คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ขบวนแบกเสลี่ยง

ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นประเด็นตัวอย่างล่าสุดถึงการปะทะกันทางความคิดระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยม กับกลุ่มหัวก้าวหน้า หรือเสรีนิยม

ประเด็นนี้จึงไม่ได้ถกเถียงกันเฉพาะกลุ่มนิสิตปัจจุบันหรือนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่งานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์เท่านั้น

หากสะท้อนถึงความคิด ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ไปจนถึงข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง

มีศิษย์เก่าจุฬาฯ หลายคนที่มีตำแหน่งทางการเมืองและสถานะสูงทางสังคมไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก

แต่ก็มีอีกหลายคน รวมถึงคนที่เคยอัญเชิญพระเกี้ยวและคนแบกเสลี่ยงที่เห็นด้วยว่าควรยกเลิก

การถกเถียงเรื่องขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวครั้งนี้ ไม่ได้แบ่งแยกด้วยอายุ ไม่ได้เกิดจากช่องว่างระหว่างรุ่นของนิสิตเก่า-นิสิตปัจจุบัน หากเป็นแบ่งแยกทางความคิดอย่างชัดเจน

หัวข้อถกเถียงกันระหว่างแก่นแท้ของกิจกรรม กับการแสดงสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

โดยเฉพาะการตั้งประเด็นถึงวิธีการแบกเสลี่ยงแบบโบราณ ว่าล้าหลัง สนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม ขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน

เป็นที่มาของการลงมติโดยคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ 29 ต่อ 0 ให้ยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม

มีข้อสังเกตว่า การถกเถียงถึงประเด็นยกเลิกหรือสานต่อขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ได้รับความสนใจเป็นแนวทางเดียวกับการจุดประเด็นเรื่องปฏิรูปการศึกษา การเรียกร้องให้แก้ไขกฎเกณฑ์ ชุดเครื่องแบบและข้อกำหนดทรงผมของกลุ่มเด็ก นักเรียนมัธยมฯ ที่เคลื่อนไหวใหญ่ตั้งแต่ปี 2563

รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่ขัดแย้งหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีความเป็นสากล

กรณีขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว แม้ว่าคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ลงมติให้ยกเลิก ส่วนสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ แถลงในทิศทางตรงกันข้ามว่าให้มีการสืบสานขบวนดังกล่าวต่อไป

หากใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยตัดสิน โดยดูที่มาขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ว่ามาจากการเลือกตั้งของนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย เรื่องนี้จะหาบทสรุปได้ไม่ยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน