กรณี วันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีชุมนุมล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ปี 2550 คดีหมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10

เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนพ.เหวง โตจิราการ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.

เป็นจำเลยที่ 1-7 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216, 297, 298 ประกอบมาตรา 33, 83 และ 91

กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของพล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส

คดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย.58 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และนพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าพนักงานฯ และให้ยกฟ้อง นายวีระศักดิ์ และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 พร้อมให้ริบของกลางทั้งหมด

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค.60 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็น ผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83

ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม เพียงกรรมเดียว จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน นอกเหนือจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด

ล่าสุด มีการเปรียบเทียบคดีทางการเมืองดังกล่าว กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่ม นปช. ดังนี้

บนสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง

1.คดีพันธมิตรฯล้อมรัฐสภาขวางรัฐบาลแถลงนโยบาย 7 ตุลาคม 51
– ตัดน้ำ ตัดไฟ นายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. ปีนรั้ว มุดรั้วหนี
– พบรถขนระเบิดในกลุ่มผู้ชุมนุม
– แถลงนโยบายจบเหตุการณ์ไม่จบ ระดมพลล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาลถึงกลางคืน

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ

* ศาลชั้นต้นยกฟ้องแกนนำ

2.คดีพันธมิตรฯยึดทำเนียบรัฐบาลเกือบ 6 เดือน
– ตัดโซ่เข้าไปตั้งเวที บุกเข้าอาคารต่างๆ
– เจ้าหน้าที่พยายามเข้าขอคืนพื้นที่ ถูกต่อต้านจนต้องล่าถอย
– ระหว่าง 6 เดือนเกิดสถานการณ์ต่างๆมากมาย

* ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกแกนนำ 8 เดือน

3.คดีนปก.ชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ 9 ชั่วโมง
– ไม่มีการบุกรุกเข้าบริเวณบ้าน ไม่มีอาวุธ
– เจ้าหน้าที่ใช้แกสน้ำตา มีการผลักดันบาดเจ็บเล็กน้อยทั้ง 2 ฝ่าย
– ผู้ชุมนุมกลับสนามหลวง ไม่มีเหตุบานปลาย

*ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกแกนนำ 4 ปี 4 เดือน
*ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกแกนนำ 2 ปี 8 เดือน

*นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา 31 กรกฎาคม 62*

จักรภพ เพ็ญแข / ก่อแก้ว พิกุลทอง / ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน