เมื่อวันที่ 21 ก.พ. กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จ.ชุมพร ประมาณ 40 คน นำโดยนางวัชรี จันทร์ช่วง ผู้ประสานงานกลุ่มฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ตรวจสอบการสนับสนุนโครงการเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร และการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนตำบลสองพี่น้อง อ.ท่าแซะ

โดยนางวัชรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2551 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมเพราะมีโครงการแก้มลิงหนองใหญ่และคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมากลับมีกระแสข่าวว่าจะมีการเดินหน้าสร้างเขื่อนอีกทำให้ชาวบ้านเริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ซึ่งวันที่ 9 ม.ค. ก็มีทหารไปที่บ้านของแกนนำชาวบ้านคนหนึ่งพร้อมกับพูดในทำนองข่มขู่ว่าอย่าพาชาวบ้านออกมาคัดค้าน

จากนั้นวันที่ 9 ก.พ. ก็มีการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กรมชลประทาน กรมป่าไม้ ผู้นำท้องถิ่น และนายทหารจากมณฑลทหารบกที่ 44 ในค่ายเขตอุดมศักดิ์เพื่อที่จะผลักดันการสร้างเขื่อนท่าแซะ และให้ผู้นำท้องถิ่นและกรมชลประทาน เข้าสำรวจพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ โดยไม่ได้ถามชาวบ้านว่าต้องการเขื่อนหรือไม่ ต่อมาวันที่ 19 ก.พ. ทหารจากมณฑลทหารราบที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 นำกำลังทหารพร้อมอาวุธจำนวน 20 นาย เดินทางไปในพื้นที่เพื่อเชิญตัวแกนนำกลุ่มผู้คัดค้านจำนวน 15 รายไปคุยที่ค่ายเขตอุดมศักดิ์

แต่ชาวบ้านเห็นว่าถ้าจะพูดคุยกันควรเป็นการคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ชาวบ้านกว่า 200 คนจึงเดินทางไปค่ายเขตอุดมศักดิ์ในวันที่ 20 ก.พ. เมื่อพูดคุยกันแล้วชาวบ้านได้แสดงเจตนาว่าจะเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนต่อรัฐบาล และยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิกรณีถูกข่มขู่ และละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่ แต่ช่วงค่ำระหว่างจะเดินทางก็กลับถูกทหารสกัดกั้น จนชาวบ้านต้องใช้วิธีแยกย้ายกันเดินทางทางในเส้นทางอื่นเพื่อมายื่นหนังสือต่อ 2 หน่วยงานในเช้าวันนี้

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการกสม. ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการพัฒนาของชุมชน และเป็นการละเมิดเสรีภาพในการเดินทาง ส่วนกรณีการคัดค้านเขื่อนท่าแซะนั้น ชาวบ้านได้เคยยื่นเรื่องร้องเรียนมายัง กสม. แล้ว ตั้งแต่เดือนก.พ. 2559 และ กสม. เคยประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่รวมทั้งกรมชลประทาน

โดยมีมติร่วมกันเมื่อเดือนก.ค. 2559 ดังนี้ 1. ตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์การบริหารจัดการลุ่มน้ำชุมพรโดยประชาชนมีส่วนร่วม 2.ให้กรมชลประทานชะลอโครงการเขื่อนท่าแซะก่อน และ 3. ให้หน่วยงานระดับจังหวัดและกรมชลประทานร่วมกันแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม อย่างไรก็พบว่าขณะนี้ยังมีความพยายามเดินหน้าการสร้างเขื่อนซึ่งขัดกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 ที่ให้ชะลอโครงการดังกล่าวเอาไว้ก่อนด้วย กสม. จึงจะรับเรื่องไว้พิจารณาเพิ่มเติม ทั้งนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการตรวจสอบอย่างเร่งด่วนเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ โครงงการเขื่อนท่าแซะ เป็นโครงการสร้างเขื่อนความจุประมาณ 157 ล้านลบ.ม. บนพื้นที่น้ำท่วม 6,800 ไร่ โดยจะทำให้เกิดน้ำท่วมเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่ากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ประมาณ 1,600 ไร่ และส่งผลกระทบต่อที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพรประมาณ 500 ครัวเรือน โดยที่ผ่านมาชาวบ้านเสนอให้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบของฝายชุมชน-ฝายมีชีวิตตามลุ่มน้ำสาขาขนาดเล็กแทน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน