FootNote : สัมพันธภาพ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ พลังประชารัฐ

ไม่ว่าจะเป็นการเชิญตัว นายสันติ พร้อมพัฒน์ เข้าทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเชิญตัว นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เข้าทำเนียบรัฐบาล ล้วนอยู่ในสายตาของสังคม
เพราะว่าเป็นการเชิญเข้าทำเนียบรัฐบาลโดยคำบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คำถามก็คือ เป็นการเชิญเข้าไปโดย “สถานะ” อะไร
หากเป็นการเชิญ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ชอบด้วยเหตุผล หากเป็นการเชิญ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งเป็นรัฐมนตรียุติธรรมก็ชอบด้วยเหตุผล
จึงไม่แปลกที่จะมีแถลงจากโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่าเป็นการเชิญ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ไปหารือเรื่องเศรษฐกิจ เป็นการเชิญ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ไปหาเรือเรื่องงานยุติธรรม
กระนั้น ภายในการเชิญครั้งนี้ก็มากด้วยความละเอียดอ่อนไหว
เนื่องจากสถานะหนึ่งทั้งของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ทั้งของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ล้วนสัมพันธ์อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
ทั้งในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการพรรค

ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
การเชิญรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเข้าพบโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงตกอยู่ในความสนใจของสังคม
เพราะว่าการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากรัฐมนตรีโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนถึง ความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรีกับพรรคพลังประชารัฐ
เป็นการปลดรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐออกจากตำแหน่งโดย มิได้มีการสอบถาม หารือกับพรรคพลังประชารัฐมาก่อน
การมีปฏิสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐจึงมีความอ่อนไหว

แม้พรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แม้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐจะคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีตำแหน่งใดๆภายในพรรค
การเชิญบุคคลของพรรคพลังประชารัฐเข้าพบจึงเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีมิได้หมายถึงพรรค
ความอ่อนไหวนี้ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เข้าใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน