธีกล่าวหาผู้ประท้วงต่อต้านเป็นคนร้าย เป็นผู้ผิดกฎหมาย ใช้อาวุธทำร้ายสังหาร ทั้งทำให้คนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกลูกหลงความรุนแรงไปด้วย

10 ปีเป็นเวลามากพอแล้วที่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน