FootNote สถานะความมั่นคงของ “รัฐบาล” ณ สถานการณ์ ข้าวยากหมากแพง

ถามว่าแรงบ่อนเซาะอย่างสำคัญ 1 อันนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่เรียกว่าสถานการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาจากปัจจัยอะไร
คำตอบก็คือ ความเดือดร้อนในทาง “เศรษฐกิจ” ชีวิตของคน
เห็นได้จากราคาข้าวสารที่พุ่งทะยานเป็นอย่างสูงจนชาวบ้านต้องมาเข้าคิวรอซื้อข้าวสารที่กระทรวงพาณิชย์
ถามว่าแรงบ่อนเซาะอย่างสำคัญ 1 อันนำไปสู่การเคลื่อนไหว ต่อต้านและขับไล่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปลายปี 2522 มาจากปัจจัยอะไร
คำตอบก็คือ มาจากปัจจัย “น้ำมัน” ขึ้นราคาส่งผลสะเทือนไปถึงสินค้าขาดแคลนและราคาทะยานขึ้นสูงลิ่ว ผู้ใช้แรงงานรวมกลุ่มกันก่อหวอดประท้วง
การประท้วงของประชาชนจากปัญหาเศรษฐกิจนำไปสู่การจะเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ
ตรงนี้แหละที่กดทับต่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
กระทั่ง ในที่สุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางที่ประชุมรัฐสภา

หากนำเอาความเดือดร้อนก่อนเกิดสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร มาเปรียบเทียบกับความเดือดร้อนที่เห็นกันในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หากนำความเดือดร้อนก่อน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกมาเทียบกับในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นักการเมืองที่เคยอยู่ในสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 อย่าง นายชวน หลีกภัย ย่อมมีคำตอบ นักวิชาการที่เคยทำงานกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อย่าง นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ย่อมมีคำตอบ
ไม่จำเป็นต้องถามไปยัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ย่อมตระหนักว่าวิถีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไร

คำถามจึงมิได้อยู่ที่ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถอยู่ได้อย่างไร เพราะแม้พรรคพลังประชารัฐจะยังเห็นชอบด้วย แต่พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะสงสัย
เพราะเสียงร้องของ “ประชาชน” ก็ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง อึงคะนึง
เด่นชัดยิ่งว่า เป็นการรักษา “อำนาจ” โดยที่ไม่มีคำตอบอันเด่นชัดว่าจะสามารถคลี่คลายความเดือดร้อนของประชาชนได้
“เสียง” แห่งเดือดร้อนกำลังจะแปรเป็นความไม่พอใจมากขึ้นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน