คอลัมน์ ใบตองแห้ง

‘ล้มล้าง’ แล้วกวาดล้าง?

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ “ปฏิรูป=ล้มล้าง” จะทำให้ประเทศสงบหรือไม่

ไม่ทันข้ามวัน เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญก็โดนแฮ็ก กลายเป็นมิวสิควิดีโอเพลง Guillotine และ Kangaroo Court โดยยังไม่ทราบเป็นฝีมือ “เครือข่าย” ไหน

ในมุมกฎหมาย มีผู้วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยมากมาย คงเขียนตำราได้เล่มใหญ่ และถ้าจะเอาผิดคนละเมิดอำนาจศาลในโลกออนไลน์ เอาจริงๆ คงได้เป็นแสน

แต่คำถามคือ ในมุมการเมือง จะทำให้ความขัดแย้งจบลงหรือไม่ ยุติการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่ หรือยิ่งถูกฉวยไปใช้ให้สถานการณ์บานปลาย

“เรากังวลมากว่าคำวินิจฉัยของศาลจะเป็นฐานทางการเมืองให้เอาข้อหาล้มล้างการปกครองไปใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่มีขอบเขต และบิดเบือนกฎหมาย” ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าว

ทั้งนี้เพราะคำวินิจฉัยของศาลตามที่อ่านคำแถลง และตามที่แถลงข่าว (ซึ่งไม่ตรงกัน ตัดข้อความบางตอนออก) ยังเปิดช่องให้ตีความได้กว้าง และยังไม่มีคำตอบชัดเจนในหลายประเด็น (ต้องรอดูคำวินิจฉัยกลาง)

ในแง่เนื้อหา 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ข้อไหนเรียกร้องได้? ข้อไหนเรียกร้องไม่ได้? ศาลชี้เฉพาะข้อแรก ห้ามยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งศาลบรรยายจนเกิดคำถามเซ็งแซ่ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มีความหมายอย่างไรแน่

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ผิดหมดทั้ง 10 ข้อหรือไม่ การเสนอยกเลิกหรือแก้ไข 112 เป็นการ “ล้มล้าง” หรือไม่ ศาลยังไม่ได้ชี้ ขณะที่ วิษณุ เครืองาม เคยบอกว่าทำได้ตามขั้นตอนปกติของสภา เหมือนกฎหมายทั่วไป

ข้อ 10 เรียกร้องมิให้ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองรัฐประหาร ถ้าศาลจะชี้ว่า “ล้มล้าง” ก็คงประหลาดเกินไป ในเมื่อรัฐประหารนั่นแหละคือ “ล้มล้าง” แต่ประยุทธ์นิรโทษตัวเองได้

แต่ตอนนี้ บรรดาผู้สอพลอสนับสนุนรัฐประหาร “ล้มล้าง” แห่ออกมาตั้งข้อหาว่าใครเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ใครเรียกร้อง 10 ข้อ ใครเสนอยกเลิกแก้ไข 112 เท่ากับ “ล้มล้าง” หมด

ในแง่พฤติกรรม ผู้ร้องขอให้วินิจฉัยการปราศรัยของอานนท์ ไมค์ รุ้ง ในม็อบ 16 สิงหา 2563 และสั่งหยุดการกระทำ แต่ศาลวินิจฉัยพฤติการณ์ต่อเนื่อง ว่ามีการกระทำเป็นเครือข่าย ขบวนการ ใช้คำหยาบ ใช้ข้อมูลเท็จ ก่อความรุนแรง แม้คนทั้งสามไม่ได้ขึ้นปราศรัย เปลี่ยนตัวแกนนำ หรือม็อบไม่มีแกนนำ แล้วสั่งให้องค์กรเครือข่ายหยุดการกระทำถึงอนาคต

คำวินิจฉัยส่วนนี้กว้างมาก ทำให้อำนาจรัฐสามารถตั้งข้อหาล้มล้างการปกครองกับม็อบราษฎร ม็อบแนวร่วมธรรมศาสตร์ ม็อบเยาวชนปลดแอก ม็อบ REDEM ม็อบทะลุฟ้า แกนนำทั้งหมด หรือแม้แต่ผู้เข้าร่วม

แม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบ แม้แกนนำไม่ได้พูดคำหยาบ ไม่ได้ใช้ข้อมูลเท็จ ไม่ได้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ถ้าเกิดเหตุเช่นนั้นในการชุมนุม อำนาจรัฐก็อาจตีความว่าทั้งแกนนำและผู้เข้าร่วมมี “เจตนาซ่อนเร้น” “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” ต้องไปต่อสู้คดีในศาลเอาเอง

ใครบ้างเป็นองค์กร เครือข่าย ขบวนการ เมื่อศาลไม่ระบุ “นักร้อง” ก็จะแห่ออกมาแจ้งความเหวี่ยงแห เช่นที่ร้องยุบพรรคก้าวไกล

นั่นคือผลพวงที่จะบานปลายจากการฉวยคำวินิจฉัยไปใช้ ขณะที่ตัวคำวินิจฉัยเอง ไม่ว่าจะเห็นด้วยเห็นต่างทางกฎหมายอย่างไร ก็ไม่ได้ยุติความขัดแย้งเช่นกัน ยิ่งบีบบังคับให้ไปสู่การแตกหัก ทั้งที่โดยสภาพสังคมไทยแตกหักไม่ได้

คำประกาศ 10 ข้อเวทีธรรมศาสตร์ มองในทัศนะคนรุ่นเก่า มองในทัศนะ elite ก็เข้าใจดีว่าช็อก! รับไม่ได้ เห็นคนรุ่นใหม่ Radical

แต่จะรับมืออย่างไร จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร จะพูดคุยอย่างไร ปรับความเข้าใจให้ลดอุณหภูมิลง

ปีกว่าผ่านไป ไม่เห็นการปรับความเข้าใจเลย เห็นแต่การประกาศศึก ยอมหักไม่ยอมงอ ใช้กำลังบังคับ ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรงกับการชุมนุม ทั้งที่ควรจะรู้ว่าเท่ากับยิ่งผลักให้ไปยืนตรงข้าม

สถานการณ์หลังคำวินิจฉัยศาลก็เป็นเช่นนั้น คือยิ่งบังคับให้แตกหัก เพราะรู้ดีว่าคนรุ่นใหม่แตกหักไม่ได้ มีแต่ยิ่งถูกปราบ ถูกบดขยี้ โดยไม่แยแสว่าจะเกิดอะไรในอนาคต เพราะวันนี้ เครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยมเข้มแข็งเป็นเอกภาพ

หากอำนาจรัฐใช้ข้อหาล้มล้างการปกครองเล่นงานประชาชนอย่างกว้างขวาง ยุบพรรคการเมือง เอาผิดผู้คนและองค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนการชุมนุม ก็จะไม่ต่างกับการเกิด 6 ตุลา 2519 รอบใหม่ แต่ครั้งนี้ไม่ได้ใช้กระทิงแดงลูกเสือชาวบ้าน เป็น 6 ตุลาที่ใช้กฎหมายเป็น “เก้าอี้ฟาด” โดยไม่แยแสว่าจะทำให้กระบวนการยุติธรรมเสื่อมเพียงไร ไม่แยแสว่าแตกหักแล้วจะถูกต่อต้าน เพราะโลกยุคปัจจุบันคนรุ่นใหม่เข้าป่าจับปืนเหมือนยุค 6 ตุลาไม่ได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พึงระวังว่าจะไม่เหมือนกันคือหลัง 6 ตุลา 2519 ชนชั้นนำปรับตัวได้ ทำให้คนรุ่นใหม่ในตอนนั้นเป็น Lost Generation คนรุ่นถัดมาก็กลายเป็นพลังอนุรักษนิยม

แต่ยุคปัจจุบัน ถ้าใช้กำลังบดขยี้แล้วหวังควบคุมความคิดคนรุ่นต่อๆ ไปด้วยการเปิดเพลงบ้านเกิดเมืองนอน ก็มีคำถามว่าอำนาจนี้จะเป็นเอกภาพได้อีกกี่ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน