เมื่อวันที่ 19พ.ย.นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตส.ส.ร.ปี 2540 กล่าวกรณีที่มีผู้เสนอวิธีการขยายเวลาให้แก่พรรคการเมือง จากเหตุที่พรรคการเมืองทำไม่ทันตามกำหนดในกฎหมาย ว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ นอกจากจะไม่ใช่ ทางออกแล้ว ยังอาจนำไปสู่ทางตัน อีกด้วย ซึ่งต้นเหตุที่แท้จริงมาจากคสช.ยังไม่ยอมยกเลิกประกาศ คสช.2 ฉบับ ที่ห้ามชุมนุมเกิน5คนและห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่แทนที่มือกฎหมายชั้นเซียนของคสช.อย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะชงเรื่องให้คสช. ยกเลิกประกาศคสช.กลับเลี่ยงไปเสนอให้ขยายเวลาให้แก่พรรคการเมืองแทน โดยที่นายมีชัยเสนอให้ กกต.แก้กฎหมายเพื่อขยายเวลาให้แก่พรรคการเมือง ส่วนนายวิษณุ ระบุว่าเมื่อถึงเวลาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะหาทางออกให้เอง ซึ่งคงไม่แคล้วการใช้มาตรา44
ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เสนอให้พรรคการเมืองขอขยายเวลาตามมาตรา 141 วรรคสอง ของพ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งทั้ง3วิธีที่เสนอข้างต้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญจะกระทบต่อโรดแม็ปตามรัฐธรรมนูญ ทำให้กำหนดการเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆแบบทศนิยมไม่รู้จบ

นายคณิน กล่าวว่า กรณีที่นายมีชัย เสนอให้กกต.แก้ไขกฎหมายเพื่อขยายเวลาให้แก่พรรคการเมืองต้องถามว่าแน่ใจหรือว่าทำได้ ในเมื่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ประกาศใช้บังคับไปตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา แล้วคนระดับนายมีชัยยังคิดที่จะนำกลับไปให้ สนช.แก้ไขอีกหรือ
ส่วนกรณีที่นายวิษณุบอกว่า เมื่อถึงเวลาพล.อ.ประยุทธ์ จะหาทางออกให้เองจะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะนอกจากพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่มีหน้าที่แล้ว การใช้ ม.44 ในขณะที่อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในมือของคสช.แต่ไปลบล้างบทบัญญัติของพ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ออกตามความในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการลบล้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการเสนอให้พรรคการเมืองขอขยายเวลาตามมาตรา 141 วรรคสอง ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ต้องไม่ลืมว่า กกต.เอง จะต้องจัดและดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พ.ร.ป.4 ฉบับ มีผลใช้บังคับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบกับขั้นตอนและหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการขอขยายเวลาดังกล่าวต้องใช้เวลานาน ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือน และอาจเกิดปัญหาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่อนุญาต และต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วจะไม่มีผลกระทบต่อเวลา 150 วันหรือ ดังนั้นการใช้วิธีที่กกต.เสนอ นอกจากขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 และมาตรา 268 และกระทบต่อกำหนดการเลือกตั้งที่จะถูกเลื่อนออกไปและอาจเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองตามมา

นายคณิน กล่าวอีกว่า โทษของการที่พรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 141 วรรคหนึ่ง ของพ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่ว่าจะภายในเวลา 90 วัน หรือภายใน 180 วัน คือต้องสิ้นสภาพพรรคการเมือง แม้พรรคการเมืองจะไม่สิ้นสภาพ แต่หากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสาขาพรรคการเมืองอย่างครบถ้วน พรรคการเมืองนั้นก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ สรุปได้ว่า พรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่แล้ว มีแต่ตายกับตาย ตราบใดที่ยังไม่ปลดล็อคประกาศคสช.ทั้งสองฉบับ ซึ่งคำว่าตายกับตาย ในที่นี้ก็อาจหมายถึงความล่มสลาย ของระบบพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มต้น เรียกว่าแท้งก่อนเกิด และถ้าระบบพรรคการเมืองซึ่งเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย มีอันต้องล่มสลายไปเสียแล้ว ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีเหลืออยู่น้อยนิดภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะอยู่รอดและแข็งแรงเติบโตต่อไปได้อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน