FootNote : บทบาท “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป้าหมาย ปรองดอง สมานฉันท์

ไม่มีใครตอบได้ว่าข้อเสนอว่าด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์”อันผลักดันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ผ่านที่ประชุมรัฐสภา และได้รับการขานรับจากนายกรัฐมนตรีจะลงเอยอย่างไร

ลงเอยด้วยการเข้าร่วมอย่างคึกคัก เปี่ยมด้วยความหวัง เปี่ยมด้วยความมั่นใจจากทุกฝ่าย

หรือว่าดำเนินไปด้วยความทุลักทุเลมองไม่เห็นอนาคต”

ต้องยอมรับว่าข้อเสนอนี้มิได้มีพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นเป็นดั่งหลังพิงอันสำคัญ หากแต่อย่างน้อยก็ขับเคลื่อนผ่านประธานรัฐสภา และขับเคลื่อนผ่านนายกรัฐมนตรี

ด้วยความหวังหนึ่งว่าจะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาอันกำลังพัฒนาและยกระดับเข้าสู่วงจรแห่งวิกฤต อย่างน้อยก็ผ่านกลไกของรัฐสภาอันประสานระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร

แต่ยังไม่ทันที่โครงสร้างแห่ง คณะกรรมการสมานฉันท์”จะปรากฏโฉมออกมา โครงการนี้ก็ทำท่าจะล่มตั้งแต่ยังไม่ได้ออกจากท่า

เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกระบวนการในการเตะถ่วง ซื้อเวลา

ถามว่าเหตุปัจจัยอันใดทำให้ความพยายามในการผลักดันคณะกรรมการสมานฉันท์”จึงถูกมองและประเมินไปในทางเลวร้ายเช่นนั้น

คำตอบ 1 เพราะความคิดรวบยอดที่มองและประเมินว่าเป็นกลยุทธ์ของรัฐบาลแม้จะผลักดันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม

เนื่องจากจุดเด่นของรัฐบาลคือ การเตะถ่วง ซื้อเวลา

ไม่ว่าจะในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะในเรื่องของการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งในกระบวนการล่าสุดคือการเตะถ่วงในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังที่เห็นกันในวันที่ 24 กันยายน

คำตอบ 1 เพราะความไม่เป็นเอกภาพระหว่างคำพูดกับการกระทำ ปากของรัฐบาลบอกว่าจะปรองดองสมานฉันท์ แต่การกระทำยังมีการคุกคามประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ภาพการจับปล่อย จับปล่อย คือรูปธรรมอันเด่นชัดยิ่ง

เพราะหากมีความต้องการปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริงก็ต้องแปร “ศัสตรา”ที่อยู่ในมือให้กลายเป็น “แพรพรรณ”ให้ได้เห็น

น่าเห็นใจความตั้งใจอันดีของพรรคประชาธิปัตย์ น่าเห็นใจความพยายามของ นายชวน หลีกภัย ที่จะทำให้หลักการและความตั้งใจดี ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ปรากฏเป็นจริง

เพราะอุปสรรคที่กางกั้นกลับเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอยู่ในสถานะแห่งหัวหน้ารัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน