เมื่อวันที่ 20 ก.ค. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึง นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล ที่ระบุว่ารัฐบาลพยายามไม่ให้มีคณะกรรมาธิการ(กมธ.)รับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา ว่า

เป็นการกล่าวบิดเบือน ไม่เป็นความจริง รัฐบาลมีความจริงใจที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นทุกช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์

และตั้งคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เดินสายจัดเวทีสาธารณะให้ครบ 23 เวที รับฟังประชาชนทุกภาค และเวทีในมหาวิทยาลัยต่างๆ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศด้วย เช่น ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.บูรพา ม.สงขลานครินทร์

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ยังมีนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นที่ปรึกษาคณะ และนายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นอนุกรรมาธิการ จึงน่าจะทราบข้อมูลดี แต่ต้องการพูดเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง และเลือกที่จะพูดเพื่อปั่นกระแสความเกลียดชังใช่หรือไม่

หากเป็นเช่นนั้นอย่าเที่ยวกล่าวหาว่าใครไม่จริงใจ ถ้าใจตนยังจริงใจไม่เป็น ส่วนกรณีมีส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค รองเลขาธิการพรรค โฆษกพรรค เชิญชวนและเข้าร่วมการชุมนุม ดูแลความเรียบร้อยให้แก่ผู้เข้าชุมนุม รับส่งผู้เข้าชุมนุมร่วมกับแกนนำ รวมถึงเตรียมการใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัว โดยแสดงใบรับรองเงินเดือนและเจตนาเป็นบุคคลผู้ขอประกันนั้น

อาจเป็นการกระทำเข้าข่ายความผิดตาม ม. 45 แห่งพ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ที่บัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีโทษยุบพรรคการเมือง ตามมาตรา 92 (3)

หากเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงก็ควรหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าว เพราะหากมีการยื่นยุบพรรคจริงก็จะปั่นกระแสสังคมอีกว่าถูกกลั่นแกล้ง ทั้งที่ใจก็รู้อยู่แล้วว่ามีความสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ดังนั้น ควรหยุดและให้เยาวชนแสดงออกโดยปราศจากการแทรกแซงของพรรคการเมือง

“การเตรียมใช้ตำแหน่งส.ส.ประกันตัว อาจทำให้น่าสงสัยว่า ส.ส.มีความสัมพันธ์กับผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เพราะข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 ข้อ 11.1 กำหนดไว้ว่า

บุคคลผู้ขอประกันจะต้องเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน และเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น เป็นญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้” น.ส.ทิพานัน กล่าว


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน