สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน คณะรัฐบาลใหม่นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญกับเกมนิติสงครามอย่างรุนแรง ทั้งที่ยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่เต็มอำนาจ

เป็นเกมนิติสงครามของคนบางกลุ่ม และบางพรรคที่ถูกเรียกเป็นฝ่ายแค้น มากกว่าเป็นฝ่ายค้าน ที่เดินเกมต่อเนื่องหลังโค่นอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นผลสำเร็จภายในระยะเวลา 1 ปีเศษหลังเลือกตั้งพ.ค.66

หากเทียบกับรัฐบาลในอดีตตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงล่าสุดยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

มีการประเมินว่า เกมนิติสงครามที่รัฐบาลแพทองธาร ต้องเผชิญ อาจมีความรุนแรงยิ่งกว่าครั้งใดๆ

รัฐบาลแพทองธาร ยังไม่ทันเข้าทำงาน พรรคฝ่ายแค้นก็ส่งนักร้องในเครือข่าย ลุยยื่นสอยนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงร้องยุบพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล

ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ กกต. และป.ป.ช. รวมแล้วเกือบ 10 คำร้อง และคาดว่าจะมีทยอยเพิ่มตามมาอีกในอนาคต

แม้ในคำร้องจะพุ่งเป้าไปยังนายกฯ แพทองธาร ด้วยข้อกล่าวหาถูกครอบงำจากอดีตนายกฯ ผู้เป็นบิดา และข้อกล่าวหาด้านจริยธรรมในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ซึ่งเป็นการยึดรูปแบบโมเดลเดียวกับที่เคยใช้เป็นเครื่องมือสอยนายกฯ เศรษฐา ออกจากตำแหน่ง ครั้งนี้ยังมีการเชื่อมโยงขยายผลด้านคุณสมบัติไปถึงรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลคนอื่นๆ อีกด้วย โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่นายกฯ แพทองธาร

ในคำแถลงนโยบายรัฐบาล ตอนหนึ่งระบุถึงความท้าทาย 9 ประการที่ไทยกำลังเผชิญ

หนึ่งในนั้นคือ การที่ไทยเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนานอันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้ว รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจแบบที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศได้รับผลกระทบกระเทือนรุนแรง

ทั้งนี้ แม้การยื่นร้องถอดถอนรัฐบาล สามารถทำได้ตามที่ข้อกฎหมายเปิดช่องให้ไว้ แต่การจะได้รับการสนับสนุนเห็นด้วยจากประชาชนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำร้องนั้นมีเหตุผลข้อเท็จจริงเพียงใด

หากเป็นไปเพื่อแก้แค้นส่วนตัว แล้วทำให้ประเทศติดหล่ม ประชาชนก็ยอมรับไม่ได้เช่นกัน และเห็นว่าการมีกฎหมายเพื่อควบคุมจำกัดพฤติกรรมของนักร้องรับจ้างประเภทนี้ อาจเป็นเรื่องจำเป็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน