เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคำถามพ่วงประชามติ ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งให้ตีความ ว่า คำวินิจฉัยของศาลที่แตกต่างจากร่างของกรธ. เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาตั้งแต่ร่างแรก และเมื่อปรับแก้ใส่คำถามพ่วงเข้าไปก็ต้องส่งไปให้วินิจฉัยอีก เมื่อศาลว่าอย่างไร ก็ตามว่าตามนั้น ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ก็ไม่มีปัญหาและพร้อมที่จะแก้ไข ซึ่งศาลมีเจตนาให้ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกรัฐสภาในการโหวต แต่ยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี สำหรับเรื่องของระยะเวลา 5 ปี ศาลรัฐธรรมนูญเกรงว่าจะเกิดข้อถกเถียงและตีความได้ 2 นัยยะและเกิดเรื่องยุ่งยาก จึงเขียนให้ชัดไว้เลยว่าให้ส.ว.สามารถเลือกนายกฯคนนอกภายในเวลา 5 ปี

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า หากรัฐสภายังไม่สามารถเลือกนายกฯได้ ก็ต้องเลือกไปเรื่อยๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญบางฉบับระบุว่า จะต้องเลือกนายกฯให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าเลือกไม่ได้จะทำอย่างไร คำตอบคือต้องเลือกไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเลือกไปสักระยะ 5-6 เดือน แล้วยังไม่ได้สังคมต้องยอมรับว่าตกลงกันไม่ได้ แสดงว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นในบ้านเมือง ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาตามรัฐธรรมนูญคือการยุบสภาโดยรัฐบาลปัจจุบัน เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้รัฐบาลและคสช.อยู่ไปจนถึงมีครม.ชุดใหม่ ที่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยที่มาตรา 44 ยังคงมีผลอยู่สามารถยุบสภาได้

“ผมไม่ได้เปิดประเด็นว่าให้ยุบสภา แต่เมื่อมีการถามว่าถ้าเลือกไม่ได้จะทำอย่างไร แต่ทางไม่ตัน ถ้าเลือกไม่ได้แสดงว่าประชาชนหรือผู้แทนของเขาไม่พอใจที่จะให้มีรัฐบาล การเลือกนายกฯไม่มีกำหนดเวลา แต่ต้องดูตามความเหมาะสม จึงต้องช่วยกันเลือกให้ได้ก็จะหมดเรื่อง ถ้าเลือกตั้งแต่รอบแรกตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอยิ่งวิเศษที่สุด” นายวิษณุ กล่าว

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน