“ยิ่งลักษณ์”แถลงปิดคดีจำนำข้าว ชูหลักการ “สัญญา ธรรมศักดิ์”ความยุติธรรมต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ แจง 6 ประเด็นยืนยันความบริสุทธิ์ โวยหัวหน้าคสช.พูดชี้นำคดี เหมือนว่ากระทำผิดแล้ว ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสิน ทั้งยังเคยสั่งในที่ประชุมนบข. ไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม “บิ๊กตู่”โต้ทันควัน ไม่เคยชี้นำ อ้างแค่ทำหน้าที่พยานโจทก์ “สมชาย-บิ๊กจิ๋ว” ลุ้นศาลฎีกาฯ ตัดสินคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ วันนี้ ครม.ตั้ง”พล.อ.วัลลภ”ข้ามห้วยนั่งเลขาฯสมช. โยก”สมเกียรติ”รองเลขาฯ ไปนั่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำ เด้งเลขาฯสกศ.-โยกย้าย 10 บิ๊กสธ. ระดับรองปลัด-อธิบดี ไฟเขียวกลาโหม ขออนุมัติ 3.2 พันล้าน อัพเกรดเครื่องบิน “เอฟ 5” เล็งจัดครม.สัญจรโคราช 21-22 ส.ค.

“ปู”ปิดคดีชูหลัก”สัญญา ธรรมศักดิ์”

เมื่อเวลา 09.30 น วันที่ 1 ส.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน นัดแถลงปิดคดีด้วยวาจา คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้เวลาแถลงปิดคดี 1 ชั่วโมง เต็ม ตั้งแต่ 09.30-10.30 น. เนื้อหา 19 หน้า อดีตนายกฯ อ่านถ้อยคำจากเอกสารดังกล่าวต่อหน้าศาล ระบุช่วงเริ่มต้นว่า ขอกล่าวอย่างหมดใจในวันนี้ เรื่องที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและตลอดเวลาที่นั่งรับฟังการพิจารณาคดี นับตั้งแต่ 15 ม.ค. 2559 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2560 รวมการไต่สวนของศาล 26 นัด เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ตนไม่เคยขาดนัดพิจารณาคดีของศาลเพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา แม้ตนจบทางรัฐศาสตร์แต่มีโอกาส รับรู้คำกล่าวของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกาและอดีตประธานองคมนตรี ที่กล่าวไว้ว่า “ตำรวจเปรียบประหนึ่งต้นกระแส ธารแห่งความยุติธรรม อัยการเป็นกลางน้ำ ศาลเป็นปลายน้ำ ต้นน้ำจึงต้องใสสะอาด จึงจะทำให้ปลายน้ำใสสะอาดตาม หากต้นน้ำขุ่นมัวเสียแล้วปลายน้ำก็จะขุ่นมัวตาม ราษฎรก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม”

ชี้พิรุธ 6 ประเด็น-ยืนยันบริสุทธิ์

คำแถลงยังยืนยันไม่ได้ละเลยหรือเพิกเฉยในการตรวจสอบเมื่อเกิดปัญหาโครงการจำนำข้าว และไม่ได้สมยอมปล่อยให้มีการทุจริตระบายข้าว รวมทั้งชี้ให้ศาลเห็นถึงความบริสุทธิ์ และความตั้งใจดำเนินโครงการจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ได้แถลงต่อสภาอันมีปมผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามและยังเป็นมติ ครม. โดยชี้แจงรวม 6 ประเด็น

1.ข้อกล่าวของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิด และฟ้องของอัยการโจทก์ มีพิรุธ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เริ่มกล่าวหาตนด้วยเอกสาร 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวน 79 วัน และเร่งชี้มูลความผิดหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตนพ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน ทั้งที่ข้อกล่าวหาต่อคนอื่น เรื่องทุจริตระบายข้าวยังไม่มีข้อสรุป

มีการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ใหม่อย่างมีพิรุธ ทั้งการตั้งกรรมการตรวจสอบ คุณภาพข้าวหลังฟ้องคดี การอ้างการสรุป ผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดล่วงหน้านานหลายเดือน เสมือนโจทก์รู้ผลสอบสวนล่วงหน้าว่าจะเป็นประโยชน์กับโจทก์ ที่จะนำมาเป็นหลักฐานกล่าวอ้างเรื่องความเสียหายกับตน ข้อพิรุธและความไม่เป็นธรรมนี้สอดคล้องข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่มีต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ที่สอบสวนเรียกค่าเสียหายต่อดิฉันว่า “โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม” ตามรายงาน การประชุม นบข. ครั้งที่ 3/2558 วันที่ 18 พ.ค. 2558 แล้วยังนำเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในสำนวนคดีระบายข้าวเสมือนมาเป็นหลักฐานใหม่กล่าวหาตน ทั้งที่ในชั้นป.ป.ช.ยังไม่มีเอกสารส่วนนี้กระทั่งฟ้องจึงนำมาเสนอศาล

ไม่ได้ปล่อยให้มีการทุจริต

2.นโยบายจำนำข้าว เป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ต้องปฏิบัติตามและเป็นนโยบายสาธารณะที่ทำเพื่อชาวนา 3.ยืนยันไม่ได้เพิกเฉยเพราะตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการต่างๆ เพื่อปฏิบัติการและถ่วงดุลอำนาจ การดำเนินนโยบายจึงเป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการ มิใช่ตนในฐานะนายกฯ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

4.โครงการจำนำไม่ได้ทำให้เกิดความ เสียหายตามฟ้อง แต่เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งโดยตรงและทางอ้อม คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้มีรายได้สูงขึ้น และยังส่งผลให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม สภาพัฒน์ยืนยันข้อมูลตรงกันว่าควรดำเนินโครงการไปจนถึงปี 2558 ซึ่งไทยกำลังจะเข้าสู่เออีซี

5.ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งกรณี ป.ป.ช.และสตง.เคยมีหนังสือท้วงติงโครงการตนก็รับไว้ ไม่ได้ละเลยเพิกเฉยข้อเสนอแนะ แต่ส่งให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง พิจารณา กระทั่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็นประธานตรวจสอบ ให้หน่วยงานในจังหวัดดูแลการสวมสิทธิ์ แต่การยับยั้งไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลเข้ามา

6.ไม่ได้ปล่อยปละให้ทุจริตระบายข้าว ซึ่งข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องระดับปฏิบัติการ มีคณะกรรมการรับผิดชอบและเป็นเรื่องกรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ดูแล ครม.มีมติกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการป้องกันการทุจริตในการระบายข้าวให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งการดำเนินการเกิดขึ้นก่อนจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องระบายข้าวแบบจีทูจี

ยกคำพูดบิ๊กตู่-ชี้นำคดี

“ดิฉันรู้ดีว่า ดิฉันเป็นเหยื่อของเกมการ เมืองที่ลึกซึ้ง จึงหวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรม ได้โปรดพิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริงและสภาวะ แวดล้อม ในขณะที่ดิฉันปฏิบัติหน้าที่นายกฯไม่ใช่การตั้งสมมติฐาน ที่ใช้สภาวะแวดล้อมของปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้ว มาตัดสินการดำเนินการของดิฉันในอดีต” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

เมื่อแถลงปิดคดีด้วยวาจามาถึงช่วงท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึงกลับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ แถลงถ้อยคำพร้อมเสียงสะอื้นร่ำไห้ว่า ตนไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ทำคือการใช้ประสบการณ์ ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียก ร้องให้คนไทยทุกคนเกื้อหนุนดูแล ตนก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่าในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีนี้ ใคร่ขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ ที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีของดิฉัน เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้วจะเข้าสู่กระบวน การพิจารณาได้อย่างไร คำพูดนี้เป็นการชี้นำ เสมือนหนึ่งว่ามีการกระทำความผิดแล้ว ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน ดิฉันเชื่อในคำกล่าวที่ว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จึงขอความ เมตตาต่อศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้อง โจทก์ด้วย” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว (อ่านรายละเอียด น.3)

นัดพิพากษา 25 ส.ค.ตามเดิม

ภายหลังน.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีด้วยวาจา แล้ว องค์คณะอ่านรายงานกระบวนพิจารณาว่า ตามที่จำเลยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2560 ที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งและกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ กรณีไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 นั้น ศาลเห็นว่าแม้อำนาจในการสั่งรับคำร้องหรือไม่รับคำร้องของคู่ความตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้พิจารณาไว้ว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยคำร้องว่าจะเข้าหลักเกณฑ์ที่ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของ ศาลยุติธรรม หาใช่มีคำโต้แย้งของจำเลยจะต้อง ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทุกกรณีไม่ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10660/2553 การที่ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ใช่เพราะมีกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ จึงให้ยกคำร้องจำเลย โดยศาลนัดให้ฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.ตามนัดเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงปิดคดีด้วยวาจาครั้งนี้ ได้เปิดให้ตัวแทนจากสถานทูตประเทศต่างๆ ประมาณ 15 คน เข้ารับฟังด้วย

ปชช.แห่ให้กำลังใจแน่น

สำหรับบรรยากาศหน้าศาลฯ ก่อนเวลานัดเปิดแถลง มีอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรค อดีตส.ส.เพื่อไทยเกือบทุกภาค และแกนนำนปช. อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำ ภาค กทม. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. รวมทั้งประชาชนกว่า 1,000 คน มาให้กำลังใจเนืองแน่นทั้งบริเวณหน้าศาลและรอบนอก

ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 2 กองร้อย และกองร้อยควบคุมฝูงชนหรือกองร้อยน้ำหวาน จำนวน 1 หมวด รวมทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ และกั้นแผงเหล็กโดยรอบทางเข้าศาล มีเจ้าหน้าที่คอยยืนคุมผู้ที่จะเดินผ่านเข้าออกเพื่อการรักษาความปลอดภัย

ทันทีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามีและทีมทนาย เดินทางมาถึง มวลชนต่างตะโกน “ยิ่งลักษณ์ สู้ๆ” เสียงดังก้องไปทั่วบริเวณ น.ส.ยิ่งลักษณ์โบกมือและยกมือไหว้ทักทายมวลชนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชน

เวลา 10.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางออกจากศาล หลังใช้เวลาแถลงปิดคดีนาน 1 ชั่วโมง โดยมวลชนที่ยังปักหลักรอให้กำลังใจต่างร้องตะโกนให้กำลังใจ “ยิ่งลักษณ์สู้ๆ” ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ พร้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ้มพร้อมโบกมือทักทายมวลชน ก่อนจะเดินทางกลับ

เวลา 15.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์โพสต์เฟซบุ๊กขอบคุณประชาชนและแฟนเพจที่มาให้กำลังใจในการแถลงปิดคดี รวมทั้งกำลังใจจาก พี่น้องทางบ้าน มีหลายๆ คนที่เดินทางมาศาลฎีกาทั้ง 26 นัด เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ต้องขอขอบคุณจริงๆ พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาอำนวยความสะดวก และว่า “วันนี้ดิฉันได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วในการแถลงปิดคดีอย่างหมดใจ ขอขอบคุณ จากใจอีกครั้งคะ”

อัยการย้ำสิทธิ์อุทธรณ์คดี

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. กล่าวหลังตรวจสอบความเรียบร้อยรอบศาลว่า สถานการณ์โดยรวมยังเรียบร้อยดี มีตำรวจ นครบาล 2 ตำรวจควบคุมฝูงชนและตำรวจหญิงกองร้อยน้ำหวาน 438 นาย ดูแลโดยรอบและเพื่ออำนวยความสะดวกด้านจราจร จะไม่มี การขัดขวางกลุ่มผู้มาให้กำลังใจ เพราะจากการ ข่าวพบว่าหลังให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว มวลชนจะเดินทางกลับ ไม่มีการพักค้างคืนเพื่อรอวันที่ 2 ส.ค.ที่จะพิพากษาคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ เป็นหนึ่งในจำเลย อยากขอ ความร่วมมือให้กลุ่มที่มาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของศาล และไม่ ก่อความวุ่นวายที่อาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล

นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายถึงสิทธิการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาฯในคดีโครงการ รับจำนำข้าวที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค.นี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรคสี่ บัญญัติให้คู่ความสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญดังเช่นที่ รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 278 วรรคสาม เคยบัญญัติไว้

“สมชาย”ลุ้นตัดสินคดีพธม.

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเตรียมความพร้อมของศาลฎีกาฯ ในวันที่ 2 ส.ค. เวลา 09.30 น. ซึ่งจะมีการอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.2/2558 ที่ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จากกรณีรัฐบาลนายสมชาย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือพธม. เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ว่าศาลฎีกาฯจะใช้โมเดลการรักษาความปลอดภัยและดูแลความเรียบร้อยบริเวณเช่นเดียวกับคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เเถลงปิดคดีด้วยวาจาในคดีรับจำนำข้าว

การดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณอาคารศาล ถ.แจ้งวัฒนะ ได้ประสานตำรวจ ซึ่งใช้กำลัง สน.ทุ่งสองห้อง เป็นหลัก และมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลและส่วนที่ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย ส่วนภายในอาคารศาลมี เจ้าหน้าที่ รปภ.หลายสิบคนของศาลกระจายกำลังรักษาการณ์ตามจุดทางเข้าอาคารศาล และทางเข้าห้องพิจารณาคดี รวมทั้งนำแผงเหล็กมากั้นเพื่อเป็นช่องทางเข้า-ออก ทางเดียว หน้าอาคารศาล ขณะที่ภายในอาคารศาลบุคคลที่จะผ่านเข้า-ออกเพื่อไปห้องพิจารณาคดีจะต้องผ่านจุดเครื่องสแกนตรวจอาวุธด้วย ผู้จะเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีต้องนำบัตรประชาชนมาแลกบัตรเข้า-ออก ทั้งนี้ ศาลยังไม่ได้อนุญาตให้ถ่ายทอดเสียงผ่านเครื่องขยายเสียงออกจากห้องพิจารณาคดีมายังภายนอกอาคาร เเต่จะอนุญาตหรือไม่ขึ้นอยู่กับองค์คณะ

“บิ๊กจิ๋ว”ไม่วิตกกังวล

พล.ท.พิรัช สวามิวัศดุ์ หรือเสธ.หมึก นายทหารคนสนิทพล.อ.ชวลิต กล่าวถึงศาลฎีกาฯจะตัดสินคดีสลายม็อบพธม.วันที่ 2 ส.ค. นี้ว่า พล.อ.ชวลิตจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง ซึ่งไม่ได้วิตกกังวลเรื่องคดีความ

“หลังหกล้ม ท่านได้พักรักษาตัวจากการรักษาอาการลิ่มเลือดอุดตันสมอง ตอนนี้กลับดีขึ้น เดิมส่งรายงานเอกสารต้องเกริ่นความเรื่องเดิม เดี๋ยวนี้จำได้ดีกว่าเดิม ไอ้พวกที่มาว่าท่านเป็นอัลไซเมอร์คือพวกที่มาสบประมาท หวังดิสเครดิต ตอนนี้สมองท่านลื่นปรื๊ด จะมีแค่เรื่องเดินที่ไม่ถนัดเท่านั้น” พล.ท.พิรัชกล่าว

“บิ๊กตู่”ยันศาลทำงานอิสระ

เวลา 15.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคสช.และครม. ถึงการแถลงปิดคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ว่า การแถลงปิดคดีมีมวลชนไปให้กำลังใจ 1,200 คน เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ขอร้องอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์มากนัก เป็นเรื่องที่ศาลจะรับไว้พิจารณาต่อไป ส่วนสถานการณ์ การเมืองหลังศาลมีคำตัดสินในวันที่ 25 ส.ค.นั้น เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตน แต่ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชาชน กลุ่มนักการเมือง ตนคิดแต่เพียงว่าเราต้องเดินหน้าประเทศด้วยกระบวนการยุติธรรม และให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำงาน

“ผมไม่เคยไปสั่งกระบวนการยุติธรรม เพียง แต่ให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดโดยไม่ไปก้าวล่วง ถือเป็นหลักการของรัฐบาล ผมไม่เคยต้องไปสั่งและมันก็สั่งไม่ได้อยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

โต้ชี้นำคดี-แค่ชี้แจงขั้นตอน

เมื่อถามว่าจะให้คำแนะนำประชาชนอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับทุกคน อยู่ที่ประชาชนว่าจะกลับไปสู่หนทางเดิมหรือไม่ ถ้าไม่อยากให้กลับไปอยู่ที่เดิมซึ่งมีปัญหามาก ต้องดูว่าประเด็นปัญหาประเทศนั้นอยู่ที่ไหนและอยู่ที่ใคร วันนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าประเทศ คดีความต่างๆ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมซึ่งเขาทำงานอย่างเป็นอิสระอยู่แล้ว อย่าเอามาพันกัน

เมื่อถามถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ร้องขอต่อศาลให้ความยุติธรรมไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดแม้แต่หัวหน้าคสช. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ผมไปชี้นำตรงไหน ผมยังไม่ได้ชี้นำเลย เพียงแต่ชี้แจงว่าผลการตรวจสอบมันเป็นอย่างไร เป็นขั้นตอนของพยานฝ่ายโจทก์ อยู่แล้ว เพราะผมต้องร่วมมือกับหน่วยงาน ที่จะนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็มีการตรวจสอบแค่นั้น ซึ่งตรวจสอบตามข้อเท็จจริงว่าข้าวเป็นอย่างไร ข้าวเสียหรือไม่ มันจำเป็นต้องตรวจสอบ ทุกอย่างมีการตรวจสอบไปแล้ว มีการลงนามโดยเจ้าของโกดังทุกโกดัง การตรวจสอบมากกว่าการไปยืนตรวจ เอาดีเอ็นเอไปตรวจว่าเป็นข้าวไทยหรือต่างประเทศหรือข้าวปลอมปน มีทั้งหมด เรื่องนี้ผมชี้แจงมาหลายรอบแล้ว”

“วัลลภ”ข้ามห้วยนั่งเลขาฯสมช.

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการแต่งตั้งเลขา ธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนใหม่ ว่า ที่ประชุมครม.แต่งตั้งพล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม เป็นเลขา ธิการสมช.คนใหม่ ถือเป็นการพิจารณาของฝ่ายความมั่นคงว่าในช่วงนี้จะต้องมีผู้ที่รู้เรื่องงานด้านความมั่นคงและการทหาร เข้ามาดูแลส่วนนี้ ซึ่งเราต้องดูแลคนเก่าไม่ให้เขาเสียกำลังใจด้วย ช่วงนี้ขอให้คนใหม่ได้เข้าไปทำงานระยะหนึ่ง ส่วนคนเดิมที่มีข่าวว่าจะได้ขึ้นมาก็ต้องปรับให้สูงขึ้น แต่ยังคงทำงานในด้านความมั่นคงในสมช.อยู่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์หลังครม.อนุมัติแต่งตั้งพล.อ.วัลลภ เป็นเลขาฯสมช.คนใหม่ว่า ตนอยู่กับเขาและดูการทำงานมา 1 ปี เป็นคนที่สนใจและกระตือรือร้นในการทำงานเกี่ยวกับความมั่นคง และภาษาก็ใช้ได้เพราะเป็นผู้ช่วยทูตมาก่อน ส่วนตำแหน่งที่จะให้นายสมเกียรติ จะมีการพิจารณาให้ ต้องสอบถามจากนายกฯ

ใช้ม.44 เปิด 10 ตำแหน่งรับบิ๊กขรก.

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คสช.เห็นชอบตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 เรื่องการกำหนดตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำส่วนราชการ ตามที่สำนักนายกฯเปิดรับโอนย้ายเข้ามา 100 ตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันมีคนบรรจุอยู่ 20 ตำแหน่ง แยกเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอตรวจสอบกรณีถูกกล่าวหาร้องเรียน และที่ปรึกษาพิเศษ ซึ่งไม่ได้ มีความผิด แต่ปรับย้ายมาเพื่อหาผู้ที่มีความเหมาะสมกว่าไปลงตำแหน่งนั้น เช่น กรณีพล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาฯสมช. ที่มาจากทหารตอนนั้น รองเลขาฯสมช.คนเดิมมีอาวุโส แต่ความเหมาะสมในสถานการณ์ขณะนั้นควรเป็นพล.อ.ทวีป มากกว่า คสช.จึงจะออกคำสั่งตามมาตรา 44 ปรับซีให้สูงขึ้น แต่ยังทำงานอยู่ที่สมช. ครั้งนั้นเป็นการออกมาตรา 44 เฉพาะราย แต่ปัจจุบันออกมาตรา 44 เอาไว้เพื่อเกิดเหตุการณ์ส่วนรวมไปเลย

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม.วันนี้เห็นชอบ ให้ พล.อ.วัลลภ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสมช. ส่วนนายสมเกียรติ ศรีประเสริฐ รองเลขาฯสมช. ซึ่งไม่มีความผิดใดๆ แต่ความเหมาะสมในสถานการณ์ขณะนี้ไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่ง สูงขึ้นได้ จึงต้องการดูแลเยียวยานายสมเกียรติ และวันข้างหน้าหากมีโอกาสอาจเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาฯสมช.ได้ จึงออกคำสั่งมาตรา 44 ให้ดำรงตำแหน่งรวมคนประเภทเดียวกันนี้ หรือ นางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ ซึ่งเป็นซี 10 ก็ต้องอาศัยมาตรา 44 ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ให้เข้ามารวมกลุ่มเพื่อขึ้นซี 11 แต่รับราชการที่สำนักเลขาธิการนายกฯ เช่นเดิม

รองรับซี 9 ขึ้น 10, ซี 10 ขึ้น 11

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิฯ กำหนดไว้ 10 อัตราเท่านั้น เป็นระดับกระทรวง จาก 10 ขึ้น 11 จำนวน 5 ตำแหน่ง ระดับกรม จาก 9 ขึ้น 10 จำนวน 5 ตำแหน่ง การหาคนมาลงจะเป็นกรณีพิเศษตามที่ยกตัวอย่างเพื่อดูแลเยียวยา ซึ่งนายสมเกียรติ และนางฐะปาณีย์ จะได้อานิสงส์ตามคำสั่งมาตรา 44 ที่ประกาศวันนี้ ส่วนที่สำนักนายกฯเปิด 100 ตำแหน่งนั้นคือการย้ายซี 10 มาเป็น 10, ซี 11 มาเป็นซี 11

วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 36/2560 เรื่องการกำหนดตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำส่วนราชการ ดังกล่าว โดยกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิประจำส่วนราชการระดับกระทรวงหรือกรม 5 ตำแหน่ง เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง เทียบเท่าหัวหน้าส่วน ราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง รับเงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท ระดับกรม 5 ตำแหน่ง ให้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง เทียบเท่าหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม รับเงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท

ผ่านกม.7 ชั่วโคตร-คุมเข้ม

พล.ท.สรรเสริญ แถลงว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รายงานที่ประชุมว่า ขณะนี้พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และพ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ประกาศใช้แล้ว รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายกฯ เป็นประธาน ให้เสร็จภายใน 30 วัน คือวันที่ 30 ส.ค.นี้ ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปจะแต่งตั้งคณะกรรมการย่อย 11 คณะ คณะละ 15 คน ขณะนี้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการปฏิรูปไปแล้ว 2 ด้าน คือด้านการศึกษาและปฏิรูปตำรวจ จากนี้ต้องตั้งคณะที่เหลือให้เสร็จภายใน 15 วัน คือวันที่ 15 ส.ค.นี้

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือกฎหมายเจ็ดชั่วโคตร ซึ่งจะบังคับใช้กับข้าราชการทุกคนทุกตำแหน่ง รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน รวมถึงภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการในภาครัฐ ครอบ คลุมถึงคู่สมรสทั้งจดทะเบียนสมรสและไม่จดทะเบียนสมรส รวมถึงญาติคือผู้สืบสันดาน ประกอบด้วย บุพการี ลูก คู่สมรส พี่น้อง ของเจ้าหน้าที่รัฐ บุตรบุญธรรม และผู้ที่รับเป็นบุตรบุญธรรม เป็นต้น

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้กำหนดหลักเกณฑ์กว้างๆ ว่า 1.ห้ามกระทำการที่ขัดผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ ส่วนรวม 2.ห้ามรับของขวัญ ของที่ระลึกหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ประเมินเป็นเงินได้ ส่วนข้อยกเว้นว่าถ้าให้ตามประเพณีนิยมสามารถทำได้นั้นจะออกกฎระเบียบตามมาอีก ส่วนที่ข้อห้ามดังกล่าวไปทับซ้อนกับกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ห้ามรับเงินเกิน 3,000 บาทนั้น ป.ป.ช.ร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ จากนี้จะยกเลิก กฎหมายของป.ป.ช.แล้วบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน นายวิษณุเล่าในที่ประชุมว่า ถ้าจะตีความว่าเอาซองตราครุฑราชการไปใช้หรือเอาโทรศัพท์มือถือไปชาร์จไฟหลวงก็ผิด ตีความแบบนี้ก็เว่อร์ไป แต่ถึงเวลาจริงจะมีการออกกฎหมายลูก ต้องออกระเบียบแต่ละหน่วยงาน ให้อนุญาตทำได้แค่ไหนอย่างไร

เด้งเลขาฯสกศ.-โยกย้าย10บิ๊กสธ.

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้ง ข้าราชการตามที่กระทรวงและหน่วยงานเสนอ ดังนี้ กระทรวงสาธารณสุข 10 ราย 1.นายสุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัด เป็น อธิบดีกรมควบคุมโรค 2.นายเกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัด เป็น อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 3.นางประนอม คำเที่ยง รองปลัด เป็น อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

4.นายสมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด เป็น อธิบดีกรมการแพทย์ 5.นายมรุต จิรเศรษฐสิริ ผู้ตรวจฯ เป็นรองปลัด 6.นางพรรณพิมล วิปุลากร ผู้ตรวจฯ เป็นรองปลัด 7.นายธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้ตรวจฯ เป็น รองปลัด 8.นายโอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้ตรวจฯ เป็นรองปลัด 9.นายบุญชัย ธีระกาญจน์ สาธารณสุขนิเทศก์ เป็นผู้ตรวจฯ และ 10.นายเจษฎา ฉายคุณรัฐ สาธารณสุขนิเทศก์ เป็น ผู้ตรวจฯ

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ รองปลัด เป็น อธิบดีกรมการท่องเที่ยว

กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้ง นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผอ.สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เป็นที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สกศ.

สมช.อนุมัติรับโอน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม สำนักงาน ปลัดกลาโหม เป็นเลขาธิการ สมช.

สำนักนายกฯ เสนอรับโอน นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสกศ. กระทรวงศึกษาธิการ เป็น ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกฯ

เลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่มีความรู้ความสามารถและผลการปฏิบัติงานดีเด่น ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำส่วนราชการ 2 ราย ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. เรื่อง การกำหนดตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำส่วนราชการ ดังนี้ 1.นางฐะปานีย์ อาจารวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายบริหาร เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ 2.นายสมเกียรติ ศรีประเสริฐ รองเลขาฯสมช. เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำสำนักงานสมช.

เล็งจัดครม.สัญจรที่โคราช

พ.อ.อธิสิทธิ์ เผยว่า ที่ประชุมครม.รับทราบ การจัดประชุมครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือครม.สัญจร เพื่อติดตามผลการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลในพื้นที่และพบปะประชาชน ซึ่งจะประชุมวันที่ 21-22 ส.ค.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นจ.นครราชสีมา โดยวันที่ 21 ส.ค.นี้ นายกฯและคณะจะลงพื้นที่ตรวจราชการในอำเภอหรือจังหวัดใกล้เคียง และอาจประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ซึ่งจะมอบให้รองนายกฯและรัฐมนตรีกระจายกันลงพื้นที่ เพื่อติดตามงานของรัฐบาล รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชน จากนั้นวันที่ 22 ส.ค.นายกฯ จะเป็น ประธานประชุมครม. พิจารณาวาระปกติและประเด็นขับเคลื่อนการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์จังหวัด

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เสนอรายชื่อปลัดกระทรวง เกษตรฯคนใหม่ให้ครม.พิจารณาไปแล้ว แต่วันนี้ครม.ยังไม่ได้พิจารณารายชื่อที่เสนอไป เนื่องจากมีวาระมากและเรื่องยังเสนอเข้ามาไม่ทัน คาดว่าครม.จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสัปดาห์หน้า

อนุมัติ 3.2 พันล.-อัพเกรดเอฟ 5

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมครม. ถึงการเสนอโครงการอัพเกรดเครื่องบินขับไล่ F-5 mod ระยะที่ 2 จำนวน 4 เครื่อง มูลค่า 3,200 ล้านบาท ผูกพัน 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2560-2563) ต่อครม. ว่า ครม.รับทราบโครงการปรับปรุงเครื่องบินเอฟ 5 เฟส 2 ซึ่งเป็นโครงการเก่า ที่มีการอนุมัติไว้หมดแล้ว โดยใช้งบประมาณในการพัฒนาของกองทัพอากาศ จำนวน 3,200 ล้านบาท และเมื่อจะดำเนินการปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อให้ครบฝูงบินก็ต้องเสนอให้ครม.รับทราบตามขั้นตอน ทั้งหมดงบที่ใช้ไม่ได้ใช้งบกลางหรือของหน่วยงานใด

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า โครงการอัพเกรดเพื่อให้เครื่องบินขับไล่ เอฟ-5 มีสมรรถนะสูงขึ้นและยืดอายุการใช้งานออกไป 15 ปี เพิ่มขีดความสามารถการรบให้สูงขึ้น ในโครงการปรับปรุง F5 เฟสที่ 1 และ เฟสที่ 2 จะทำให้กองทัพอากาศมี F-5E/F Super Tigris จำนวน 14 เครื่อง

กองปราบฯ ส่งคดี”วัฒนา”ให้ปอท.

ที่กองปราบปราม พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผบก.ป. เปิดเผยกรณีตำรวจสันติบาล เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ หลังโพสต์เฟซบุ๊กชักจูงใจบุคคลทั่วไปที่เข้าข่ายความผิดตามตามกฎหมาย อาญา มาตรา 116 ว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนของกองปราบฯ ได้ส่งสำนวนคดีนี้ให้ บก.ปอท.ดำเนินการต่อแล้ว เนื่องจากเป็นการโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก จึงเป็นความผิดทางเทคโนโลยี ที่บก.ปอท.มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการแทน ส่วนจะถึงขั้นตอนออกหมายจับหรือไม่นั้น ต้องรอให้พนักงานสอบสวนของบก.ปอท.ตรวจสอบและดำเนินการต่อไป

วันเดียวกัน นายวัฒนาเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เบื้องต้นพนักงานสอบสวน ปอท.สอบปากคำโดยละเอียด พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนปล่อยตัวกลับไปโดยไม่ต้องประกันตัว เนื่องจากมาแสดงตัวตามหมายเรียกและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

แจงศอตช.ตรวจสอบ 353 ขรก.

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกฯ แถลงว่า ที่ประชุมคสช.รับทราบรายงานความคืบหน้ากรณีศอตช. ตรวจสอบข้าราชการ 1-8 บัญชี จำนวน 353 คน และฉบับที่ 9 อีก 70 คน โดยมีข้อสรุปว่าจาก 353 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยต่อไปได้และให้จบเรื่อง 58 คน โดยมีกรณีปลดจากคำสั่งเพราะไม่มีเหตุต้องดำเนินการต่อไป ให้คืนกลับตำแหน่งเดิม 4 คน, รอปลดจากคำสั่ง 2 คน ซึ่งตรวจสอบเสร็จแล้ว, เสียชีวิต 2 ราย, เกษียณอายุและไม่สามารถดำเนินการทางวินัยโดยผู้บังคับ บัญชาต่อไปได้ 11 คน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรณีป.ป.ช.กำลังไต่สวน, พ้นจากตำแหน่งเพราะลาออกหรือครบวาระการเป็นกรรมการ ขาดคุณสมบัติ หรือต้องคำพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง 39 คน

2.กลุ่มที่สอบสวนแล้วไม่พบความผิด 30 คน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทุกองค์กร ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นชอบให้ยุติเรื่องโดยไม่มีการลงโทษ และคืนตำแหน่งกลับให้แล้ว โดยจะประกาศชื่อในเว็บไซต์ต่อไป 3.กลุ่มที่สอบสวนแล้วพบว่ามีความผิดและสั่งลงโทษไปแล้ว 72 คน โดยแยกเป็น ลงโทษไล่ออก 14 คน ให้ปลดออก 2 คน ให้พ้นจากตำแหน่งโดยไม่มีโทษ 44 คน ไม่เกี่ยวคดีในป.ป.ช. ให้ลงโทษเล็กน้อย เช่น ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ตักเตือน 12 คน และ4.กลุ่มที่การสอบสวนยังไม่เสร็จ 193 ราย แบ่งเป็น ต้นสังกัดสอบเสร็จแล้วให้ลงโทษเล็กน้อย แต่ป.ป.ช.ไม่เห็นด้วยจึงไม่อาจยุติเรื่องจึงไม่จบ 28 คน, ต้นสังกัดยังสอบสวนไม่เสร็จ 165 คน

ศาลปค.ย้ำ-เพิกถอนปลด”ศิโรตม์”

วันที่ 1 ส.ค. ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2551 ที่ลงโทษปลดนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ออกจากราชการ กรณีมีความเห็นว่าการพิจารณารับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์เปอเรชั่น จำกัด มหาชน ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จากน.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาทเมื่อปี 2540 ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

ศาลเห็นว่า นายศิโรตม์ ไม่มีความผิดตามที่ป.ป.ช.ชี้มูล เนื่องจากการพิจารณาเรื่องยกเว้นภาษีดังกล่าวเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งสำนักตรวจสอบภาษีและสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ต่างเห็นตรงกันว่าเป็นการรับโอนโดยเสน่หาเข้าข่ายได้รับการยกเว้น ภาษี และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงว่านายบรรณพจน์หรือคุณหญิงพจมาน ให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่นายศิโรตม์

จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ลงโทษปลดนายศิโรตม์ และให้กระทรวง การคลังคืนสิทธิประโยชน์ที่นายศิโรตม์ พึงได้รับหากมิได้ถูกลงโทษทางวินัยตามคำสั่งดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2549 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ โดยให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

นายศิโรตม์ ซึ่งเดินทางมารับฟังคำพิพากษาปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ โดยกล่าวว่าที่ผ่านมาไม่เคยพูดก็ขอที่จะไม่พูดต่อไป ขณะที่ ตัวแทน ป.ป.ช.ระบุจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อไป

คดีดังกล่าวศาลปกครองกลางเคยมีคำพิพากษาให้นายศิโรตม์ ชนะคดีมาแล้ว และกระทรวงการคลังไม่ได้อุทธรณ์ ทำให้คดีถึงที่สุด แต่ป.ป.ช.ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ อ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ได้มีส่วนร่วมพิจารณาคดีแต่ต้น ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ศาลปกครอง กลางตั้งองค์คณะพิจารณาคดีใหม่

รัฐบาลยันอุ้ม”โกตี๋”แค่ข่าวปล่อย

วันที่ 1 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวชายชุดดำอุ้ม นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ หายตัวไปจากสปป.ลาว ว่า เห็นข่าวมาหลายวันแล้วจากสื่อ จากโซเชี่ยลมีเดีย และยังไม่มีการรายงานจากฝ่ายความมั่นคง คิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทย ลองคิดง่ายๆ ใครไปทำในดินแดนของคนอื่นทำได้หรือไม่ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ไปขนาดนั้น หน่วยในพื้นที่ประเทศเขาก็มี ที่ผ่านมาได้ความร่วมมือจากสปป.ลาวมาตลอด ซึ่งแจ้งมาว่ายังไม่ทราบที่พำนักที่ชัดเจนก็ติดตามอยู่และต้องตรวจสอบต่อไป

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวการจับกุมโกตี๋ มาไทย ว่า ตนยังไม่รู้ รู้จากสื่อที่มาถามทุกวัน และเพราะอยู่ดีๆ ก็มีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจึงไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร และนายวุฒิพงศ์ ก็อยู่ที่ลาวมานานโดยที่เราไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไรกับเขา และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง จึงไม่มีผลกระทบและไม่มีการประเมินอะไร เราไม่ได้ ไปดูแลเขาและไม่รู้ว่าจะจับมาทำไม หากจับคงจับไปนานแล้ว ผ่านมา 3 ปีที่แล้วแต่เรื่องนี้เพิ่งมาเกิด เมื่อถามว่าแต่เกิดช่วงกำลังพิจารณาคดีความของเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดง พล.อ.ประวิตร ย้อนว่า เกิดแล้วอย่างไรเพราะคนเพื่อไทยมีเรื่องอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่หรือ เรื่องนี้ ไม่เกี่ยวข้องอะไรสื่อจะมาถามทำไม

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ได้รับรายงาน เชื่อว่าเป็นการปล่อยข่าวมากกว่าจะเป็นความจริงเพื่อให้เกิดกระแสขึ้นในสังคม และช่วงนี้ก็มีข่าวลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก

พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสมช. กล่าวว่า ต้องตรวจสอบก่อนเพราะเป็นไปได้หลายสาเหตุ เช่นอาจไปหลบซ่อนเองเพื่อสร้างข่าวหรือสร้างภาพขึ้นมา ทราบว่ากลุ่มเขาก็แตกแยกภายใน จึงต้องติดตามพิสูจน์ วิเคราะห์และประเมินต่อไป ส่วนที่โพสต์ภาพมีอุปกรณ์มัดมือนั้นภาพนำมาจากตรงไหนก็ได้ เดี๋ยวนี้สามารถสร้างภาพได้ทุกรูปแบบ ช่วงนี้มีกระแสต่างๆ ออกมาเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐ ให้ปั่นป่วน พวกเขาสามารถสร้างข่าวหรือกระพือข่าวให้เห็นว่าเป็นการกระทำของรัฐ

ขณะที่รายงานข่าวเผย กรณีสมาชิกเฟซบุ๊กชื่อ Ploynuan Vongvibulchai โพสต์ระบุ โกตี๋ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญา มาตรา 112 และคดีก่อการร้าย ซึ่งหลบหนีและเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในสปป.ลาว ถูกชายกว่า 10 คนอุ้มไปฆ่าในเขตสปป.ลาวนั้น ล่าสุด หน่วยงาน ความมั่นคงประสานผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำประเทศลาวให้ตรวจสอบ พบว่าในสปป.ลาวไม่มีข่าวดังกล่าวเกิดขึ้น และเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวนี้มาจากต่างประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน