เท่าพิภพ กังขา ขึ้นภาษีบุหรี่ ใครได้ประโยชน์ ชี้ ไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นกลุ่มนำเข้าบุหรี่เถื่อน อัด แนวคิดโบราณ ปมอ้างเรื่องสุขภาพของปชช.

วันที่ 1 ต.ค.2564 นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า ข้อสังเกตจากการ ขึ้นภาษีบุหรี่ ครั้งนี้เห็นได้ว่าเป็นความพยายามอันสิ้นหวัง ในการหารายได้มาเติมส่วนที่ขาดอย่างชัดเจน โดยนำเรื่องสุขภาพมาอ้าง ปัญหาที่ตามมาในประเด็นแรกคือ บุหรี่นอกก็จะหาเแบรนด์ใหม่มาขายราคาต่ำ เพื่อตีตลาดต่อและเสียภาษีน้อยลง การยาสูบและเกษตรกรก็ขาดรายได้เช่นเดิม เพราะเกษตรกรมีทางเลือกในการขายผลผลิตใบยาสูบให้กับวงการยาสูบเท่านั้น ซึ่งธุรกิจยาสูบเป็นธุรกิจที่ผูกขาดการผลิตภายในประเทศโดยรัฐอย่างสมบูรณ์

นายเท่าพิภพ ระบุต่อว่า ประเด็นต่อมา เมื่อบุหรี่ราคาแพงขึ้นก็นำไปสู่การลอบนำเข้าบุหรี่จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีราคาถูกกว่ากันเยอะหลายสิบบาท เป็นราคาที่สิงห์อมควันยากที่จะปฏิเสธ ทำให้รัฐที่หวังจะได้ภาษีเพิ่มเปิดกลับเก็บภาษีได้ลดลง มิหนำซ้ำอาจจะเป็นต้นตอของปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของวงการข้าราชการที่คุมผลประโยชน์อยู่ตามชายแดนอีกด้วย อย่างที่มีข่าวการใช้รถหลวงขนบุหรี่เถื่อนก็มีให้เห็นแล้ว อ่านข่าว : ประกาศขึ้นภาษีบุหรี่ใหม่แล้ว มีผล 1 ต.ค.นี้ คลังย้ำห่วงสุขภาพ-ไม่เน้นรายได้

และประเด็นที่ 3 ข้ออ้างเรื่องสุขภาพของประชาชน เป็นแนวคิดเก่าโบราณของรัฐที่พยายามบอกกับประชาชนว่าควรจะทำหรือไม่ทำอะไร แบบพ่อปกครองลูก (Nanny State) จากสถิติพบว่า การเพิ่มราคาบุหรี่แม้จะมีผลในการลดจำนวนผู้สูบด้วยปัจจัยราคา แต่ก็ยังมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน แสดงว่าก็คงไม่ได้ผลอย่างที่คาดไว้

นายเท่าพิภพ ระบุอีกว่า หลายประเทศที่พัฒนาแล้วพยายามแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไปในอีกทิศทางหนึ่งที่ต่างกัน ด้วยวิธีการลดอันตรายที่เกิดจากสิ่งนั้น ๆ (Harm Reduction) เช่น นิวซีแลนด์ ได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผลวิจัยจากหลายสถาบันก็บ่งบอกว่าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่แบบธรรมดา เพราะไม่มีการเผาไหม้และไม่เกิดน้ำมันอันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อ่านข่าว : ภาษีบุหรี่ใหม่ ขึ้นสูงสุด 7 บาทต่อมวน คาดรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 3.5-4.5 พันล้านบาทต่อปี

นายเท่าพิภพ ระบุต่อว่า ในบางประเทศอย่างอังกฤษ หากต้องการเลิกสูบบุหรี่ คุณหมอในโรงพยาบาลก็สามารถสั่งบุหรี่ไฟฟ้าให้กับผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็มีผู้นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังผิดกฎหมาย ซึ่งอาจขัดแย้งกันในเรื่องของผลประโยชน์ก็เป็นได้

“หากวิเคราะห์การขึ้นภาษีบุหรี่ในครั้งนี้แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า คนที่ได้ผลประโยชน์จริง ๆ คือใคร ในความคิดผมคงไม่ใช่ประชาชน ไม่ใช่ประเทศชาติแน่อน แต่ก็คงเป็นกลุ่มที่นำเข้าบุหรี่เถื่อน ซึ่งทุกคนน่าจะพอทราบอยู่ว่าการกระทำแบบนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีเบื้องหลังอย่างไร” นายเท่าพิภพ ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน