คอลัมน์ ใบตองแห้ง

พรรคเพื่อไทยพรรคก้าวไกลซัดกันหนัก ลามถึง “ติ่ง” ทั้งสองพรรค เรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งแม้ ส.ว.เฉไฉไปรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่รับร่างเพื่อไทย-พลังประชารัฐ แต่ก็กลับไปใช้บัตร 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ 2540 อยู่ดี

มองทีแรก เหมือนเป็นปัญหาท่าที เรื่องแค่นี้น่าจะคุยกันได้ เพื่อไทยก็บอกก้าวไกลสิว่า ตัวเลือกมีแค่ ก. กับ ข. ไม่ได้มี 3 ข้อให้เลือก คือมีแค่แบบ 60 กับ 40 แบบเยอรมันในฝันพรรครัฐบาลพรรค ส.ว.ไม่ยอมหรอก “กำขี้ดีกว่ากำตด” เอาแบบ 40 ไว้ก่อน เรื่องคิดต่างไว้ถกกันทีหลัง

แต่นี่ดูเหมือนจะไม่คุยกัน แล้วต่างคนก็ต่างยืนยันระบบตัวเองดีกว่า FC ก็บานด่าหวงเก้าอี้ กอดที่นั่ง ส.ส. ทั้งที่ก้าวไกลมีความชอบธรรมที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนที่เลือกตน ว่าถ้าเลือกพรรคนี้ 10% เขาก็ควรมีผู้แทน 10% ของสภา

ซึ่งไม่ใช่ปกป้องตนเองเพราะถ้าวันหน้าคนไม่เลือกพรรคก้าวไกล หันไปเลือกพรรคก้าวล่วงของครูใหญ่ ก็ควรได้ ส.ส.ตามสัดส่วนเช่นกัน

เพื่อไทยก็มีสิทธิที่จะบอกว่า ระบบ 40 ทำให้คะแนนเสียงฝ่ายประชาธิปไตยเป็นปึกแผ่น สถานการณ์อย่างนี้ต้องการพรรคเข้มแข็ง ถ้าชนะก็เป็นรัฐบาลเข้มแข็ง จึงสามารถบริหารประเทศได้ เหมือนนักวิชาการบางคนก็ว่าระบบเยอรมันทำให้เกิดรัฐบาลผสม ไม่เหมาะกับสังคมไทย

แต่ก็โดนย้อนเจ็บ พรรคเข้มแข็งแล้วไง นิรโทษสุดซอย

เพื่อไทยอนาคตใหม่เป็นคู่แข่งกันตั้งแต่เริ่มต้น แม้ดูเหมือนแบ่งคนละตลาด เพื่อไทยจับตลาดใหญ่ทั้งเสื้อแดงในชนบทและคนวงกว้างที่เชื่อฝีมือบริหารเศรษฐกิจ อนาคตใหม่จับคนรุ่นใหม่ต่อต้านอำนาจอนุรักษนิยม ไปจนคนชั้นกลางในเมืองที่ไม่เอาประยุทธ์แต่ยังไม่ชอบทักษิณ

แต่ลึกกว่านั้นก็มีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจตั้งแต่ต้น เพราะอนาคตใหม่ทั้งผู้ก่อตั้งทั้งผู้สนับสนุน มาจากฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันที่ “ผิดหวังเพื่อไทย” อึดอัดคับข้องตั้งแต่ปี 54-56 ว่าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็ “สู้ไปประนีประนอมไป” ทำอะไรไม่สำเร็จ จนนิรโทษสุดซอยพาพัง

พอเข้าสู่เลือกตั้ง พรรคไทยรักษาชาติยังเสนอ “แคนดิเดตนายกฯ” ที่ตกตะลึงทั้งประเทศ ธนาธร ปิยบุตร ประกาศทันที “ไม่เห็นด้วย” ฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่ชอบวิธีอย่างนี้ ก็ทิ้งเพื่อไทยไปเทคะแนนให้ล้นหลาม

คะแนนอนาคตใหม่ปี 62 ไม่ใช่แค่เขต ทษช.ถูกยุบ แต่มาจากฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันที่ผิดหวัง เครดิตเพื่อไทยลดต่ำ บวกกับคนรุ่นใหม่ หรือคนชั้นกลางที่ไม่เอาประยุทธ์ไม่เอาทักษิณเบื่อแมลงสาบ อนาคตใหม่จึงชนะเพื่อไทยในบางเขต

อันที่จริง การที่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยจะแยกเป็นหลายพรรค ขบวนประชาธิปไตยมีหลายเฉด หรือพรรคอนุรักษนิยมมีหลายเฉด ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย แต่การต่อสู้ 15 ปีทำให้คนคิดแต่ว่าจะต้องมีเอกภาพจะต้องแพ็กกัน ไม่มองว่า 15 ปีนั่นแหละทำให้เกิดความแตกต่าง ทุก Movement ของสังคมต้องมี “แถวหน้า” คู่ไปกับขบวนใหญ่ที่เข้าถึงคนวงกว้าง

มองในมุมของพรรคเพื่อไทย พวกเขาวางตัวเป็นพรรคมหาชน ชูประชาธิปไตยกินได้ ทำให้ประชาชนตระหนักในอำนาจ เพื่อไทยหาเสียงกับคนวงกว้าง สร้างความเชื่อมั่นว่าจะทำให้ปากท้องดีขึ้นได้ด้วยรัฐบาลจากเลือกตั้ง ด้วยวิถีทางเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยจึงไม่ใช่พรรคที่ชนะเข้ามาแล้วท้ารบท้าชน แต่ต้องผลักดันไปทีละอย่าง แบบ compromise “ไม่แก้แค้นแต่แก้ไข” เพื่อดึงสังคมไปด้วยกัน

อย่าแปลกใจถ้าการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อไทยจะเสนอนโยบายประกันรายได้ ทำเศรษฐกิจให้รุ่งเรือง ทางการเมืองแม้ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ก็จะหาทางประนีประนอมกับคนรุ่นใหม่ หาทางลดความขัดแย้งลง ไม่งั้นประเทศไปต่อไม่ได้

ซึ่งก็จริง ไม่งั้นประเทศไปต่อไม่ได้ เพื่อไทยต้องทำ deal อย่างนี้

แต่ทุกครั้งที่เป็นรัฐบาล ความเป็นพรรคใหญ่นักการเมืองหลากหลาย เพื่อไทยก็มีปัญหาเสมอในการดำเนินยุทธศาสตร์ การรักษาเป้าหมายเข็มมุ่ง รักษาสมดุลระหว่างการต่อสู้กับประนีประนอม จึงโดนด่าว่าทำอะไรไม่สำเร็จ พังก่อน

มองในมุมก้าวไกล ก็เป็นพรรคแถวหน้า ตัวแทนคนรุ่นใหม่คนที่ต้องการปฏิรูปถึงโครงสร้าง ซึ่งเป็นพลังอนาคตแต่ยังไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ ยังอ่อนประสบการณ์ ในการประสานเข้ากับการเมืองที่เป็นจริง การจำกัดตัวเองเป็นพรรคอุดมคติ ก็ไม่สามารถต่อสู้ในระบบ ส.ส.เขตที่ต้องมี tactic มากมาย

แต่การเกิดอนาคตใหม่ก้าวไกล ก็กระตุ้นเพื่อไทยให้ปรับตัว เช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจปี 64 คุณภาพผิดหูผิดตาจากปี 63 เช่นเดียวกับการเกิดม็อบคนรุ่นใหม่ ก็กระชากเพื่อไทยให้ต้องไปข้างหน้า

ถึงแม้ระบบเลือกตั้งเปลี่ยนกลับ ก้าวไกลลงไปเป็นพรรคต่ำยี่สิบ แต่ขบวนประชาธิปไตยก็เปลี่ยนไปแล้ว เพื่อไทยไม่สามารถเป็น “ประชาธิปไตยพรรคเดียว” อีกต่อไป ฝ่ายประชาธิปไตยที่พร้อมจะเทคะแนน ส.ส.เขตให้เพื่อไทย ไม่ยอมมอบอำนาจให้ตัดสินใจเพียงผู้เดียวแล้ว

นั่นเป็นความก้าวหน้าของขบวนประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน