จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์จุดยืนร่วมรัฐบาลแก้รธน.

สัมภาษณ์พิเศษ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จุดยืนร่วมรัฐบาลแก้รธน. – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษหนังสือพิมพ์ข่าวสดถึงการทำงานร่วมรัฐบาลพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำ ท่ามกลางแรงกดดันหลายอย่าง ทั้งการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นต้น

การทำงานร่วมรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเสถียรภาพรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่จำนวนเสียงในสภาอย่างเดียว แต่อยู่ที่ผลงานและการยอมรับของประชาชนประกอบกัน แต่ปริมาณเสียงในสภาก็มีความสำคัญ เพราะในระบบรัฐสภา ถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยมันอยู่ยาก แต่ถ้าเป็นเสียงข้างมาก จะมากกว่าฝ่ายค้านในปริมาณมาก หรือ ปริมาณน้อย ก็ถือว่าเป็นเสียงข้างมาก

ที่สำคัญคือเมื่อถึงเวลาลงคะแนนในประเด็นสำคัญๆ รัฐบาลจะต้องมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน ไม่เช่นนั้นถ้าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลเสนอกฎหมาย แล้วกฎหมายไม่ผ่านรัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หรือไม่ก็ต้องยุบสภา แต่ถ้าเป็นเสียงข้างมาก จะมากกว่า 3-5-7 เสียงหรือ 100 เสียงถือว่ายังเป็นเสียงข้างมากอยู่

แต่เสียงข้างมากต้องประกอบด้วยผลงาน ถ้ารัฐบาลไม่มีผลงานปรากฏเป็นรูปธรรม ต่อให้เสียงมากกว่าฝ่ายค้านเป็น 100 เสียง ก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่ได้ง่ายๆ เพราะสุดท้ายจะนำไปสู่ความไม่ชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะไม่สามารถที่จะสร้างผลงานได้ และจะ ส่งผลต่อการไม่ยอมรับของประชาชน

พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ถือว่า ช่วงแรกงานลุล่วงหรือไม่

งานก็ค่อยๆ คืบหน้าเป็นลำดับ ต้องยอมรับความจริงว่า เพิ่งมาเป็นรัฐบาลได้สิบกว่าวันเท่านั้น แต่อาจจะเพราะว่าประชาชนคาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่มาก คงไม่ใช่เฉพาะประชาธิปัตย์ ถ้าจะพูดให้ชัดคือคาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ทั้งชุด ประชาธิปัตย์เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในนั้นเท่านั้นเอง

ที่จริงสิบกว่าวันงานมีความคืบหน้าไปรวดเร็วมาก โดยเฉพาะงานที่ผมรับผิดชอบ ในกระทรวงพาณิชย์ แต่งานของรองนายกฯ อาจจะยัง ไม่ได้เริ่มต้นอะไรมาก เพราะนายกฯ เพิ่งมอบงานมาได้ไม่กี่วัน แต่ในฐานะรมว.พาณิชย์งานคืบหน้าไปเร็วหลายเรื่อง เริ่มต้นก็ไปเป็นประธานประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่กรุงปักกิ่ง หลายประเด็นที่ค้างอยู่นานพอสมควรก็มีข้อสรุป

เราเหลือการประชุมอีก 2 ครั้งระดับรัฐมนตรี คือเดือนก.. และพ.. คิดว่าน่าจะจบได้ในเดือน พ..และสามารถให้มีการประชุมซัมมิตได้ เพื่อให้ระดับผู้นำประเทศได้มาประชุมกันถือว่าการเจรจาเป็นที่ยุติ และนำไปสู่การลงนามในปีหน้าได้ ถ้าอาร์เซ็ปจบได้ก็จะมีผลดีกับสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ที่จะทำให้ทุกประเทศมีตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้น ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้เพราะมีประชากรรวมกันถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลก คือ 3,500 ล้านคน จีดีพีรวมกันมากกว่าร้อยละ 30 ฉะนั้นจะเป็นโอกาสสำหรับข้อตกลงใหม่ภายใต้อาร์เซ็ปที่เราจะได้เปรียบคู่แข่งนอก 16 ประเทศที่จะเข้ามาแข่งขันกับเราในตลาดนี้

ส่วนงานที่คืบหน้าได้ชัดเจนตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาคือการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งนโยบายรัฐบาลชัดเจนว่า จะประกันรายได้เกษตรกร 5 กลุ่ม พืชเกษตร 5 ตัว คือ ข้าว มัน ยาง ปาล์ม และข้าวโพด ซึ่งข้าว ข้าวโพด มัน เคยทำมาแล้วในอดีต แต่ตัวใหม่คือยางกับปาล์ม ซึ่งล่าสุดได้เคาะหลักการเบื้องต้นแล้ว

ในส่วนของปาล์ม กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน โรงสกัด ลานเท โรงงานกลั่นน้ำมันบริสุทธิ์ และตัวแทนเกษตรกร โดยประกันในราคากิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งเป็นการประกันรายได้ชาวสวนปาล์ม ถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามที่เสนอถือว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาล เพราะตอนนี้ต้องถือว่าเราทำร่วมกันในนามของรัฐบาล ไม่ควรถือว่าเป็นผลงานของพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะเราก็คือส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล

รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ต้องประเมินการทำงานหรือไม่ หากได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องถูก ปรับออก

คิดว่ารัฐมนตรีแต่ละท่านทราบดีอยู่แล้วว่าหน้าที่และความคาดหวังของประชาชนและสมาชิกพรรคมีอะไรบ้าง ดังนั้นทุกคนต้องทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังอยู่แล้ว ส่วนผลจะเป็นอย่างไรต้องให้เวลาและผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่คงไม่ถึงกับต้องขีดเส้นว่า 3 เดือน 6 เดือนแล้วต้องประเมินผลงาน เพราะทุกคนต้องรู้อยู่แล้ว และประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีประชาธิปไตย จะมีกระบวนการในการติดตามโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะติดตามโดยที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ติดตามโดยที่ประชุมส..พรรค ซึ่งเราประชุมทุกวันอังคาร และติดตามในที่ประชุมของสมาชิกในโอกาสต่างๆ เช่น การจัดประชุม ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง การจัดสัมมนาอยู่แล้ว ฉะนั้นคนที่เป็นตัวแทนพรรคไปทำหน้าที่ ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไรจะต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการร่วมรัฐบาล จะเริ่มจากตรงไหนก่อน

การแก้รัฐธรรมนูญ ได้รับการบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วน 1 ใน 12 ข้อ ที่มีการเขียนไว้ชัดเจน ถ้าไปดูนโยบายจริงๆ จะเห็นว่ามีอยู่ 3 คำ ที่เป็นคีย์เวิร์ด คือ จะสนับสนุนให้มีการศึกษา รับฟังความเห็น และดำเนินการในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องเป็นไปตามนี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุไว้ชัดมาก

ประเด็นที่จะแก้ระบุว่าอย่างน้อยคือเรื่องที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับการแก้ไข เพราะตรงนี้คืออุปสรรคสำคัญในการที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นได้ในอนาคต เพราะหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสมือนสกัดกั้นไว้ไม่ให้รัฐธรรมนูญสามารถแก้ได้ เพราะกำหนดเงื่อนไขไว้หลายขั้นตอน

เงื่อนไขที่ทำให้รัฐธรรมนูญแก้ยากมาก เช่น ปกติเวลาแก้รัฐธรรมนูญจะใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา หรือเรียกว่าที่ประชุมรัฐสภารวมกันก็แก้ได้แล้ว แต่เที่ยวนี้นอกจากใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งยังระบุลึกลงไปอีกว่า เกินกึ่งหนึ่งนั้นยังประกอบไปด้วยเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เสียงวุฒิสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และบางประเด็นต้องเอาไปทำประชามติด้วย เสมือนกับทำให้แก้ไม่ได้เลย

ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะเสมือนกับการช่วยปลดล็อก หรือปลดระเบิดเวลาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ในเรื่องการฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีทางออก เนื่องจากรัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ สุดท้ายถ้าจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญก็อาจจะนำไปสู่สิ่งที่เราไม่พึงประสงค์ได้อีก

ฉะนั้นถ้าเราสามารถแก้รัฐธรรมนูญในหมวดนี้ได้ ตามนโยบายรัฐบาลก็เหมือนการสะเดาะกุญแจ แล้วทำให้ประตูที่จะเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยเปิดออกได้

มีการวิเคราะห์ว่าการแก้รัฐธรรมนูญอาจทำได้ในช่วงปลายรัฐบาล

มีการระบุไว้ในนโยบายเร่งด่วนแล้ว แต่ขณะนี้ถ้าเราพูดกันตาม ข้อเท็จจริง มีเรื่องที่เร่งด่วนไม่น้อยไปกว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ นั่นคือเรื่องปัญหาปากท้องประชาชน ฉะนั้น ตอนนี้ดูเหมือนรัฐบาลมุ่งเน้นลงไปในเรื่องนี้ก่อน ขณะเดียวกันผมเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากก็อยากเห็นการแก้ปัญหาปากท้องได้เดินหน้าไปอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชนคาดหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมาในระดับหนึ่ง เสียก่อน

ฝ่ายค้านบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญและแก้ปัญหาปากท้องสามารถทำคู่ขนานกันได้

สามารถทำคู่ขนานกันได้ ผมถึงบอกว่า เรื่องปากท้องเป็นเรื่อง เร่งด่วนที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่ง ฝ่ายค้านอาจจะมีความเห็นที่แตกต่าง เพราะดูเหมือนจะรวมตัวกันแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย อะไรที่เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ละฝ่ายก็สามารถดำเนินการได้ตามความเห็นของแต่ละฝ่าย

ในฐานะหัวหน้าพรรคจะขับเคลื่อนประชาธิปัตย์เพื่อให้กลับมายืนเป็นที่หนึ่งได้อย่างไร

พรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าไปด้วย 3 กลไกหลัก คือกลไกใน ครม. กลไกในรัฐสภา และกลไกภายในพรรค ซึ่งกลไกภายในพรรค แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ กลไกด้านการบริหารจัดการ ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นแกนหลักในการที่จะดำเนินการ และกลไกด้านการเมือง ซึ่งจะมีรัฐบาล สภา และคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนคู่ขนานไปกับกรรมการบริหารพรรค

ต่อไปนี้เวลาทำงานเราจะไม่ทำงานในลักษณะที่เดินไปแค่ใครคนใดคนหนึ่ง เหมือนที่ผมเคยพูดว่าหมดยุคซูเปอร์แมนยุคต่อไปต้องเป็นยุคอเวนเจอร์เป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีมและเดินหน้าไปด้วยกันอย่างมีเป้าหมายทิศทางเดียวกัน และยุทธศาสตร์ตอนนี้ชัดเจนแล้วคืออุดมการณ์กับทันสมัย

ที่ต้องมีอุดมการณ์เพราะอุดมการณ์เป็นหัวใจที่มีความสำคัญ เป็นรากของความเป็นเรา ถ้าพรรคการเมืองไม่มีอุดมการณ์ก็เหมือนต้นไม้ไม่มีรากแก้ว แต่ประชาธิปัตย์มีรากแก้ว

อุดมการณ์ได้ประกาศไปชัดเจนว่าอย่างน้อย 1.ยึดมั่นในประชา ธิปไตยระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ทำเพื่อประชาชนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และ 3.พาพรรคไปสู่ความเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งยั่งยืน

ส่วนคำว่าทันสมัย เพราะเราเข้าใจว่าอุดมการณ์อย่างเดียวในยุคปัจจุบันและจากนี้ไปไม่พอ ต้องมีความทันสมัยด้วย ทันสมัยจึงเป็นอีกยุทธศาสตร์ ที่จะต้องทำควบคู่กันไป คณะกรรมการเยาวชนประชาธิปัตย์จึงเกิดขึ้น คณะกรรมการแอลจีบีทีจึงเกิดขึ้น เพราะเราให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งโลกเดินไปทางนี้ และเป็นที่ยอมรับในเรื่องนี้มากขึ้น หรือคณะกรรมการไอที ซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีระบบบิ๊กดาต้า ระบบเอไอ เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจทางการบริหารและทางการเมืองของพรรคต่อไปในอนาคต

จะเปลี่ยนแนวคิดของคนที่เลือกประชาธิปัตย์ แต่ไม่พอใจที่พรรคเข้าร่วมรัฐบาลอย่างไร

อย่างน้อยที่สุดที่ผมสัมผัสหลายคนที่ได้พบ บอกว่าต้องขอโทษการเลือกตั้งคราวที่แล้วที่ไม่ได้เลือก แต่เที่ยวหน้าจะกลับมาเลือกก็มีไม่น้อยทีเดียว หลังจากที่ได้รับทราบว่าเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้เราต้องทำให้เข้มแข็งต่อเนื่อง ให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพรรคจะตัดสินใจไปทางไหนจะต้องมีเสียงสะท้อนสองด้านเสมอ โดยเฉพาะเรื่องการตัดสินใจร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาล แต่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคประชาธิปไตย สมาชิกพรรคได้ตัดสินใจบนพื้นฐานความเป็นอิสระ สุดท้ายเมื่อมติพรรคออกมา 61 กับ 16 ว่าจะร่วมรัฐบาล ผมก็บอกว่าถ้าอย่างนั้น ผมเป็นคนแรกที่จะต้องพาพรรคปฏิบัติตามมติพรรค แล้วเราก็ตัดสินใจไปตามนั้น ไม่ใช่ตัดสินใจบนพื้นฐานความไม่เป็นประชาธิปไตย ไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย

นี่คือประชาธิปไตยตัวจริงในกระบวนการตัดสินใจ แต่เมื่อตัดสินใจไปแล้วเราต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เหตุผล เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลเราประกาศชัดตั้งแต่ก่อนเจรจาว่าถ้ารับเงื่อนไข 3 ข้อได้ก็ยินดีที่จะเจรจาต่อไป คือ 1.นโยบายประกันรายได้ เพราะเรารู้ว่าหลายปีที่ผ่านมาไม่ใช่เศรษฐกิจไม่โต แต่ปัญหาคือเม็ดเงินไม่ลงถึงรากหญ้า ปัญหาใหญ่คือเศรษฐกิจฐานราก เราต้องการเข้ามาทำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรเพื่อเติมเต็มเศรษฐกิจฐานราก

2.การแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และ3.รัฐบาลต้องบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต สุดท้ายพรรคพลังประชารัฐก็ยอมรับเงื่อนไขนี้

ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลทำผิดเงื่อนไขจะถอนตัวจากรัฐบาลหรือไม่ เช่นมีการทุจริต

คิดว่านายกฯ ต้องเป็นคนแรกที่จะเข้าไปดำเนินการ ท่านทราบดีอยู่แล้ว และนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาก็ระบุเรื่องการทุจริตชัดเจนอยู่แล้วว่าจะจัดการกับการทุจริตที่เกิดจากฝ่ายประจำและฝ่ายการเมืองและถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดคือการไม่ปฏิบัติตามที่แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา ถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้คุยกันไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน