“วิษณุ”ชี้ สว.ไม่ผิดค้านแก้รธน. ยัน 30 วัน ไม่ใช่เตะถ่วง ย้ำ ตู่ หนุนแก้

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เห็นควรให้มีการพูดคุยในกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ฉบับก่อนรับหลักการ โดยไม่เห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรีที่ส่งสัญญาณให้รับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงหากจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ต้องทำประชามติเสียก่อนว่า เป็นความเห็นของส.ว. แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างจะต้องไปพูดคุยกันในกรรมาธิการฯ ซึ่งตั้งขึ้นตามข้อบังคับเพื่อพิจารณาก่อนรับหลักการ รัฐบาลหรือตนคงออกความเห็นอะไรไม่ได้

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

โดยร่างนั้นเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ร่าง เป็นร่างของพรรคฝ่ายค้าน 1 ร่าง หลักการคล้ายคลึงกัน และร่างของพรรคฝ่ายค้านที่เป็นการแก้ไขรายมาตราอีก 4 ร่าง ร่างของไอลอว์อีก 1 ร่าง ซึ่งของไอลอว์นั้นประธานกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ทั้งหมดจะเข้าไปสู่การพิจารณาของกรรมาธิการฯ และได้ยินว่าจะนำบทสรุปหรือข้อสังเกตของกรรมาธิการชุดของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งถือว่าเป็นการดี เพราะตอนชุดของนายพีระพันธุ์เสนอนั้น ยังไม่มีร่างใดเลยแม้แต่ร่างเดียว ดังนั้นจึงต้องนำมาเทียบกันทั้งหมด ต้องใช้เวลาไม่เกิน 30 วันนี้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งที่เป็นข่าวและวิจารณ์กันว่ารัฐบาลส่งสัญญาณอะไรนั้น เมื่อวันอังคารที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนก็นั่งอยู่ในที่เกิดเหตุนั้นด้วย แต่ไม่เห็นว่าเป็นการส่งซิกใดๆ ทั้งนั้น เป็นเพียงการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นธรรมดาของทุกวันอังคารก่อนประชุมครม. ที่รัฐมนตรีคนไหนหรือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคนไหนมีข้อหารือหรือเล่าให้นายกรัฐมนตรีฟัง ก็มาพูดคุยธรรมดา ไม่ใช่เป็นการประชุมด้วยซ้ำไป

เนื่องจากมีคนอื่นอยู่ด้วยหลายคน เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งส่วนใหญ่พูดคุยกันเรื่องวัคซีนว่าจะทำอย่างไรที่จะเอาเข้ามาได้โดยเร็ว พูดกันถึงเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และอีกหลายเรื่องที่สภาพัฒน์ฯ ต้องจัดการ

“มีการพูดถึงเรื่องปัญหารัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯ ปรารภขึ้นมาว่าร่างของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลได้ลงชื่อกันจำนวนกว่า 200 คน เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาที่พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อเสนอแล้วก็ต้องเข็นต่อไป จะไปกลับลำได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่นายกฯพูด ซึ่งทุกพรรคก็เห็นด้วย ทั้งท่านอนุทิน ท่านจุรินทร์ ท่านวราวุธ ต่างก็เห็นด้วยว่าถูกต้อง นายกฯก็บอกว่าอันนี้คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

ส่วนการที่จะทำความเข้าใจอย่างไรต่อไปกับคนอื่นซึ่งในที่นี้หมายถึงสมาชิกรัฐสภา ทั้งผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และประชาชน ก็รอฟังกรรมาธิการว่าเขาว่ากันอย่างไร เพราะถ้าออกมาตรงกันก็จะได้ไม่ต้องเหนื่อยอธิบาย แต่ถ้าไม่ตรงกันก็ต้องช่วยกันอธิบาย พูดกันแค่นี้ ไม่ได้ส่งซิกอะไร

ส่วนส.ว.จะพูดกันอย่างไรก็ถูก เพราะถือเป็นผู้มีสิทธิเสียบบัตร หรือผู้มีสิทธิออกเสียง หรือขานชื่อ ท่านจะเอาอย่างไรก็ต้องแล้วแต่ท่าน แต่ทั้งหมดนี้คงต้องคุยกันในกรรมาธิการก่อน ไม่อย่างนั้นจะตั้งขึ้นมาหาอะไร และตอนที่นายกฯ พูดคือวันอังคาร กรรมธิการยังไม่ได้ประชุมกัน เขาเพิ่งประชุมกันนัดแรกวันพุธ”

ผู้สื่อข่าวถามว่าถึงอย่างไรเสียงของส.ว.ก็มีส่วนสำคัญที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะส.ว.มีตั้ง 250 เสียง ต้องขอรอฟังการพูดคุยของกรรมาธิการฯกันเสียก่อนเพื่อให้ตกผลึก

ผมได้พูดประโยคสำคัญ พวกคุณสังเกตหรือไม่ เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะมีอะไรซ่อนอยู่ ผมบอกว่าทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมาธิการฯ ถ้ากรรมาธิการฯ ออกมาตรงกับแนวของเรา มันก็ได้ แต่ถ้าไม่ตรงกัน ก็ต้องไปช่วยกันทำความเข้าใจกับส.ส. ส.ว.และประชาชน

เมื่อถามย้ำว่ามีส.ว.บางคนเรียกร้องให้ทำประชามติก่อนตั้งส.ส.ร. นายวิษณุ กล่าวว่า มีบางคนพูดเท่านั้น ตนได้ยินมานานแล้ว ก็ไม่เป็นไร ทั้งนายสมชาย (แสวงการ) นายไพบูลย์ (นิติตะวัน) ก็พูด ก็ไม่เป็นไร ก็ถือเป็นข้อเสนอและเป็นข้อสังเกตที่ดี

และนั่นคือสิ่งที่พูดกันมาก่อนจะมาตั้งกรรมาธิการ เพราะการพูดอย่างนั้นจึงเป็นที่มาของการตั้งกรรมาธิการตามข้อบังคับ 121 วรรค 3 เพราะเกิดตกใจขึ้นมาว่าตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ที่เคยมีมานั้น ตรงกับกรณีที่เกิดขึ้นในเวลานี้หรือไม่

เพราะในวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้บอกไว้จริงๆ ว่าอำนาจมาจากประชาชน เมื่อมาจากประชาชนก็ต้องกลับไปถามประชาชน แล้วหลักดังกล่าวจะนำมาใช้กับครั้งนี้ได้หรือไม่ อันนี้ก็สุดแท้แต่ ซึ่งตนเองมีความเห็นแต่ไม่อยากพูด ดังนั้น ควรไปพูดคุยกันในกรรมาธิการ ในเมื่อมีเวลาแล้วก็พูดกันใน 30 วันนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์

30 วันนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อจะถ่วงเวลาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะได้อธิบายแล้วว่าถึงจะรับหลักการในวาระที่ 1 แล้วสมมติว่าไม่ได้ตั้งกรรมาธิการ ก็ยังเดินหน้าต่อไม่ได้ และอย่างมากก็ตั้งกรรมาธิการพิจารณาในวาระ 2, 3 จนกระทั่งเปิดสภาฯ มาพิจารณาวาระ 2 รายมาตรา จนกระทั่งพิจารณาเสร็จแล้วทิ้งไว้ 15 วันเพื่อพิจารณาวาระ 3 เสร็จแล้วก็ต้องทิ้งไว้อีกเป็นเดือนๆ เพราะว่ายังไปทำประชามติไม่ได้ ซึ่งผมทำปฏิทินไว้ในใจว่ากว่ากฎหมายประชามติจะผ่าน ก็ไปถึงก.พ.-มี.ค.2564

เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่ทำเสร็จในเดือนธ.ค.ก็ต้องทิ้งเอาไว้อยู่ดี เพราะต้องรอ ไม่เช่นนั้นไม่รู้จะไปลงประชามติกันอย่างไร ฉะนั้นก็ต้องใช้เวลา ซึ่งก็รอบคอบ ดังนั้นใครที่นั่งฟังอยู่ บางคนก็บอกว่ากลัวอย่างนั้น บางคนก็บอกว่ากลัวอย่างนี้ บางสิ่งที่กลัวบ้างก็ไม่มีเหตุผล บางสิ่งก็อาจจะมีเหตุผล ก็ควรนำมาถกกันเสียในช่วงที่สภาปิด 30 วันนี้ เพราะถ้าสภาฯไม่ปิด การตั้งกรรมาธิการฯ เป็นการถ่วงเวลาจริงๆ แต่เมื่อสภาปิดสมัยประชุม 30 วัน ทำอะไรก็ไม่ได้ในสภา จึงใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าทำเสร็จเร็วไม่ถึง 30 วันก็ยิ่งดี และถึงอย่างไรก็ต้องรอเปิดประชุมสภาวันที่ 2 พ.ย.อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม การจะเปิดสภาสมัยวิสามัญฯ นั้นยุ่งยากพอสมควร เพราะต้องมีพระราชกฤษฎีกาเปิดสภา แล้วยังต้องมีพระราชกฤษฎีกาอีกฉบับหนึ่งเพื่อปิดสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าไม่ต้องเปิดสมัยวิสามัญฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่แน่ อาจจะเปิดก็ได้ เพราะการเปิดสภา สมาชิกเข้าชื่อกันขอเปิดได้ เพราะการเปิดสภาวิสามัญนั้นทำได้ 2 แบบ โดย ครม.ขอเปิด และสมาชิกสภาเข้าชื่อกันขอเปิด แต่ในเมื่อจะเปิดสภาอยู่แล้วนที่ 1 พ.ย. ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ดังนั้น ก็ต้องเปิดวันที่ 2 พ.ย. ก็ประชุมร่วมกันได้เลย ไม่ได้เสียเวลา ส่วนความมั่นใจก็รอฟังทางกรรมาธิการฯ ส่วนตนเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่เข้าชื่อกันเสนอนั้น เขาก็มีความมั่นใจของเขาแล้ว เชื่อว่าในกรรมาธิการฯ พูดกันเดี๋ยวเดียวก็เข้าใจ ในเมื่อแต่ละคนมีเหตุผลทั้งนั้นก็ให้นำมาพูดกัน

“หากรับหลักการในวาระ 1 แล้วตั้งกรรมาธิการฯ 45 คน ซึ่งคนนอกเป็นกรรมาธิการฯไม่ได้ เพื่อให้มาตรวจแก้ร่างฯ ซึ่งครั้งนี้ยังไม่ได้เป็นการร่างส.ส.ร. แต่เป็นเพียงการเปิดทางให้มีส.ส.ร. ซึ่งกรรมาธิการฯ 45 คนต้องมาจากสมาชิกรัฐสภา ครม.ส่งคนไปไม่ได้ คนนอกเป็นไม่ได้ แม้แต่ร่างไอลอว์ของประชาชน ถ้าเข้าไปได้แล้วรับหลักการให้วาระ 1 ไอลอว์ก็เป็นกรรมาธิการฯไม่ได้ แต่ไปชี้แจงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน