หลังกรธ. และกกต.แถลงเปิดสูตรคำนวณส.ส. แบบจัดสรรปันส่วนผสม เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคการเมืองที่ดังกระหึ่ม

มองว่าเป็นการเปิดทางคนนอก ทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งอ่อนแอ และอาจเป็นต้นเหตุทำให้บ้านเมืองย้อนกลับไปสู่วังวนเดิมๆ คือการยึดอำนาจ

ในมุมมองของนักวิชาการ อดีตกกต. มองประเด็นนี้อย่างไร

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักกฎหมายมหาชน

ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมและวิธีนับคะแนน วิพากษ์วิจารณ์กันมาหลายครั้งแล้วตั้งแต่กรธ.กำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ รูปแบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมนี้ไม่มีที่ไหนในโลกเขาใช้กัน
อ้างว่านำมาจากระบบการเลือกตั้งของเยอรมัน

แต่ของเยอรมันใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้เลือกแบบแบ่งเขต 1 ใบ แบบบัญชีรายชื่อ 1 ใบ แล้วนำคะแนนบัญชีรายชื่อมาคิดหาสัดส่วนของส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี ก่อนนำไปหักกับผู้ชนะส.ส.แบ่งเขตของแต่ละพรรค ก็จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ

แต่วิธีที่กำหนดกันนี้ ใช้บัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกเฉพาะส.ส.เขต แต่นำคะแนนไปใช้หาสัดส่วนส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ ความแตกต่างอยู่ที่การใช้บัตรใบเดียวกับบัตรสองใบ

อีกทั้งรัฐธรรมนูญของเยอรมันยืดหยุ่น (flexible) สูงกว่าคือ ไม่กำหนดตายตัวจำนวนส.ส.ที่ 500 คน แต่เปิดช่องให้เผื่อเหลือเผื่อขาดได้ เพื่อรับรองต่อจำนวนเกิน (overhang) แต่รัฐธรรมนูญไทยล็อกไว้ที่ 500 คน

กกต.จึงระบุต้องคำนวณคะแนนรวมใหม่ทุกครั้งภายใน 1 ปี หากมีการเลือกตั้งซ่อมในเขตที่มีการทุจริต ทำให้อาจกระทบต่อส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับท้ายของบางพรรคอาจต้องพ้นตำแหน่ง

สำหรับข้อกังวล เมื่อกกต.รับรองส.ส.ร้อยละ 95 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภา หามติร่วมกับส.ว.เห็นชอบนายกฯ ไปแล้ว ภายหลัง กกต.รับรองส.ส.เต็มจำนวนทั้ง 500 คน โดยคิดคะแนนใหม่ จะกระทบกับเสียงส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแล้วส.ส.หายไป จนเป็นปัญหาทางการเมืองหรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก

โดยธรรมชาติคงไม่มีการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลปริ่มที่กึ่งหนึ่ง หรือ 251 จาก 500 เสียง อีกทั้งการให้ความเห็นชอบนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล ยังมีส.ว.อีก 250 เสียง มาร่วมลงมติด้วย เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองต้องรวมเสียงในระดับ 300 เสียงขึ้นไปเพื่อความแน่นอน

อีกทั้ง การทำหน้าที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เสียงของพรรคร่วมยิ่งต้องถูกเผื่อไว้มาก

เจตนาการเลือกตั้งแบบจัดส่วนผสมตลอดจนวิธีนับคะแนนสะท้อนถึงเจตนาของผู้มีอำนาจว่าต้องการควบคุมพรรคการเมือง พูดให้ถึงที่สุดแล้วก็คือ พรรคเพื่อไทย

เพราะด้วยการเลือกตั้งใบเดียว สำหรับส.ส. 350 เขต ก่อนนำไปหาคะแนนพึงมี และคะแนนสำหรับส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ที่พรรคเดียวจะชนะเด็ดขาด มีเสียงเกิน 250 เสียงขึ้นไป เพราะหากยิ่งได้เขตเยอะ บัญชีรายชื่อก็จะได้น้อย

ขณะเดียวกัน การจ้องตัดตอนพรรคเพื่อไทยนี้ก็โดนพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เนื่องจากเป็นพรรคใหญ่เช่นเดียวกัน แม้สองพรรคใหญ่ระดับประเทศนี้จะไม่สามารถหาจุดลงตัวร่วมกันได้ แต่ด้วยระบบการเลือกตั้งนี้ก็ไม่แน่ที่พรรคใหญ่จะมาแตะมือกันได้

ต้องอย่าลืมว่า การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ และปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งก็ต้องการชัยชนะเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งความเป็นประชาธิปัตย์ทุกคนต่างก็รู้ถึงความเขี้ยว มีความเป็นสถาบัน อยู่รอดปลอดภัย มีความต่อเนื่องของพรรคมา 70 ปี

อย่างไรก็ตาม จากตัวแบบในพม่าที่กองทัพแพ้การเลือกตั้งอย่างเบ็ดเสร็จแม้จะวางเนื้อหาอย่างรัดกุมไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยการไม่ให้ออง ซาน ซู จี เป็นประธานาธิบดีแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องยอมให้พรรคเอ็นแอลดีของออง ซาน จัดตั้งรัฐบาล

เช่นเดียวกัน หากวางระบบการเลือกตั้งไว้ขนาดนี้แล้วแต่เกิดแลนด์สไลด์ คะแนนของประชาชนเทไปยังพรรคใหญ่จนขาดลอย วันนั้นทหารก็จำเป็นต้องยอมรับ ให้พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน และจำเป็นต้องทบทวนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญด้วย

เพราะเสียงลงคะแนนเหล่านั้นสะท้อนถึงความคิดเห็นประชาชนว่าต้องการรัฐบาลเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ธนพร ศรียากูล
นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่ง ม.เกษตรศาสตร์

การคำนวณสูตร ส.ส.ของ กกต.เป็นสูตรที่มาจากรัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น กระบวนการคิดสูตรของกกต.ก็ต้องคิดแบบนี้ คือคิดจากค่าเฉลี่ย และเอาไปเทียบเคียงลักษณะบัญญัติไตรยางศ์

ประเด็นอยู่ที่พรรคการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากการคำนวณแบบนี้ ก็คือพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย

เพราะหากไปดูสถิติการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เขตไหนที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะก็มีคะแนนชนะขาดลอยจากพรรคอันดับสอง ส่วนเขตไหนที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้ คะแนนจะไม่ห่างจากพรรคที่ชนะมากนัก

ดังนั้น เมื่อใช้วิธีคำนวณแบบกกต.กำหนดสูตรซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะจำนวนส.ส.ที่พึงจะได้ ลำพังส.ส.เขต พรรคประชาธิปัตย์อาจได้ไม่ถึง
เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย เลือกตั้งครั้งที่แล้วส่งส.ส.แทบทุกเขต แม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้งแต่คะแนนก็จะอยู่ในลำดับสองลำดับสาม ฉะนั้นเมื่อเอาคะแนนมาเทกองกัน คำนวณเป็นสัดส่วนว่าพึงจะได้ส.ส.กี่คน พรรคภูมิใจไทยก็จะได้คะแนนจากบัญชีรายชื่อมาเติมจำนวนมาก

เมื่อสูตรคำนวณส.ส.ออกมาแบบนี้ พรรคที่ได้ประโยชน์จึงมีอยู่สองพรรค

ส่วนพรรคเพื่อไทยเสียประโยชน์แน่นอน เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้ส.ส.เขตจำนวนมาก แต่เมื่อเอาคะแนนตามวิธีการคำนวณของกกต.มาเป็นเกณฑ์ก็แน่ใจได้ว่าจำนวนส.ส.ที่พึงจะได้ของพรรคเพื่อไทย เมื่อนับจากส.ส.เขตที่ได้น่าจะเต็มแล้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะได้เพิ่มจึงมีโอกาสน้อยมาก

ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็กจะไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้แน่นอน เพราะพรรคขนาดเล็กจะต้องส่งส.ส.ทุกเขตจึงจะได้คะแนน ซึ่งเป็นปัญหาของพรรคขนาดเล็กเรื่องทุนหรือค่าใช้จ่าย

ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนสะท้อนผ่านผลสำรวจความคิดเห็นว่าอยากเห็นพรรคใหม่ๆ คงไม่น่าจะได้เห็น พูดง่ายๆ ว่าการเลือกตั้งที่ออกแบบมาแบบนี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์ พรรคที่ได้ก็จะเป็นพรรคการเมือง นักการเมืองหน้าตาเดิมๆ เพียงแต่ย้ายพรรคย้ายค่ายกัน โดยครั้งนี้พรรคขนาดกลางที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด คือพรรคภูมิใจไทย

ต้องยอมรับว่าการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ถือเป็นการตัดทางเลือกของประชาชน เพราะที่ผ่านมาประชาชนมีทางเลือกสองทาง คือเลือกคนที่รัก กับเลือกพรรคการเมืองที่ชอบ

แต่เมื่อนำสูตรการคำนวณแบบนี้ไปผูกกับการเลือกตั้งด้วยบัตรเพียงหนึ่งใบ การได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันจึงเกิดขึ้นแน่นอน อีกทั้งสูตรการเลือกตั้งแบบนี้ หากทหารต้องการตั้งพรรคจริงๆ ก็ต้องมีคนออกค่าใช้จ่ายให้ ซึ่งวันนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก

ส่วนสูตรการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง พูดกันตามตรงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบเพื่อไม่ให้ระบบรัฐสภามีประสิทธิภาพ เกิดภาวะความไม่เสถียรของตัวระบบรัฐสภา ซึ่งพื้นฐานก็คือจำนวนส.ส. ที่แต่ละพรรคจะได้

เมื่อจำนวนส.ส.แกว่งได้ตลอดเวลา ประสิทธิภาพของฝ่ายนิติบัญญัติจึงไม่มี สอดรับด้วยตัวกำหนดคือ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ และพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจะมาตอบโจทย์ตรงนี้

ดังนั้น ถ้าเอาจิ๊กซอว์ของกฎหมายแต่ละตัวมาต่อกัน จะพบว่าประเทศของเราเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนให้ส.ส. จึงเป็นเหมือนเพียงละครหรือภาพลวงตา เพราะส.ส.ที่เลือกมาไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการทำตามนโยบายที่ตัวเองเคยสัญญาไว้ได้ เพราะระบบถูกออกแบบไว้แบบนี้

ส่วนการคำนวณแบบนี้จะทำให้พรรคเดียวได้ส.ส. 250 ที่นั่งเป็นเรื่องยากนั้น ต้องพูดกันตามตรงว่าระบบที่ออกแบบมาอย่างนี้ รัฐสภากับรัฐบาลไม่มีทางจะมีประสิทธิภาพจากการทำงานได้เลย

รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะมีสภาพคล้ายกับปี 2520-2530 ที่ต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการออกแบบไว้อยู่แล้ว

การออกแบบการคำนวณส.ส.ที่ซับซ้อนเช่นนี้ ทางออกมีอยู่ทางเดียว คือพรรคไหนที่มีนโยบายชัดเจนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องเลือกพรรคนั้นเยอะๆ เพราะกกต.เสนอสูตรมาแบบนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ ไม่มีทางดัดแปลงสูตรเป็นอย่างอื่นได้ ยิ่งดัดแปลงจะยิ่งซับซ้อน

ส่วนตัวก็ดีใจที่สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ว่าเมื่อคำนวณแบบนี้ พรรคที่เข้ามาอยู่ในรัฐสภาหรือไปเป็นรัฐบาลก็ไม่สามารถผลักดันนโยบายตัวเองได้อย่างแน่นอน

แล้วเราจะเลือกตั้งกันไปแบบนี้ จะอยู่กันไปกับระบบข้าราชการประจำเป็นใหญ่แบบนี้ มันไม่น่าจะใช่แล้ว เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน

สดศรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

กกต.จำเป็นที่ต้องคำนวณแบบนั้น ไม่เช่นนั้นส.ส.ก็จะเกินกว่า 500 คน หลักคำนวณเพื่อเฉลี่ยเพราะคะแนนที่เหลือจากส.ส.แบ่งเขตต้องเป็นของส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ว่าจะอย่างไรก็จำเป็นต้องใช้สูตรนี้ การคำนวณกกต.เก่งอยู่แล้วเพราะทำมานาน ไม่มีปัญหาอะไร

สำคัญคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดการเลือกตั้งเป็นแบบเยอรมัน ดังนั้น อาจไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว

หลักการของรัฐธรรมนูญคือต้องการรัฐบาลผสม แต่พรรคการเมืองของไทยผสมกันยากมาก อย่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย จะจับมือกันยากมาก คงต้องเอาพรรคเล็กหรือพรรคระดับกลางมาผสม จะทำให้รัฐบาลชุดหน้าอยู่ลำบาก

ส่วนกรณีกกต.ประกาศผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 ไปแล้ว ที่เหลือต้องมารับรองอีกร้อยละ 5 กกต.จะยึดการคำนวณคะแนนใหม่จากฐานส.ส. 500 คน และใน 1 ปี จะคำนวณคะแนนใหม่ทุกครั้งสำหรับการเลือกตั้งซ่อมในเขตที่มีการทุจริต ส่งผลให้คนที่อยู่ในลำดับท้ายของบัญชีรายชื่อ มีโอกาสหลุดออกจากส.ส.ได้นั้น

ตามหลักการแล้วไม่ถูกต้อง แต่เป็นวิธีการที่ต้องใช้การคำนวณแบบนี้เหมือนกับการเลือกตั้งปี’50 ที่มีระบบส.ส.แบบสัดส่วน การคำนวณก็เปลี่ยนแปลงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

การคำนวณแบบนี้เป็นข้อดีเพราะส่วนใหญ่คิดว่าลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อแล้วมีทางจะได้อยู่แล้ว แต่จากนี้จะเป็นเรื่องที่คาดเดากันยากในการเลือกตั้งซ่อม ผลของเรื่องนี้ก็ต้องโทษผู้ที่ร่างกฎหมายลูกออกมา

ส่วนข้อเสีย อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เพราะการประชุมสภาต้องได้ส.ส.ร้อยละ 95 ภายใน 2 เดือน กกต.ก็ต้องเร่งทำงานให้เร็วที่สุด หากมีการร้องเรียนก็ต้องรีบวินิจฉัย อาจทำให้กกต.ถูกฟ้องก่อนครบ 95 เปอร์เซ็นต์ก็ได้

เมื่อการคำนวณส.ส.และเกณฑ์ประกาศผลของกกต.ซับซ้อนยุ่งยาก ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องมาหารือให้ได้ข้อยุติ ทั้งกรธ. กกต.และพรรคการเมือง มาประชุมร่วมกันว่ามีข้อดีข้อเสีย มีข้อท้วงติงอย่างไร เหมือนคิดเลขก็คิดได้หลายวิธี อะไรถูกต้องเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดก็ต้องใช้วิธีนั้น เมื่อได้ข้อยุติพรรคการเมืองต้องยอมรับ

การหารือนี้ควรทำก่อนมีการเลือกตั้ง และกกต.ก็จะออกระเบียบอย่างเป็นทางการออกมา จะมาค้านทีหลังไม่ได้ ถ้าตกลงกันได้ทุกฝ่ายเรื่องก็จบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน