ธนาธร อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เขียนรำลึกเหตุสลด ’10 ปี 10 เมษา’ มีอิทธิพลต่อชีวิต รำลึกถึงผู้เสียชีวิต เปิดคลิปเคยถูกยิง ในม็อบเสื้อแดง

ผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี สำหรับเหตุการณ์ทางการเมือง ที่นับเป็นการโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ เหตุการณ์การ “ขอคืนพื้นที่” จากคนเสื้อแดง บริเวณถนนราชดำเนิน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 ราย และบาดเจ็บร่วมพัน เหตุการณ์ดังกล่าว ยังเป็นชนวนสำคัญ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อันโศกสลดครั้งหนึ่งของชาติ คือเหตุการณ์ “กระชับพื้นที่” บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งสองเหตุการณ์ เกือบร้อยศพ บาดเจ็บกว่า 2 พันคน

เและวันนี้ (10 เม.ย.) เพจ ‘UDD news’ เผยแพร่บทความ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีเนื้อหารำลึกเหตุการณ์สลายชุมนุมเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 หรือเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว โดยมีใจความดังนี้ “ผมยังจำวันนี้เมื่อสิบปีที่แล้วได้เป็นอย่างดี นึกถึงวันที่ 10 เมษายนเมื่อใด แผลที่แขนข้างซ้ายก็แสบร้อนขึ้นมาเมื่อนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวันนั้นเป็นวันที่มีอิทธิพลกับชีวิตผมมากที่สุดวันหนึ่ง

วันที่ 10 เมษา ปีนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดแผลบนแขนข้างซ้ายของผมเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดแผลที่บาดลึกในสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาจนถึงทุกวันนี้ หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 เกิดอะไรขึ้นบ้าง อาจจะจำเป็นที่เราจะทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้วอีกครั้งเพื่อตระหนักถึงวัฒนธรรมการเมืองที่ล้มเหลวในปัจจุบัน”

นายธนาธร ยังย้อนลำดับถึงสาเหตุของการชุมนุมว่ามาจากการที่กลุ่มอนุรักษนิยมไม่ยอมรับในผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีความพยายามล้มรัฐบาลของพรรคพลังประชาชนด้วยวิธีต่างๆ

ต่อมา มีการวินิจฉัยให้ นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนถัดไปถูกขัดขวางไม่ให้เข้าไปแถลงนโยบายในรัฐสภา สถานที่ราชการและสนามบินถูกยึด – กระทั่งมีการยุบพรรคพลังประชาชน และตั้งรัฐบาลในค่ายทหารในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551

หลังจากการเลือกตั้งพ.ศ. 2550 จนถึงการยุบพรรคพลังประชาชนและการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ประชาชนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนไม่ได้นั่งดูการดำเนินไปอย่างนิ่งดูดาย พวกเขากระตือรือร้นและต้องการปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมา พวกเขาเลือกสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของเคลื่อนไหว พวกเขาชุมนุมและแสดงตนอย่างเปิดเผยและอย่างมีพลัง พวกเขาเข้าร่วมชุมนุมอย่างแข็งขันในนามรายการ ‘ความจริงวันนี้สัญจร’

นายธนาธร ระบุว่า ในเดือนมีนาคม 2553 กลุ่มเสื้อแดงชุมนุมใหญ่ยืดเยื้อที่ถนนราชดำเนิน ด้วยข้อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรณีเขายายเที่ยงและกรณีเขาสอยดาว เรียกร้องให้มีการยุบสภา, เลือกตั้งใหม่อีกครั้งเพื่อให้เสียงประชาชนเป็นผู้ตัดสินทิศทางอนาคตของประเทศ ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ 10 เมษายน 2553

นายธนาธรเล่าว่า ในวันนั้น ตนไม่ได้เป็นผู้ที่มีบทบาททางการเมืองแต่เป็นเพียงนักธุรกิจธรรมดาที่มีความเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง รักความเป็นธรรม และรักประชาธิปไตย เนื่องจากบ้านและที่ทำงานของตนอยู่นอกเมือง ไม่มีโอกาสเข้าเมืองเพื่อร่วมชุมนุมที่ราชดำเนินทุกวัน วันไหนเลิกงานเร็ว ไม่เหนื่อยนักก็จะเข้ามาที่ชุมนุม สังเกตการณ์และให้กำลังใจเพื่อนๆและชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่เป็นระยะๆ หากมีอะไรที่พอทำได้ ก็พร้อมหยิบยื่นความช่วยเหลือแก่ที่ชุมนุมอยู่เสมอ แม้จะไม่รู้จักแกนนำบนเวทีเลยก็ตาม

“บ่ายวันนั้น ผมและเพื่อนกลุ่มหนึ่งตระหนักถึงความแหลมคมของสถานการณ์ และหวังว่าพวกเราในฐานะประชาชนธรรมดาจะสามารถทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เช่นนั้น เราเห็นว่าการแสดงพลัง, การต่อสู้และการยืนหยัดร่วมกันในวันนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงตัดสินใจเดินทางไปราชดำเนินในช่วงบ่าย

ราชดำเนินร้อนระอุ ไม่ใช่แค่จากไอร้อนแรกของปี แต่จากสถานการณ์อันวุ่นวายบนถนนและจิตใจของผู้ชุมนุม เมื่อเราไปถึงตอนประมาณช่วงบ่ายต้นๆ ทหารได้ล้อมที่ชุมนุมไว้หลายทางแล้ว เสียงเฮลิคอปเตอร์จากด้านบนสร้างความกังวลให้ผู้ชุมนุมเป็นระยะ การปะทะกันระหว่างฝ่ายทหารและผู้ชุมนุมเกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ฝ่ายทหารใช้โล่กระบองและแก๊สน้ำตา ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมมีก้อนหิน, ท่อนไม้, ขวดน้ำ และข้าวของอื่นๆที่พอจะหาได้

เนื่องจากไม่มีการสื่อสารจากเวทีใหญ่ จึงทำให้เราไม่รู้สถานการณ์ใดๆ ประกอบกับในวันนั้น เทคโนโลยียังไม่เหมือนวันนี้ ไม่มีการรายงานสดจากประชาชน ณ แนวปะทะต่างๆ ผมและเพื่อนจึงเดินสำรวจจุดต่างๆ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุมตามทรัพยากรที่มี ควันโขมงจากแก๊สน้ำตาทำให้ตาผมระคายเคือง ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ชุมนุม มีการหยิบยื่นผ้าชุบน้ำเพื่อป้องกันแก๊สน้ำตาให้แก่กัน ผมรับมาจากชายแปลกหน้าผืนหนึ่ง และยังเก็บไว้ถึงวันนี้

ช่วงบ่ายแก่ๆ การปะทะเงียบลง – อย่างน้อยที่สุดตามความเข้าใจของผมในตอนนั้น – แต่นั่นไม่ได้หมายถึงค่ำคืนจะจบลงที่ตรงนั้น เราพอรู้ว่าความพยายามสลายการชุมนุมของจริงกำลังจะเริ่มขึ้นเมื่ออาทิตย์ลับฟ้า ผมและเพื่อนอีกสามคนรวมตัวกันอยู่ที่สามแยกถนนตะนาวและถนนข้าวสาร เมื่อฟ้ามืดลง ทหารกลุ่มแรกก็เดินเข้ามาทางถนนตะนาว

ผมยังจำความน่ากลัวของค่ำคืนนั้นได้เป็นอย่างดี ผมอยู่ประมาณ 3 เมตรจากคนที่อยู่หน้าสุดของแนวปะทะถนนตะนาว ทหารเอาไม้กระบองเคาะรั้วประตูเหล็กของร้านรวงที่อยู่สองข้างทางระหว่างเดินเข้ามา ส่งเสียงกังวานก้องในถนนแคบๆ ผู้ชุมนุมเองขวัญกำลังใจดีไม่แพ้กัน พวกที่อยู่แนวหน้าไม่มีใครกลัว ตะโกนโหวกเหวกให้กำลังใจกันเป็นระยะๆ เมื่อทหารเดินถึงแนวปะทะก็เกิดการตะลุมบอนกันขึ้น ดันกันไปดันกันมา ทหารมาพร้อมโล่และไม้กระบอง ผู้ชุมนุมมีธง, ก้อนหิน, มือเปล่า และหมามุ่ย

(มีเรื่องตลกเรื่องหนึ่งท่ามกลางความโกลาหลนี้ เนื่องจากความอัตคัตของผู้ชุมนุม บางกลุ่มจึงเอาหมามุ่ยมาเป็นอาวุธ ผมซึ่งอยู่เกือบแถวหน้าสุด เมื่อคนข้างหลังปาหมามุ่ยไม่แรงพอ ก็ตกใส่หลังผม ทำเอาผมดันไปก็เกาหลังไป และรู้ถึงพิษสงของหมามุ่ยก็วันนั้นเอง)

ผู้ชุมนุมสู้ยิบตาด้วยอุปกรณ์บ้านๆที่พวกเขามี ตรึงแนวทหารที่พยายามรุกผ่าเข้ามาได้ ทหารบางคนที่ล้มลงถูกผู้ชุมนุมกระทืบซ้ำ ผมต้องพยายามไปแยกพวกเขาออก เมื่อยกแรกไม่สำเร็จ ทหารถอยออกไปแนวใหม่ ระยะห่างระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมประมาณจากการคาดคะเนของผมอยู่ที่ 30 เมตร

ในระหว่างที่รอยกถัดไปนี้เอง เพื่อนผมคนหนึ่งเดินออกไปอยู่ด้านหน้าของแนว พร้อมกับโบกธงที่ผมไม่รู้เขาไปเอามาจากไหน ทหารเริ่มยิงกระสุนยางในแนวราบใส่ผู้ชุมนุม ผมเห็นว่าเขาอยู่เลยแถวหน้าถือธง กลางถนน น่าจะเป็นเป้า ท่าจะไม่ดี จึงวิ่งเข้าไปหาเขา

จังหวะที่มือซ้ายของผมจับเสื้อของเขาเพื่อดึงเขาออกมานั้น กระสุนยางนัดหนึ่งกระแทกเข้ากับแขนซ้ายของผม ความร้อนและความแรงของมันทำให้ผมทรุดตัวลงกับพื้น ทหารเริ่มเดินเข้ามา ผมปวดแขนลุกไม่ไหว ผู้ชุมนุมยกผมขึ้นท้ายรถกระบะคันหนึ่งซึ่งจอดอยู่ที่ถนนข้าวสาร (ซึ่งกลายเป็นภาพซึ่งกระจายอยู่แพร่หลาย) (ชมคลิปนาทีที่ 4.15 เป็นต้นไป ขอบคุณ Voice Tv)

รถกระบะคันนั้นพยายามถอยออกไปถนนราชดำเนิน แต่ติดผู้ชุมนุมทำให้รถถอยไปไม่ได้ ความโกลาหลเกิดขึ้นรอบรถ แนวที่ผู้ชุมนุมตรึงไว้เสียไปเพราะกระสุนยาง ทหารรุกกินพื้นที่เข้ามาเกือบจะถึงถนนราชดำเนิน รอบๆรถผมได้ยินเสียงคนวิ่งหนีตะโกนโหวกเหวก เสียงปะทะกัน เสียงประชาชนถูกทหารตี ถ้าจำไม่ผิดกระจกรถถูกตีแตกด้วย แรงผมยังพอมีอยู่แม้จะเจ็บแขน แต่สติคิดไม่ทัน ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก จะให้กระโดดลงจากหลังรถไปตะลุมบอนกับเขาด้วยก็กะไรอยู่ ผมคิดในใจ “กูโดนแน่คืนนี้”

คนขับรถมีสติพอ เมื่อถอยหลังไม่ได้ จึงบึ่งรถเลี้ยวซ้ายที่ถนนข้าวสาร แล้วขับออกจากแนวปะทะ เมื่อออกจากความวุ่นวาย เขานำผมมาส่งที่หน่วยพยาบาลซึ่งอยู่รอบนอกของที่ชุมนุม แขนซ้ายผมบวมตุ่ยและกลายเป็นสีม่วง มีรอยไหม้ผิวหนังกลมๆอยู่ตรงจุดกระแทก เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ผม และบอกให้ผมไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจว่ากระดูกมีผลกระทบหรือไม่

ผมออกจากหน่วยพยาบาลคนเดียว โชคยังดีวันนั้นมีเงินสดติดตัวอยู่บ้างจึงจับแท็กซี่กลับไปที่ชุมนุม เมื่อกลับไปถึง เพื่อนๆของผมเข้ามาหลบอันตรายอยู่ที่บันไดที่นั่งของอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ผมจึงไปนั่งกับพวกเขาและผู้ชุมนุมอีกประมาณหนึ่ง สี่แยกคอกวัวเวลานั้นกลายเป็นเหมือนสมรภูมิสงคราม เมื่อผมกลับไปถึงทหารใช้กระสุนจริงแล้ว เสียงปืนและเสียงระเบิดดังลั่นกลางมหานคร

พวกเราเป็นปัญญาชนเกินไป ไม่มีใครกล้าไปที่สี่แยกคอกวัวหลังจากที่มีการใช้กระสุนจริง พวกเราไม่ได้คุยอะไรกันมากนัก ได้แต่นั่งกันเงียบๆจนเสียงปืนสงบลงประมาณสามทุ่ม

ผมเดินกลับไปที่แนวปะทะอีกครั้ง ผมเห็นกองเลือดสดๆของผู้เสียชีวิตอยู่บนถนนเป็นหย่อมๆ บางกองมีเนื้อหรือมีเศษสมองปนอยู่ด้วย วันที่ 10 เมษา ปีนั้นจบลงด้วยผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 27 คน เป็นทหาร 5 คน และเป็นพลเรือน 22 คน ในจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต 22 คนนั้น มีอยู่ 9 คนที่เสียชีวิตที่ถนนตะนาว-สี่แยกคอกวัวที่ผมอยู่ กองเลือดที่ผมเห็นเป็นของคนทั้ง 9 คนที่น่าจะเสียชีวิตหลังจากที่ผมถูกนำขึ้นรถกระบะออกนอกที่เกิดเหตุไม่นาน หากผมไม่โดนกระสุนยางเสียก่อน ผมอาจเป็นหนึ่งในนั้น”

ในตอนท้าย นายธนาธรระบุว่า หลังจากนั้น 10 เมษาเวียนมาทีใด ผมอดคิดถึงรอยแผลที่แขนข้างซ้ายไม่ได้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 รวมกัน 94 รายและผู้บาดเจ็บอีก 1,400

“รอยแผลที่แขนข้างซ้าย ปัจจุบันจางหายไปจนแทบมองไม่เห็น วันนี้ผมรู้สึกถึงมันอีกครั้ง พร้อมกับความเชื่อมั่นที่ไม่เคยคลอนแคลนว่าประวัติศาสตร์ของวันที่ 10 เมษายน 2553 จะต้องถูกชำระในสักวัน”


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน