‘เฟซบุ๊ก’ แจง ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ยังไม่มีแผนมาไทย ‘โอ๊ค’ ย่องพบดีเอสไอรับทราบข้อหาคดีฟอกเงินแบงก์กรุงไทย ‘วัฒนา’ โวยรัฐบาลซ้ำเติม ‘เจ๊หน่อย’ ทั้งที่ไม่ได้ทำผิด เตือนอย่าสุมไฟขัดแย้ง ‘มีชัย’ เมินป.ป.ช. เสนอตัดอำนาจสตง.สอบทุจริต เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.-ตีกรอบวันไต่สวน บอกให้ไปสู้ในชั้นสนช.เอง สภาชี้คุณสมบัติกรรมการสรรหากกต.ไม่ขัดรธน. เปิดรับสมัคร 7 เสือชุดใหม่วันนี้ กก.ปฏิรูปวางกรอบปราบโกง 4 ด้าน ขรก.ทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ‘บุญสร้าง’เผยปฏิรูปตำรวจคืบแล้ว 90 %

‘ซักเคอร์เบิร์ก’พับแผนมาไทย

จากกรณีมีการนำเสนอข่าวว่า นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของเฟซบุ๊ก จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย และเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในวันที่ 30 ต.ค.นี้

ล่าสุด วันที่ 18 ต.ค. โฆษกของเฟซบุ๊กประเทศไทยแจ้งว่า “ในช่วงนี้ผู้นำระดับอาวุโสของเฟซบุ๊กยังไม่มีแผนที่จะเดินทางมายังประเทศไทย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การเดินทางมาเยือนและพบกับตนนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นการเดินทางมาดำเนินการในส่วนของเขา และมีการขอเข้าพบและหารือร่วมกันในการแสวงหาความร่วมมือในเรื่องการป้องกันแก้ไขปัญหาในเรื่องผลกระทบของอาชญากรรมข้ามชาติว่าจะมีมาตรการและแผนการป้องกันอย่างไร ซึ่งไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดปัญหา ขอร้องว่าการพบกันครั้งนี้อย่าไปยึดโยงกับเรื่องนั้นเรื่องนี้เลย ถือเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ดีกว่าไม่ได้พูดกันเลย

‘โอ๊ค’ดอดพบดีเอสไอ

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เปิดเผยว่าช่วงบ่ายวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้รับการประสานจากทีมทนายความของนายพานทองแท้ ชินวัตร และพวกซึ่งประกอบด้วย นางกาญจนาภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน และนางเกศินี จิปิภพ จะเดินทางมาพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ในคดีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยกู้สินเชื่อให้กลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) โดยพนักงานสอบสวนนัดให้มาพบดีเอสไอ วันที่ 24 ต.ค. แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย จึงขอมาพบพนักงานสอบสวนก่อนกำหนด

ทางคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งอัยการคดีพิเศษ ร่วมอยู่ด้วย ได้สอบปากคำเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน พร้อมดำเนินการตาม ขั้นตอนแจ้งข้อกล่าวหาใน 4 ข้อหา คือ สมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป, ร่วมกันฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิด ฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบแล้ว ตามมาตรา 5 และมาตรา 9 วรรคหนึ่ง, มาตรา 9 วรรคสองแห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการ ฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งทุกคนปฏิเสธทุก ข้อกล่าวหา และขอส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 60 วัน หลังเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้ง ข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวกลับทันทีในเวลา 17.00 น.

รับทราบข้อกล่าวหาคดีกรุงไทย

รานงานข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยว่า กรณีผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย เข้าพบก่อนถึงวันนัดตามหมายเรียกนั้น เนื่องจากเกรงว่าหากมาตามกำหนดอาจมีมวลชนหรือกลุ่มคนที่สนับสนุนมาให้กำลังใจจำนวนมาก อีก ทั้งใกล้วันงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จึงไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย และต้องการมารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อเข้า สู่กระบวนการยุติธรรมให้เร็วที่สุดด้วย ยืนยันว่าคดีดังกล่าว ดีเอสไอจะดำเนินการให้เสร็จก่อนคดีจะหมดอายุความในปี 2561

คดีดังกล่าว ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีหนังสือเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2559 ถึงดีเอสไอ เพื่อส่งข้อมูลและแจ้งผลการยึดอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีผู้บริหารธนาคาร กรุงไทย อนุมัติสินเชื่อให้แก่กลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร โดยมิชอบ และขอให้ ดีเอสไอตรวจสอบบุคคลที่รับโอนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ ความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคล 4 คน

โดยเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเรื่องนี้ มี 10 ล้านบาทและ 26 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 25/2560 ต่อมาพนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นชอบร่วมกันว่าคดีมีพยานหลักฐานตามสมควรแจ้งข้อกล่าวหาบุคคล 4 คน

‘วัฒนา’อัดนายกฯ ซ้ำเติม‘หน่อย’

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ถูกสื่อโซเชี่ยลวิจารณ์การขึ้นรถแห่เชิญชวนประชาชนปลูกดอกดาวเรือง มีเจตนาทาง การเมืองแอบแฝงว่า ตนตั้งใจจะวางเฉยกับประเด็นของคุณหญิงสุดารัตน์ เพราะเชื่อว่าการแสดงออกของคุณหญิงสุดารัตน์ ไม่ใช่การฉวยโอกาสหาเสียง เพราะเป็นนักการเมืองที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ย่อมทราบดีว่าสถานการณ์แบบนี้ควรวางตัวเช่นไร สิ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์ ทำไป คือ การแสดงออกถึงความจงรักภักดีซึ่งเป็นเสรีภาพที่ทำได้โดยไม่มีรูปแบบ แต่เมื่อ เกิดประเด็นทำให้กลุ่มคนอีกฝ่ายเข้าใจผิด ก็ได้ออกมาขอโทษสังคมแล้ว เรื่องนี้จึงสมควรยุติลง

เสรีภาพการแสดงออกเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่เผด็จการเคยชินกับการละเมิดสิทธิของประชาชนมาตลอด กว่า 3 ปีที่อยู่ในอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพชุมนุม เสรีภาพทางวิชาการ หรือเสรีภาพแสดงความคิดเห็น จนเลยเถิดถึงเสรีภาพในการแสดงออกความจงรักภักดี ซึ่งทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันนายกฯ จึงควรวางตัวให้สมกับเป็นผู้ใหญ่และควรช่วยคลี่คลายสถานการณ์เพื่อสร้างบรรยากาศปรองดอง

แต่การออกมาซ้ำเติมคุณหญิงสุดารัตน์ โดยขอให้สังคมช่วยกันประณามทั้งที่ไม่ได้ทำสิ่งใดที่เป็นความผิดจึงเป็นการ ฉวยโอกาสทางการเมืองในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ทั้งยังสุมไฟความขัดแย้งให้ขยายตัวมากขึ้น ตนคิดว่าน่าละอาย

‘มีชัย’เมินป.ป.ช.ชงแก้กม.ลูก

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรม นูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งเรื่องกลับมายังกรธ.แล้ว สิ่งที่จะแก้ไขให้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องขั้นตอนปฏิบัติ ระยะเวลาและอำนาจ

โดยป.ป.ช.เห็นว่าระยะเวลาที่กรธ.กำหนดเรื่องต้องไต่สวนภายใน 7 วันหลัง รับเรื่อง หรือถ้าไต่สวนแล้วพบว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ผิดจะต้องแจ้งกลับเขาภายใน 7 วันนั้น ป.ป.ช.เห็นว่าอาจทำไม่ทัน แต่กรธ.คิดว่ากำหนดไว้พอสมควรแล้ว จึงเห็นว่าเมื่อถึง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ให้ป.ป.ช.ไปแก้ไข แต่ถ้าแก้เวลานานไปประชาชนจะบ่นได้

นายมีชัยกล่าวว่า สืบเนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวเขียนรองรับในกรณีสำนักงานการตรวจการแผ่นดิน(สตง.) พบการทุจริตให้ ส่งเรื่องมายังป.ป.ช.ได้ด้วยนั้น ป.ป.ช.ท้วงว่าจะทำให้กระทบอำนาจของเขา ซึ่งกรธ.เห็นว่าเรื่องนี้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้จึงทำอะไรไม่ได้ อีกทั้งไม่ถือว่าเป็นการตัดอำนาจป.ป.ช. เพราะเขายังเป็นผู้พิจารณาเหมือนเดิม

‘พรเพชร’ย้ำเห็นต่าง-ตั้งกมธ.ร่วม

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีอะไรที่กรธ.ไม่สามารถแก้ไขให้ป.ป.ช.ได้บ้าง นายมีชัยกล่าวว่า ยังพิจารณาข้อท้วงติงไปได้ครึ่งเดียว เพราะ ป.ป.ช.ส่งมาเยอะมาก เกือบทุกมาตรา กรธ.จึงต้องใช้เวลา แต่ต้องทัน และจะไม่ชะลอ การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.แน่นอน ขณะนี้เราส่งให้เจ้าหน้าที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ดู เพื่อพิจารณาว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวถึงกรณีที่สนช.จะพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่สนช.ยังเห็นต่างกับกรธ.ในมาตรา 7 วรรคสาม ว่าด้วยการให้อำนาจผู้ว่าการ สตง. ตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ในวันที่ 19 ต.ค.ว่า จะพิจารณาตามลำดับมาตรา โดยให้ผู้สงวนความเห็นพูด เป็นหลัก แล้วให้กรรมาธิการ(กมธ.) เสียง ข้างมากชี้แจง

หากตกลงกันได้ กมธ.เสียงข้างมากเปลี่ยนใจยอมก็ไม่ต้องพูดกันมาก ถ้าไม่เปลี่ยนก็ต้องให้สนช.โหวต แต่ถ้ายังติดใจ อีกก็ไปว่ากันที่กมธ.ร่วม ยอมรับว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการขอสงวนคำแปรญัตติมาก ผิดกับกฎหมายฉบับที่ผ่านๆ มา คิดว่าเกิดจากกฎหมายมันยาว แต่สนช.มีเวลาเพียง 60 วัน เวลาเร่งรัดจึงตกลงกันไม่ได้

เปิดรับสมัครว่าที่กกต.ใหม่

นายพรเพชรกล่าวถึงขั้นตอนการสรรหากกต.ชุดใหม่ 7 คนว่า เลขาธิการวุฒิสภา ตรวจสอบคุณสมบัติตัวแทนคณะกรรมการสรรหาจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว พบว่าไม่ขัดคุณสมบัติ ไม่เคยเป็นข้าราชการการเมือง ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาเกินกรอบเวลา 20 วัน คณะกรรมการสรรหาจึงต้องใช้เท่าที่มีอยู่คือ 6 คน

โดยวันที่ 19 ต.ค. จะเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการสรรหาเป็นวันแรก มีเวลาสรรหา 90 วัน หากได้ไม่ครบ กฎหมายระบุให้สรรหาใหม่ ถ้าได้ 5 จาก 7 คน ก็นำโปรดเกล้าฯ ขอแต่งตั้งได้ คิดว่ากกต.ในสัดส่วนจากศาล 2 คน ไม่น่ามีปัญหา เพราะใช้การคัดเลือก ส่วนที่ต้องการพิจารณาจากคณะกรรมการสรรหาอีก 5 คน หากได้อีก 3 คน มารวมกันเป็น 5 คน ก็ทำหน้าที่กกต.ได้ หากได้ไม่ครบก็สรรหาใหม่ ได้กี่คนก็เสนอให้ที่ประชุมสนช.เห็นชอบ

ยืนยันคุณสมบัติไม่มหาเทพ

เมื่อถามว่า คุณสมบัติกกต.มหาเทพ หากมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาไม่ครบจำนวนจะทำอย่างไร นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่เทพ ธรรมดา ขนาดคณะกรรมการสรรหายังหา ไม่ยาก มีเพียงบางองค์กรเท่านั้นที่ส่งมาช้า เบื้องต้นคิดว่าจะมีคนมาสมัครเยอะ คุณสมบัติที่กำหนดไว้ มีบุคคลเข้าข่ายพอสมควร ทั้งนี้ มีอยู่มาตราหนึ่งกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาเชิญบุคคลมาดำรงตำแหน่งได้ แต่คณะกรรมการสรรหายังไม่ได้พูดกันเรื่องนี้ เพราะเป็นวิธีการใหม่

นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการสำนักงานวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหากกต. กล่าวว่า หลังจากมีข่าวว่าตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อคุณสมบัติการเป็นกรรมการสรรหากกต.นั้น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานเลขาธิการครม.ให้ตรวจสอบคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหาทุกคน พบว่านายเจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญมีคุณสมบัติถูกต้อง เพราะไม่เคยเป็น ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งได้สอบถามนายเจริญศักดิ์ ยืนยันไม่เคยดำรงตำแหน่ง ดังกล่าวมาก่อน

วางกรอบปฏิรูปปราบโกง 4 ด้าน

ที่สำนักงานป.ป.ช. ถ.พิษณุโลก นาย ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แถลงความคืบหน้าการจัดทำแผนปฏิรูปที่ต้องเสร็จภายในเดือนธ.ค.นี้ว่า กรอบการทำงานมี 4 ด้านหลักคือ 1.การป้องกันและเฝ้าระวัง เน้นให้ความรู้และสร้างเครือข่ายประชาชนเพื่อช่วยชี้เบาะแสทุจริต

2.การป้องปราม จะให้ความสำคัญกับหัวหน้าส่วนราชการ ต้องมีมาตรการต่อต้านการทุจริต หากปล่อยปละละเลย หัวหน้าส่วนราชการต้องรับผิดชอบทางวินัย ปกครอง และอาญา รวมทั้งต้องมีการประเมินคุณธรรมภายในองค์กร หากไม่ผ่านเกณฑ์ หัวหน้าส่วนราชการจะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ต้องมีมาตรการลดใช้การดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ให้มาก และกำหนดให้ข้าราชการทุกระดับ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

3.การปราบปราม ต้องมีมาตรการที่รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด องค์กรตรวจสอบต้องยก ระดับการทำงาน นำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว ต้องมีมาตรการเชื่อมโยงระหว่างการปราบปรามการทุจริตกับการฟอกเงินและมีมาตรการติดตามทรัพย์สินคืน และ 4.การบริหารจัดการ ในอนาคตจะต้องมีหน่วยงานในลักษณะเดียวกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แต่จะ ไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมือง โดยมีหน่วยงานขึ้นมาขับเคลื่อนโดยเฉพาะ

ขรก.ทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ด้านพล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวว่า ข้าราชการทุกระดับจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯต่อหัวหน้าส่วนราชการ แต่หัวหน้าส่วนราชการไม่สามารถเปิดดูได้ เว้นแต่กรณีมีการร้องเรียนเข้ามา โดยจะให้หน่วยงานตรวจสอบ ทั้งป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบรายละเอียดความมีอยู่จริง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดเรื่องการจะยื่นบัญชีทรัพย์สินฯใหม่ว่าจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง 10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือไม่

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวว่า คณะกรรมการจะรับฟังข้อมูลจากภาครัฐ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วประเทศ โดยจะลงพื้นที่ต่างจังหวัดในเดือนพ.ย.นี้ ขณะที่ ส่วนราชการต่างๆ ได้เชิญมาให้ข้อมูล เบื้องต้นจะรับฟังผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเว็บไซต์ป.ป.ท. และจะผ่านไป ยังเว็บไซต์ของทุกส่วนราชการเพื่อรับฟังความคิดเห็นข้าราชการทุกคน เพื่อเก็บ ข้อมูลทั้งหมดไปประมวลเพื่อเป็นแนวทางป้องกันปัญหาให้ได้

จ่อคลอดแผนปฏิรูปทรัพยากรฯ

ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) นายรอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการว่า จากการประชุมหารือ 12 ครั้ง เพื่อเตรียมจัดทำร่างแผนการดำเนินการปฏิรูปฯ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้ง 6 เรื่อง คือ บก ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความหลากหลายทางชีวภาพสิ่งแวดล้อม และระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง จะสรุปให้แล้วเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ จากนั้นจะนำแผนเบื้องต้นไปเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคประชาสังคม เอกชน ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยเริ่มที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 7-8 พ.ย.นี้ เป็นที่แรก ซึ่งความเห็นที่ได้จะนำมาปรับปรุงก่อนจัดทำแผนที่สมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป จากนั้นจึงนำแผนปฏิรูปไปสู่การปฏิบัติให้ครอบคลุมไม่เฉพาะข้าราชการหรือรัฐบาล แต่รวมถึงประชาชน ภาคเอกชน

สิ่งที่คณะกรรมการดำเนินการนั้นจะเริ่มจากการขยายผลสิ่งที่เคยทำสำเร็จแล้วต่อยอดออกไป โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุก ภาคส่วน เช่น การบริหารจัดการเรื่องน้ำ ในที่อ่างเก็บน้ำกระเสียว ชุมชนภูถ้ำภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ซึ่งน้อมนำศาสตร์พระราชา ตามแนวทางพระราชดำริ มาปรับใช้ในชุมชน

ขณะที่การปฏิรูปทรัพยากรในเรื่องอื่นทั้งป่าไม้ หรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฯลฯ จะมีการปฏิรูปทั้งระบบข้อมูล การนำเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นกลไกในการจัดทำข้อมูล รวมทั้งการปรับปรุงเรื่องกฎหมาย ตลอดจนเปิดโอกาสในการรับฟังความเห็น อาทิ แนวคิดเก็บภาษีจากสิ่งที่ทำให้เกิดมลพิษ รวมทั้งแนวคิดการจัดทำโพลเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ศาลสืบพยานขอนแก่นโมเดล

เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) อ.เมือง จ.ขอนแก่น กำลังสารวัตรทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองทั้งในและนอกเครื่องแบบได้วางกำลังโดยรอบของศาล ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในเขตอำนาจศาล เนื่องจากวันนี้ ศาล มทบ.23 นัดสอบพยานโจทก์ในคดีขอนแก่นโมเดล นัดที่ 4 โดยกลุ่มผู้ต้องหาพร้อมทนายความ ทยอยเดินทางมารายงานตัวตามคำสั่งศาลอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ผู้ต้องหาคนสำคัญ คือ จ.ส.ต. ประทิน จันทร์เกศ และผู้ต้องหาที่ถูกคุมขัง อีก 2 คน เดินทางมาโดยรถของเรือนจำกลางพิเศษขอนแก่น และทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น โดยทันทีที่มาถึงศาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เสมียนศาลและสารวัตรทหาร นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คนเข้าไปในที่คุมขังผู้ต้องหาบริเวณด้านหลังของศาล มทบ.23 ทันที โดยศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนหรือ ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องบันทึกภาพหรือเข้ามาในเขตอำนาจศาล

เอกสารไม่ครบ-เลื่อนไป 24 พ.ย.

ศาล มทบ.23 นัดสืบพยานโจทก์ เลขคดีดำที่ 10 ก./57 ในคดีร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง, ร่วมกันสะสมกำลังอาวุธและซ่องโจร โดยมี จ.ส.ต.ประทิน จันทร์เกศ เป็นจำเลยที่ 1 พร้อมพวก รวม 26 คนประกอบด้วย จ.ส.ต.ประทิน จำเลยที่ 1, นายคำบง คีร, นายดำรงศักดิ์ สุทธิสินธ์, นายเจริญ กิตติกุลประเสริฐ, นายพินัย สิงหาด, นายศรีสุนทร สาชำนาญ, นายสุรชาติ วันละคำ, นายสุริยะ วงศ์สุธา, ร.ต.ต. สุพจน์ คำจันทร์, นายไพบุลย์ รัตตาแย้ม, นายวิชา เป็นสกุล, นายปราโมทย์ เจียมชัยภูมิ

นายวิเศษ ศรีทุมมา, นายนัฐวุฒิ ชีวะวิทยานนท์, นายปัญญา รัตนขันแสง, นายพิเชษฐ บุญคำ (เสียชีวิตแล้ว), นายทนงค์ ดาวกลาง, นายเสนอ นันทน์ธนกุล, นายมีชัย ม่วงมนตรี หลบหนีการประกัน ศาล มทบ.23 อนุมัติหมายจับและสั่งรับเงินประกัน, นายสิระพงศ์ กองคำ, นายพรหมพัฒน์ ธนกรกุลพิพัฒน์, นางพรทิพย์ ปราชญ์นาม, นางกัลยรักย์ หรือนินจา สมันตพันธ์, นายเด่นชัย วงษ์กระนวน, นายคมสัน ภูสีเขียว (เสียชีวิตแล้ว) และนายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จำเลยจะเดินทางมาครบตามนัด แต่เนื่องจากเอกสารบัญชีพยานของโจทก์เกิดความคลาดเคลื่อน ศาลจึงเลื่อนสืบพยานโจทก์ปากที่ 4 ออกไปเป็นวันที่ 24 พ.ย.นี้ โดยนัดพร้อมกับการสืบพยานโจทก์ของทนายจำเลย สำหรับพยานปากที่ 3 คือ ร.อ.ธนะนันท์ มานะยิ่ง ที่ยังสืบพยานยังไม่เสร็จไปก่อนหน้านี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน