‘บิ๊กตู่’ขอสหรัฐทบทวนตัดสิทธิจีเอสพี-มะกันพร้อมรับข้อเสนอไทย

 

ทบทวนตัดสิทธิจีเอสพี -เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์สหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการหารือว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณที่รมว.พาณิชย์สหรัฐ นำคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐร่วมเดินทางมาไทยครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในการขยายความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งสหรัฐนับเป็นนักลงทุนที่สำคัญของไทยและมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมายาวนาน รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัทสหรัฐในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อากาศยานและอวกาศ ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์

รมว.พาณิชย์สหรัฐ แสดงความชื่นชมการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน พร้อมกล่าวว่าการมาเยือนครั้งนี้นำภาคเอกชนจากสาขาต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของไทยมาร่วมประชุม Indo Business Forum ที่หอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน เชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจสำหรับภาคเอกชน
ทั้งสองฝ่าย ยังหารือถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยมีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างชาติ รวมทั้งได้พัฒนากฎระเบียบต่างๆ และผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐมาร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคของอาเซียนด้วย

สำหรับประเด็นการพักสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) บางส่วนแก่ไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่อภาคเอกชนและสาธารณชน แต่เข้าใจดีเรื่องกติกาของสหรัฐ อย่างไรก็ตามในฐานะมิตรอันใกล้ชิด ขอให้สหรัฐพิจารณาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งรมว.พาณิชย์สหรัฐ พร้อมเปิดให้มีการเจรจาทบทวนระหว่างกันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

นางนฤมล ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กรณีที่ทางการสหรัฐสั่งระงับตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าของไทย 573 รายการนั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลไทยเข้าใจดีว่าเป็นสิทธิที่ฝ่ายสหรัฐเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม เพียงแต่กระแสสังคมของไทยยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามชี้แจง เพราะไม่ต้องการให้เกิดบานปลายจนเป็นความขัดแย้ง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ฝากกับรมว.พาณิชย์สหรัฐในฐานะที่ไทยและสหรัฐมีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน หวังว่าสหรัฐจะพิจารณาในประเด็นนี้โดยเฉพาะมุมที่จะเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการไทย และความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน

ขณะที่รมว.พาณิชย์สหรัฐระบุว่าที่จริงมูลค่าในส่วนดังกล่าวเป็นจำนวนไม่มากนัก อีกทั้งยังมีเวลาอีก 6 เดือน ก่อนที่จะมีผลบังคับ และสามารถทบทวนแก้ไขได้ โดยฝ่ายสหรัฐ พร้อมจะสนับสนุนให้มีการหารือกับรมว.พาณิชย์ของไทย ในการหาทางออกหรืออุทธรณ์สินค้าของไทยบางรายการ เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีกลับคืนมา และบางรายการก็ได้รับคืนสิทธิกลับมาแล้ว รวมถึงยินดีรับฟังข้อมูลและข้อเสนอจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาคืนสิทธิให้กับสินค้าของไทยส่วนบรรยากาศเป็นไปด้วยดี ไม่มีความตึงเครียดใดๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้หารือถึงกรณีที่ไทยจะยกเลิกการใช้สารเคมีในภาคเกษตร รวมถึงสารไกลโฟเซตด้วยหรือไม่ นางนฤมล กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุย ต่อข้อถามว่าได้หารือถึงกระแสข่าวที่ว่าสหรัฐจะให้ไทยนำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงมาหารือด้วยหรือไม่ นางนฤมล กล่าวว่า ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาเช่นกัน สิ่งที่พูดคุยกันมีแต่เรื่องการลงทุนด้านต่างๆ อาทิ ธุรกิจด้านพลังงาน ธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัย

ขณะที่ฝ่ายสหรัฐ มีความสนใจธุรกิจบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน ซึ่งสหรัฐมีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ อีกทั้งยังฝากให้ไทยพิจารณาการสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่สหรัฐสนใจลงทุนธุรกิจด้านนวัตกรรม และอุตสาหกรรมยานยนต์และยุทธปกรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เมื่อถามว่าได้หารือถึงการดูแลแรงงานต่างด้าวในไทยซึ่งสหรัฐฯห่วงใยในเรื่องนี้ นางนฤมล กล่าวว่า ไม่ได้หารือ และฝ่ายไทยไม่ได้นำขึ้นมาพูดคุย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน