สืบทอดอำนาจ แบบไร้รอยต่อ

สืบทอดอำนาจ แบบไร้รอยต่อ – ไม่พูดพร่ำทำเพลง หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลเลือกตั้งส.ส.แบบเขต 349 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 149 คน เมื่อวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา

พรรคพลังประชารัฐของคสช. ถึงจะครองสถานะพรรคอันดับ 2 แต่ก็อ้างอิงสิทธิ์เหมือนเป็นพรรคอันดับ 1

ประกาศเดินหน้ารวบรวมเสียงส.ส.จาก พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยทันที

ไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามที่นาย วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุคือ การประกาศผลเลือกตั้งส.ส.ทั้งสองระบบเมื่อวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม จะมีผลถึงวัน รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาที่ต้องทำภายใน 15 วันตั้งแต่วันประกาศผลส.ส. ซึ่งจะ ตรงกับวันที่ 23 พฤษภาคม

สำหรับการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ต้องกระทำภายใน 3 วันนับจากวันที่ 8 พฤษภาคม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม

ส่วนการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายก รัฐมนตรีคนใหม่ ไม่มีกรอบเวลาตายตัว เนื่องจากสิ่งแรกต้องทำหลังจาก รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา คือประชุมแต่ละสภาเพื่อเลือกประธานสภา รองประธานสภาและนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งลงมาเมื่อใด ประธานรัฐสภาถึงจะเรียกประชุมสมาชิกเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป จากนั้นกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นหลังนายกรัฐมนตรีคนใหม่พิจารณา พรรคการเมือง ที่จะมาร่วมรัฐบาลและแต่งตั้งรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะอยู่ในเดือนมิถุนายน

ห้วง 1 เดือนนับจากนี้ จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะชี้ขาดอนาคตการเมืองไทยว่า จะเดินไปทิศทางใด

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีสองประเด็นการ เมืองหลักๆ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมากมาย คือ ประเด็นของ 250 ส.ว. และสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ฉบับ กกต.ชุดปัจจุบัน ซึ่งได้ส่งผลให้ “เสียงข้างมาก” ในสภากลับตาลปัตร

ส่วนของการคัดเลือก 250 ส.ว. เกิดกระแสต่อต้านรุนแรง ว่านอกจากล็อกเก้าอี้ไว้ให้กับผบ.เหล่าทัพ

ส่วนใหญ่มาจากระบบพวกพ้องหน้าเดิมๆ จากกลุ่มสมาชิกแม่น้ำ 5 สาย ทั้งใน คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และระบบเครือญาติ ดังที่ เห็นจากกรณีของพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตสนช. น้องชายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว. 250 คนที่มาจากการลากตั้งของหัวหน้า คสช. ถูกกำหนดให้มีอำนาจและสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส. 500 คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

จากสถานการณ์การเมืองตอนนี้

ย่อมหมายความว่าพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. คือผู้คัดสรร 250 ส.ว. ซึ่งในนั้นประกอบไปด้วยพี่เพื่อนน้อง ในกองทัพ เครือญาติ คนใกล้ชิดอยู่เต็มไปหมด ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการโหวตสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดต นายกฯพรรคพลังประชารัฐ กลับมาเป็นนายกฯอีกสมัย 4 ปี เป็นอย่างน้อย

กรณีของ 250 ส.ว. มาถึงจุดนี้ก็เปรียบเสมือนข้าวสาร กลายเป็นข้าวสุก ผู้มีอำนาจหุงเอง กินเอง ยากแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ เพราะบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ “ดีไซน์” ไว้ก็เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

แต่ที่เป็นประเด็นให้ต้องลุ้นกันต่อ ก็คือการจัดตั้งรัฐบาล

เพราะภายหลัง กกต.งัดสูตรคำนวณพิสดาร แจกเก้าอี้ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองมากถึง 26 พรรค โดยในจำนวนนี้มีถึง 11 พรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยจำนวนส.ส.พึงมี หรือน้อยกว่า 7.1 หมื่นคะแนนโดยประมาณ

กระทั่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา มากมาย จากนักการเมืองพรรคฝ่ายประชาธิปไตย นักวิชาการคณิตศาสตร์ อดีตกกต. สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ว่าสูตรคำนวณดังกล่าวของ กกต.ไม่เป็นไปตามวิธีที่กำหนดรายละเอียดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 128

มีเจตนาช่วยให้พรรคการเมืองบางพรรคสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ หรือไม่ น่าจะมีการยื่นร้องคัดค้านตามมามากมาย

เพราะด้วยสูตรส.ส.ดังกล่าว หลังกกต.ประกาศออกมาก็ทำให้พรรคพลังประชารัฐเกิดอาการคึกคัก ถือโอกาสเคลมทันทีว่าสามารถกลับสู่เส้นทางเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

อ้างว่า เบื้องต้นรวบรวมจำนวนส.ส.จากพรรคพันธมิตรไว้ได้แล้วเกินครึ่ง 254 เสียง ได้แก่ พลังประชารัฐ 115 ประชาธิปัตย์ 52 ภูมิใจไทย 51 ชาติไทยพัฒนา 10 รวมพลังประชาชาติไทย 5 ชาติพัฒนา 3 และกลุ่มพรรคเล็กอีก 18

เบียดเอาชนะพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้ ตัวเลขรวมกันแค่ 245 เสียง คือ เพื่อไทย 136 อนาคตใหม่ 80 เสรีรวมไทย 10 ประชาชาติ 7 เศรษฐกิจใหม่ 6 เพื่อชาติ 5 และพลังปวงชนไทย 1

ที่ตามมา คือการกระพือข่าวแบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรี สร้างปมดราม่า ทำนองว่าพรรคขนาดกลางไม่ปลื้มโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีที่พลังประชารัฐใช้เป็น เครื่องล่อใจ ยื่นเงื่อนไขให้อัพเกรด ไม่อย่างนั้นจะแยกไปจับมือเป็นขั้วที่ 3 ตั้งรัฐบาลแข่งกับขั้วพลังประชารัฐและเพื่อไทยให้รู้แล้วรู้รอด

จากนั้นก็มีข่าวพลังประชารัฐเริ่มเสียงอ่อย อาจยอมปล่อยกระทรวงหลัก หรืออย่างน้อยก็ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจออกไปให้พรรคร่วม เพื่อแสดงความใจกว้างและความจริงใจ ต้องการให้มาร่วมงานกัน

กระแสข่าวการแบ่งเค้กอำนาจ ได้รับการปฏิเสธจากแกนนำพรรคการเมืองที่มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งพรรค ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่ชาติไทยพัฒนา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อ้างว่า ข่าวการจับมือกับพรรคชาติไทยพัฒนาเพื่อต่อรองโควตาเก้าอี้ ในรัฐบาลกับพลังประชารัฐนั้น ไม่เป็นความจริง รวมถึงข่าวการจัดตั้งรัฐบาล เพราะภูมิใจไทยกำลังฟังเสียงประชาชน

นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวเช่นเดียวกัน ระบุว่าคุยกับนายเนวิน ชิดชอบ ในเรื่องของการทำทีมฟุตบอลเท่านั้น ไม่ได้คุยกันเรื่องการเมืองตามที่เป็นข่าว

มีการตั้งข้อสังเกต การที่พลังประชารัฐอ้างว่าสามารถรวบรวมส.ส.ได้ 254 เสียงแล้วนั้น หมายถึงการรวมประชาธิปัตย์ 52 เสียงเข้าไปด้วย ถือเป็นการ “ตีกิน” หรือไม่

เนื่องจากล่าสุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ให้สัมภาษณ์ในทำนองปฏิเสธแล้วเช่นกัน ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พรรคใหญ่ขั้วใดทั้งสิ้น จนกว่าจะมีการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ชุดใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้เสียก่อน ทุกอย่างจะเริ่มต้นนับหนึ่ง หลังจากนั้น

นอกจากความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่าย ประชาธิปไตย นำโดยพรรคเพื่อไทย และอนาคตใหม่ ที่เรียกร้องกดดันไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล ให้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ที่ว่า

พรรคภูมิใจไทยจะสนับสนุนแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีที่เป็นส.ส. และมาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่เห็นด้วยและจะไม่ยอมให้ 250 ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนเป็นผู้กำหนดตัวนายกฯ

นอกจากความเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เดินหน้าทวงถามคำสัญญาที่พรรคต่างๆ ให้ไว้เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ให้ร่วมกัน ปิดสวิตช์ส.ว. ไม่ให้กลุ่มคนที่ไม่ได้มาจาก ประชาชน เข้ามามีส่วนโหวตกำหนดตัว นายกฯ

พรรคประชาธิปัตย์ยังถือเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ที่ต้องจับตาว่าหลังวันที่ 15 พฤษภา คมจะมีมติออกมาอย่างไร รวมถึงส.ส. 52 เสียงจะมีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน หรือไม่ จะเลือกวิธีไถ่บาป โดยเลือกยืน อยู่กับฝ่ายประชาธิปไตย หรือจะเลือกอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

เป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดอำนาจแบบไร้รอยต่อ

………

..อ่าน..

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน