รัฐบาล ย้ำไม่ปิดกั้นเอกชนจัดหา “วัคซีน” ​ยึดแผนเดิม รัฐเป็นหน่วยงานหลักจัดหา หลังภาคธุรกิจรายงานมีปัญหาส่งมอบล่าช้า แนะกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง รีบลงทะเบียน

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางมายังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ แม้จะไม่มีวาระงานหรือกำหนดการประชุมอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากยังอยู่ในมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ประกาศให้สื่อมวลชนงดเข้าปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-7 พ.ค.

นายอนุชา ตอบคำถามถึงการจัดหาวัคซีนต้านโควิด ว่า ข้อสรุปของภาคเอกชนที่ได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีนั้น ย้ำว่ารัฐบาลไม่ปิดกั้นในการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดหาวัคซีน โดยจากการหารือทางภาคเอกชนชี้แจงว่า มีการติดต่อจัดหาวัคซีนกับผู้ผลิตจากต่างประเทศแล้ว แต่ในเรื่องการส่งมอบอาจล่าช้า เพราะผู้ผลิตแต่ละแห่งแจ้งว่าสามารถส่งมอบได้ในไตรมาส 4 หรือปลายปีนี้

ดังนั้น ในขั้นตอนนี้อาจเกิดความล่าช้าและทับซ้อนกับส่วนที่รัฐบาลจัดหามาได้ จึงมีข้อสรุปว่าให้รัฐบาลเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาวัคซีนตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ภายในสิ้นปีนี้จำนวน 100 ล้านโดส แต่ในส่วนการจัดหาวัคซีนของทางโรงพยาบาลเอกชนก็ยังดำเนินการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนที่ภาคธุรกิจเอกชนจัดหา

“โรงพยาบาลเอกชนยังคงดำเนินการตามกลไกของคณะกรรมการจัดหารวัคซีนฯ ที่มีนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน เป็นการจัดหาวัคซีนทางเลือกที่ยังดำเนินการอยู่ และขณะนี้สามารถพูดคุยเจรจาเพิ่มเติมเพื่อนำเข้าวัคซีนได้อีกทางเลือกหนึ่ง ดังนั้น ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นเรื่องวัคซีน เอกชนสามารถดำเนินการเข้ามาได้ถ้าหาวัคซีนได้ทันตามกำหนด”นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับวัคซีนต้านโควิด-19 ในช่วงเบื้องต้นผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมนั้น ย้ำว่าผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ให้รีบลงทะเบียน เพื่อเข้ารับวัคซีนผ่านช่องทางดังกล่าวตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป

หากไม่มีสมาร์ทโฟนให้ติดต่อนัดหมายที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ที่มีประวัติการรักษาอยู่แล้ว ขณะที่ต่างจังหวัดให้ไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือติดต่ออสม.ในพื้นที่ โดยกลุ่มนี้ประมาณ 16 ล้านคน จะเริ่มฉีดวัคซีนภายในสิ้นเดือนก.ค. จากนั้นจะเป็นการฉีดให้ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่อายุ 18 ปี-59 ปี ประมาณ 31 ล้านคน ซึ่งจะให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.และจะเริ่มฉีดเดือนส.ค.เป็นต้นไป

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับข้อมูลในส่วนของผู้ติดเชื้อ และยังไม่สามารถรักษาหรือหาเตียงได้ ขณะนี้รัฐบาลพยายามดำเนินการเพิ่มเติม โดยเปิดศูนย์แรกรับผู้ติดเชื้อที่อาคารนิมิตรบุตรสนามกีฬาแห่งชาติกรุงเทพมหานครไปแล้ว ศูนย์ดังกล่าวจะช่วยบริหารจัดการผู้ติดเชื้อโควิค-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังตกค้างอยู่ที่บ้าน ไม่สามารถหาเตียงในสถานพยาบาลได้ โดยผู้ที่จะได้รับการดูแลในเบื้องต้น จะได้รับการคัดกรองและแยกอาการตามระดับสี

ก่อนส่งต่อไปยังสถานพยาบาลตามอาการ เพื่อลดปัญหาผู้ป่วยติดค้างอยู่ที่บ้าน ทั้งหมดนี้เป็นแผนที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยได้อย่างครบถ้วน และหลังสถานการณ์ผู้ติดเชื้อคลี่คลายลง สถานที่ต่างๆที่จัดเตรียมไว้ทั้งโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์แรกรับก็จะเปลี่ยนเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในอนาคต ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ได้ยืนยันว่าพร้อมในกระจายวัคซีน และช่วยฉีดวัคซีนอีกด้วย

นายอนุชา กล่าวถึงประกาศ ศบค.ที่ขอความร่วมมือแทนการล็อกดาวน์ ซึ่งมีข้อสงสัยว่าจะได้ผลในการควบคุมโควิด-19 หรือไม่ ว่า หากประชาชนร่วมมือจะทำให้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ลดลงได้ และทำให้กิจกรรมต่างๆ และประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ นอกจากนี้ในเรื่องยา เวชภัณฑ์ที่ใช้รักษาโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขยืนยันมีความพร้อมในทุกเรื่อง มีการนำเข้าสำรองและสต็อกไว้เพิ่มเติมแล้ว สำหรับห้องพยาบาลการรักษาโดยเฉพาะห้องไอซียู

ทุกหน่วยงานได้ปรับปรุงและปรับเปลี่ยนเพื่อสามารถให้การรักษาได้เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสาหัส หรือต้องใช้ห้องไอซียู ซึ่งวันเดียวกันนี้มีการรายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่าโรงพยาบาลพระมงกุฏฯ จากเดิมที่มีห้องไอซียูปกติ ก็ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 37 เตียง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการรักษา

เช่นเดียวกับมาตรการเยียวยา และกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ได้วางแผนมาตรการต่างๆอยู่ แต่มาตรการทั้งหมดต้องดูจังหวะเวลาที่ประชาชนสามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆ ขณะนี้ ขอให้ประชาชนให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ส่วนหน้า ทุกคนและประชาชนที่ให้ความร่วมมืออย่างดีในการดูแลสุขภาพตัวเองและความร่วมมือกิจกรรมต่างๆ ทั้งการทำงานที่บ้าน หรือเวิร์ก ฟอร์ม โฮม (wfh) ลดการเดินทางหรือลดการรวมกลุ่ม ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอบคุณความร่วมมือของทุกคน และขอให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโควิด-19

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน