FootNote : ชะตากรรม พันธมิตร กปปส. สนามเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.”

การหลุดจากเฟรมแทบจะทุกการสำรวจของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล กำลังเป็นคำถามอันสร้างความวิตกเป็นอย่างสูงในทางการเมือง หากมองจากบทบาทและการเคลื่อนไหวจากใน “อดีต”

ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อออกมาเปิดโปงในเรื่องการทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อออกมาต้านการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยนำเข้าตลาดหลักทรัพย์

โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านคะแนนและความนิยมที่เคยได้รับจากคนกรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนสูงถึง 700,000 จากการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

แต่เมื่อปวารณาตนลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็น “ผู้ว่าฯกทม.” กลับไม่ได้รับความความสนใจ คะแนนน้อยกว่า นายสกลธี ภัททิยกุล และ น.ต.ศิธา ทิวารี

กลายเป็นผู้สมัครคนหนึ่งที่ถูกมองข้าม แม้ว่าจะได้รับการหนุนเสริมจากแกนนำคนสำคัญหลายคนของพันธมิตร

สภาพการณ์ที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล กำลังประสบในทางการเมือง จึงสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

บทเรียนของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล มิได้เป็นเรื่องใหม่ ตรงกันข้ามได้มีคนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และมวลมหาประชาชน กปปส.เคยประสบมาแล้วด้วยความเจ็บปวด

สัมผัสได้จากความล้มเหลวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากการจัดตั้ง “พรรคการเมืองใหม่”

จากการริเริ่มของ นายสุริยะใส กตะศิลา การขานรับจาก นายสนธิ ลิ้มทองกุล แต่แล้วพรรคการเมืองใหม่ ก็ไม่ได้รับการขานรับ และก็จบลงด้วยความขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง

ยิ่งกรณีของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่กลายเป็นพรรครวมพลังในปัจจุบัน ยิ่งมองเห็นลางแห่งหายนะตามมาในอีกไม่นาน

การออกโรงถามหาคะแนนและความนิยมต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล จากแกนนำคนสำคัญพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายต่อหลายคน สะท้อนให้เห็นความไม่ตระหนัก ความไม่เข้าใจ

เหมือนกับสายตาที่มองไปยัง นายสกลธี ภัททิยกุล ในปัจจุบัน

ยิ่งมีการรื้อฟื้น “อดีต” ไม่ว่าของ นายสกลธี ภัททิยกุล ไม่ว่าของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ออกมาลึกเพียงใด ยิ่งเกิดคำถามเพิ่มความสงสัยในทางการเมือง

คำถามจากรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องรัฐประหาร 2557

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน