ไอลอว์ เผยยกเลิกเกณฑ์ทหารไม่ง่าย ต้องแก้กม. 2 ฉบับ อาจถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญ

กระแสเรียกร้องให้ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ถูกพูดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยมีพรรคการเมืองนำไปใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง พร้อมเสนอว่าเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจแทน เนื่องจากจะได้คนที่มีความพร้อมเข้าไปทำหน้าที่มากกว่า ใช้การเกณฑ์ ซึ่งบางคนนอกจากไม่เต็มใจแล้ว ยังไม่พร้อมที่จะเป็นทหารอีกด้วย

อย่างไรก็ดีการจะยกเลิกเกณฑ์ทหารนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดย ไอลอว์ (iLaw) นำเสนอความเห็นทางกฎหมายในเรื่องนี้ ความว่า

#ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ไม่ง่าย สุดท้ายอาจต้องแก้รัฐธรรมนูญ

ยังจำได้ไหม? ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบาย #ปฏิรูปกองทัพ โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’ เพราะภายใต้เหตุผลทางความมั่นคงของชาติ กลับซุกซ่อนไปด้วยความเหลื่อมล้ำและการคอร์รัปชัน

บางคนที่ต้องไปเป็นทหารเกณฑ์เกิดจากความไม่เท่าเทียมกัน คนที่มีฐานะเพียงพออาจเลือกใช้ทางลัด เช่น การเสียค่าเล่าเรียนเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.) ยังไม่รวมข้อครหา ‘ติดสินบน’ ที่แม้ไม่เคยมีการลงโทษผู้กระทำชัดๆ สักครั้ง แต่คนก็พูดถึงกันไปทั่ว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ไหนจะเรื่องการเกณฑ์ทหารที่ไม่ได้ถูกพาตัวไปรับใช้ชาติ แต่ไปรับใช้นายทหารระดับสูงหรือทำภารกิจให้ผู้บังคับบัญชามากกว่ากองทัพ หรือการฝึกอันหฤโหดจนมีทหารบางคนเสียชีวิตในค่ายทหาร ยังไม่รวมค่าเสียโอกาสของทหารเกณฑ์ที่มีโอกาสทำรายได้เพื่อหาเลี้ยงจุนเจื้อครอบครัวในรูปแบบอื่นๆ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้พรรคการเมืองอย่างน้อย 4 พรรค ประกาศนโยบายในการ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่เปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจ มีหลักประกันทางรายได้ มีความมั่นคง ก้าวหน้า ปลอดภัย และกลายเป็นทหารอาชีพในอนาคต

โดยพรรคที่มีรูปธรรมชัดเจนที่สุด มีอย่างน้อย 2 พรรค ได้แก่

1) #พรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเพิ่มแรงจูงใจให้คนมาสมัครเป็นทหารและให้ระหว่างเกณฑ์ทหารมีการฝึกทักษะอาชีพด้านอื่นๆ ยกระดับบุคคลที่ได้รับการเกณ์ทหาร อาทิ มีใบรับรองการผ่านเกณฑ์ทหาร นอกจากนี้ยังให้ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ว่า ลูกหลานที่เกณฑ์ทหารมีความเป็นไปอย่างไร

2) #พรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องการใช้ระบบสมัครใจเป็นทหาร แต่ยังคงเรื่องเกณฑ์ทหารไว้เฉพาะภาวะสงคราม แต่ในสถานการณ์ปกติ อนาคตใหม่สนับสนุนให้ใช้ระบบสมัครใจมากกว่าระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้เป็นหน้าที่ของชายไทย และเสนอให้ขยายระยะเวลาในการเป็นทหารเกณฑ์จาก 2 เป็น 5 ปี แต่จะได้รับค่าตอบแทน ทุนการศึกษาต่อ รวมถึงได้รับการอบรมความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในระหว่างถูกฝึกอยู่ด้วย

ส่วนอีก 2 พรรคที่มีแนวคิดยกเลิกการเกณฑ์ทหารแต่ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนมากนักคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคเสรีรวมไทย

แต่อย่างไรก็ดี การจะยกเลิกนโยบายการเกณฑ์ทหารจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 และ รัฐธรรมนูญปี 2560

หากจะแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ พรรคการเมืองต้องรวมเสียงกันให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือ อย่างน้อย 251 เสียง จึงจะแก้ไขกฎหมาย รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ได้

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมีการวางเงื่อนไขที่ซับซ้อน ดังนี้

ขั้นที่ 1 วาระแรก ใช้เสียง ส.ส. อย่างน้อย 251 เสียง+ใช้เสียง ส.ว. อย่างน้อย 84 เสียง

ขั้นที่ 2 วาระที่สาม ต้องได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภา (376 เสียง)

แต่มีเงื่อนไขอีก 2 ข้อคือ

(1) ต้องใช้เสียงจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 เสียง
(2) ต้องใช้เสียงจากพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลและประธานสภาผู้แทนฯ อย่างน้อยร้อยละ 20 ของทุกพรรคดังกล่าว

ฉะนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย หากพรรคการเมืองจะผลักดันให้การยกเลิกเกณฑ์ทหาร เป็นจริงได้ในช่วงเวลาอันใกล้นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน