รายงานพิเศษ

สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยตึงเครียดขึ้นตามลำดับ นับแต่การชุมนุมไล่รัฐบาลของกลุ่มนักศึกษา ขยายวงสู่นักเรียน จนถึงประชาชน นำมาสู่การชุมนุมในนาม ‘คณะราษฎร’

และกลายเป็นข่าวนำของสำนักข่าวและสื่อใหญ่ระดับโลกอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ

พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวแกนนำผู้ชุมนุมเพิ่มเติม หลังจากจับกุมไปบางส่วนแล้ว เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานและนำเสนอมุมมองต่อการ ออกประกาศดังกล่าว ที่น่าสนใจ มีดังนี้

บีบีซี

รายงานของบีบีซี สื่อใหญ่และน่าเชื่อถืออันดับต้นๆของอังกฤษ ระบุว่า รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ทั้งที่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสันติ

และต่อเนื่องมาจากการชุมนุมที่มีกลุ่มนักศึกษาเป็นแกนนำ เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก นับจาก อดีตผบ.ทบ.รายนี้ก่อรัฐประหารเมื่อปี 2557 แล้วขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการโต้แย้ง ในปี 2562

การชุมนุมครั้งล่าสุดนี้นับว่ามีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่สุดในหลายปีเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมถึงข้อเสนอเกี่ยวกับสถาบันที่เป็นประเด็นล่อแหลมในประเทศไทย

ซีเอ็นเอ็น

สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวการชุมนุมในประเทศไทยว่า สัปดาห์นี้อาจเป็นห้วงเวลาที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร ที่ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศลาออกและยุบสภา รวมทั้งยุติการคุกคามกลุ่มผู้เห็นต่าง และข้อเสนอเกี่ยวกับสถาบัน

เอเอฟพี

สำนักข่าวเอเอฟพี สำนักข่าวใหญ่ของฝรั่งเศส รายงานว่า หลังรัฐบาลกวาดจับแกนนำผู้ชุมนุมพร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว กลุ่มเยาวชน รวมถึงกลุ่มฟรี ยูธ มูฟเมนต์ ใช้โซเชี่ยลมีเดียระดมกำลังผู้สนับสนุนให้ไปชุมนุมกันอีกครั้งที่แยกราชประสงค์ จนขึ้นแฮชแท็กอันดับ 1 ของไทย

เอเอฟพีรายงานด้วยว่า ราชประสงค์เคยเป็นสถานที่ปราบปรามผู้ชุมนุมครั้งใหญ่เมื่อปี 2553 และถ้าย้อนมองประวัติศาสตร์ไทยแล้ว มีการลุกฮือของมวลชนในยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหลายครั้ง หลังจากประเทศไทยเกิดรัฐประหารมาตลอดมากกว่า 12 ครั้ง นับจากปี 2475 ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ข้อเรียกร้องหนึ่งในการชุมนุมครั้งล่าสุดนี้คือ การยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ที่มีบทลงโทษร้ายแรง ขณะที่โฆษกรัฐบาลกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ขวางขบวนเสด็จ จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างไม่มีข้อยกเว้น

อัลจาซีรา

สื่อยักษ์ใหญ่ของชาติอาหรับ อัลจาซีรา รายงานว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯของรัฐบาล เป็นความพยายามที่จะจัดการกับผู้ชุมนุม โดยกวาดจับแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 คน ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมีปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

เช่น สหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ International Federation for Human Rights (FIDH) สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจตามกฎหมาย ดังกล่าว เพราะตำรวจสามารถจับกุมผู้คนโดยไม่ต้องตั้งข้อหาได้นานถึง 30 วัน

ส่วนน.ส.หมิง หยูฮาห์ รองผู้อำนวยการรณรงค์ส่วนภูมิภาค องค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงว่า “ด้วยจำนวน ผู้ถูกจับกุมวันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง การชุมนุมแสดงออกอย่างสงบสันติอย่างแท้จริง

การกระทำของรัฐชัดเจนว่าเจตนาจะปราบปรามผู้ชุมนุมและข่มขวัญผู้ที่เห็นด้วยกับมุมมองของผู้ประท้วง องค์กรขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยบุคคลที่ถูกจับตัวไปทั้งหมด”

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้ วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความ ปั่นป่วนวุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน

มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง

กรณีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้มีการยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม

อาศัยอำนาจตามความมาตรา 5 และ 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรี จึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น.เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2563

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน