FootNote : กระแสกด ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.”

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวอันมาจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวอันมาจาก นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวอันมาจาก น.ส.รสนา โตสิตระกูล ล้วนมีผลสะเทือน

เหมือนกับผลสะเทือนจะอยู่ที่ตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ยึดครองอยู่

กระนั้นการเข้ายึดครองตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เมื่อปี 2559 เป็นการเข้ายึดครองตำแหน่งอันเป็นของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

การดำรงอยู่จึงมิได้เป็นไปอย่างปรกติ

เนื่องจากเป็นการยึดครองโดยอาศัยอำนาจของมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ของ คสช.

อันมีผลทำให้ทั้ง ส.ก.และผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากการเลือกตั้งต้องสิ้นสุดลง

อำนาจนั้นเป็นอำนาจของคสช.และบริหารจัดการโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ตั้งแต่ปี 2559 กระทั่ง 2564

การอยู่ในอำนาจของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จึงไม่ปรกติ

ทั้งยังเป็นลักษณะ “อ-ปรกติ” อันเป็นไปตามคำบงการโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ยิ่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีการเคลื่อนไหว ประสานกับบทบาทของ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างแนบแน่น

บทบาทและการเคลื่อนไหวย่อมมากด้วยพลานุภาพ

เป็นพลานุภาพอันกระทบต่อการดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง โดยตรง

ขณะเดียวกัน หนทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสมคบคิดกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในการหน่วง ถ่วงและยื้อเวลาในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จะยิ่งกลายเป็นคำถาม

เป็นคำถามถึงเป้าหมายอย่างแท้จริงของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีความจริงใจมากน้อยเพียงใด

หรือเพียงเพราะต้องการรักษา “อำนาจ” เอาไว้ให้ยาวนาน

ที่เคยประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ประมาณต้นปี 2566 จึงไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นจริงในทางการเมืองซึ่งงวดเข้ามาเป็นลำดับ

เชื่อได้เลยว่าไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 จะต้องมีการเลือกตั้ง

กระแสเรียกร้องและความต้องการของคนกรุงเทพมหานครนั้นเองจะกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องตัดสินใจ

ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ต้องการจะให้มีการเลือกตั้งก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน