“พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน : สิทธิในการจัดการทรัพยากร การกระจายอำนาจ และการพัฒนาท้องถิ่น” ทวี ชี้ กระจายอำนาจ-เป็นธรรม-ลดเหลื่อมล้ำ คือทางออกประเทศ

เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2565 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จ.สกลนคร ภาคประชาสังคม นำโดย เครือข่ายสมัชชาคนจน 72 องค์กร ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการและสื่อมวลชน ฯลฯ เดินหน้าโครงการเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” เพื่อเป็นการรณรงค์ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

โดยจะใช้เวทีดังกล่าวประกาศเชิญพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็น “สิทธิในการจัดการทรัพยากร การกระจายอำนาจ และการพัฒนาท้องถิ่น” มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ร่วมในกิจกรรมดังกล่าว

ทวี ชี้ กระจายอำนาจ-เป็นธรรม-ลดเหลื่อมล้ำ คือทางออกประเทศ

ทวี ชี้ กระจายอำนาจ-เป็นธรรม-ลดเหลื่อมล้ำ คือทางออกประเทศ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งว่า กฎหมายที่เรามีอยู่ ปกติผู้ร่างถึงจะเป็นเผด็จการบ้างก็ตาม เขาจะใจกว้าง แต่ผู้ใช้กฎหมายส่วนใหญ่จะใจแคบ คือ กฎหมายเราจะเห็นว่า เขียนไว้ค่อนข้างดีเพื่อให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่พอถึงขั้นตอนของผู้บังคับใช้กฎหมาย จะเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้มีอำนาจมากกว่าประชาชน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งกรณีที่เห็นได้ชัดเจน คือตนเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ หลายครั้ง แต่กลับหาข้อมูลแทบจะไม่ได้เลยว่า เงินประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท มันเดินไปที่ไหนเท่าไหร่

“อย่างผมมาที่สกลนคร อยากจะรู้ว่าเงินมันเดินมาที่สกลนครเท่าไหร่ เราก็พบว่า เงินของประเทศเราในปี 62–65 งบประมาณเฉลี่ยปีละประมาณ 3 ล้านล้าน มี 74.2 เปอร์เซ็นต์ มันจะไปรวมอยู่ในกรุงเทพและส่วนกลางที่มีประชากรตามทะเบียนราษฎรประมาณ 5.5 ล้านคนเศษ ส่วนงบประมาณที่เหลืออีกประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์จะกระจายไป 76 จังหวัด ที่มีประชากรตามทะเบียนราษฎรประมาณ 61 ล้านคนเศษ แต่ก็อย่เพิ่งดีใจนะ ว่าเงินเงินงบประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ที่กระจายมาในต่างจังหวัด 76 จังหวัดนั้น หรือราวปีละ 7-8 แสนล้าน จากยอดงบประมาณทั้งหมดประมาณ 3 ล้านล้าน เพราะส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ”

“แต่พอมาถึงต่างจังหวัด ที่อันตรายที่สุดคือส่วนกลางเขาไม่ไว้ใจประชาชน เขาก็มีการบริหารราชส่วนภูมิภาค เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยราชการกระทรวง กรมต่าง ๆ ที่ไปตั้งในจังหวัดทั้งหมด แต่จริง ๆ มันเป็นการขยายอำนาจรัฐราชการมาเพื่อครอบงำประชาชนไม่ใช่การกระจายอำนาจ เราก็พบว่าเงินที่มาสู่ท้องถิ่นแยกไปจังหวัดต่าง ๆ 90 เปอร์เซ็นต์ไปอยู่ที่หน่วยราชการส่วนภูมิภาค ไปอยู่ที่องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกตั้งมาแค่ 7 เปอร์เซ็นต์

แต่อีก 90 เปอร์เซ็นต์ให้ผู้ว่าฯและส่วนราชการใช้ที่อำนาจอนุมัติอยู่ที่หัวหน้าหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ คนพวกนี้เวลาจะใช้เป็นรายจ่ายประจำจะต้องมีรถประจำตำแหน่ง มีอาคารสำนักงาน ส่วยคนจนก็ต้องทนอยู่ ทั้งๆ ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าใจปัญหาของชุมชนหมู่บ้านเป็นอย่างดี” พ.ต.อ.ทวี ระบุ

เลขาธิการพรรคประชาชาติ ยังกล่าวถึงปัญหาเรื่องน้ำว่า เราต้องยอมรับว่า วันนี้ปัญหาน้ำ คือ 1.น้ำเพื่อการเกษตร ที่ต้องบริหารจัดการแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ให้กักเก็บน้ำได้มากขึ้น หาแหล่งน้ำดิบมาเดิมแหล่งน้ำดิบและโครงการน้ำใต้ดิน 2.น้ำเพื่อการบริโภค จัดทำน้ำประปาให้ถึงประชาชนให้มากที่สุด ในสองส่วนนี้โดยเฉพาะคนอีสาน

แต่ในยุครัฐบาลปัจจุบันแก้ปัญหาน้ำโดยสร้างหน่วยราชการ ซึ่งมีหน่วยงานมากมายอยู่แล้ว กลับไปตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นมาอีก คือไปสร้างหน่วยขึ้นมาเพื่อเอางบประมาณไปใช้ประโยชน์ อันนี้คือปัญหา แล้วก็นำมาสู่เวลาจะสร้างอะไรต้องหวังเงินทอน ไม่ได้หวังความต้องการของประชาชน

ในเรื่องปัญหาการจัดการที่ดินที่เป็นธรรม พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยปฏิรูปที่ดินไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะปฏิรูปประเทศ สิ่งหนึ่งที่จะแก้ปัญหาที่ดินได้ ควรจะต้องเอาไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ จากการศึกษาย้อนหลังพบว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในเรื่องของที่ดิน จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ที่เกิดจากนิสิตนักศึกษาที่ไปขับไล่ผู้นำที่เป็นเผด็จการ ต้องเสียเลือดเสียเนื้อพลีชีพจำนวนมาก สิ่งที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนในขณะนั้นได้รับ คือได้รัฐธรรมนูญปี 2517 ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่มาก แต่ก็ถูกฉีกในปี 2519

“รัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 เขียนอยู่หนึ่งมาตราที่บอกว่า เกษตรกรต้องมีกรรมสิทธิ์และมีสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง คือต่อไปนี้เรื่องที่ดินจะไม่ใช่เรื่องการสงเคราะห์ เรื่องที่ดินจะต้องไม่ใช่เรื่องอำนาจนิยม เรื่องที่ดินจะต้องไม่ใช่เรื่องของคนที่มีอำนาจไปหยิบยื่นให้ อย่างเช่น รัฐธรรมนูญปี 2560 เราจะเห็นเลย มาตรา 73 เขาบอกเกษตรกรต้องยากไร้ ท่านต้องไปพิสูจน์ความยากไร้ให้คนที่เป็นรัฐบาลมาแจกให้ ความยากไร้ก็คือการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่เรื่องที่ดินถ้าประเทศไม่สามารถจัดให้เกษตรกรได้ ก็จะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะเรามีที่ดินเหลือเฟือมาก”

“พอเราปล่อยให้ปัญหามาถึงวันนี้ ที่ดินที่เป็นของเอกชนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ดินเอกชนในอดีตสมัยท่านปรีดี พนมยงค์ พัฒนามา เรามีกฎหมายที่ดินที่มีคุณค่ามาก เขาบอกว่า ที่ดินที่เป็นเอกชน ถ้าเป็นที่ดินที่อยู่อาศัย ก็เอาไป 5 ไร่ เป็นการพาณิชย์ก็ 5 ไร่ อุตสาหกรรมก็ 10 ไร่ แต่ถ้าเป็นเกษตรกรรมควรจะ 50 ไร่ ทางเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ก็ให้เลิกใช้กฎหมายนี้

พอเลิกใช้วันนี้ที่ดินกลายเป็นสินทรัพย์ ไม่ใช่ปัจจัยการผลิต การเป็นสินทรัพย์ก็จะมีการกักตุนที่ดิน มีการเอาที่ดินมาแล้วไม่ผลิต วันนี้ถ้าเอานิยาม 50 ไร่ของเกษตรกรรม เกษตรกรเรามีประมาณ 20 ล้านคน คนมีที่ดินถึง 50 ไร่ไม่ถึง 3 ล้านคน ก็คือที่ดินมันจะกระจุกตัวในคนรวย”

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า วันนี้สังคมไทยไม่มีความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย คนไร้ที่ดิน แต่ปรากฏว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงได้เอาที่ดินที่เป็นที่ดินของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเลิกทาส เอาไปให้นายทุนใช้ได้

“ที่สำคัญยิ่ง เอาแอร์พอร์ตลิงค์ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ต้องการให้คนจนคนรวยเดินทางมาถึงพร้อมกัน และเป็นระบบที่มีความยุติธรรมที่สุด ปรากฏว่า เอาไปประเคนให้กับนายทุน ซึ่งเราลงทุนไปเกือบ 4 หมื่นล้านบาท เอาไปเพียงแค่หมื่นกว่าล้าน แต่พอวันที่ 24 ต.ค.64 ถึงเวลานัด นายทุนบอกว่า มีปัญหาเรื่องโควิด พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งนั่งอยู่หัวโต๊ะ วันนี้ 6 เดือนยังไม่จ่าย แต่ปรากฏว่าจะไล่ที่ของประชาชน เพื่อจะเอาที่ให้เป็นรถไฟความเร็วสูงระหว่างสุวรรณภูมิไปดอนเมือง พอขับไล่ก็ไม่มีที่จะอยู่”

“วันนี้ถ้าเราจะสามารถปฏิรูปที่ดินได้โดยเฉพาะที่ดินของรัฐ ต้องเริ่มจากการเลิกรวมศูนย์ อาจจะต้องยุบกรมป่าไม้ ยุบกรมอุทยานฯ แล้วก็โยนปัญหาที่ดินไปให้ท้องถิ่นจัดการ ซึ่งต่อไปจะเป็นระบบการเลือกตั้ง ประเทศต่างๆ ก็ทำอย่างนี้หมด แทนที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจะเป็นของประชาชน กลับเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของข้าราชการหรือนายทุน อันนี้ต้องรีบแก้โดยด่วน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ต้องแก้โดยด่วน”

เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของความยุติธรรม อยากบอกว่าความยุติธรรมที่ใหญ่ที่สุดก็คือรัฐธรรมนูญ ปัญหาคือว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ผมเชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านพยายามต่อสู้มา โดยเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยาก เราจึงเสนอคืนอำนาจให้เจ้าของอธิปไตยร่าง ก็คือให้มีการเลือก ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) เพื่อไปร่างรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน

แต่ฝันของประชาชนและฝ่ายค้านไปไม่ถึงฝัน เพราะต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกสร้างมา หมวดสุดท้าย บทเฉพาะกาลก็คือการรัฐประหารเงียบ ที่กำหนดให้ ส.ว.250 คนเลือกนายกฯ และมีอำนาจอีกหลายอย่างโดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ

“ผมเชื่อว่าถึงให้เรามีกฎหมายที่ยุติธรรม แต่ผู้นำไม่ยุติธรรม ประชาชนอยู่ลำบาก ซึ่งผู้นำที่ยุติธรรม ระบบเดียวคือต้องให้ประชาชนเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาสมัครเลือกตั้ง เขามาจากคนฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วเขาก็ให้คนเขียนรัฐธรรมนูญ คนฉีกรัฐธรรมนูญกับคนเขียนรัฐธรรมนูญเป็นพวกเดียวกัน ดังนั้นเรื่องความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ หนีไม่พ้นต้องแก้รัฐธรรมนูญ และผมก็เชื่อว่า เวลา สถานการณ์ โอกาส จริงๆ มันต้องมาพร้อมกัน”

“อีกเรื่องของความยุติธรรม คือการที่เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่จริงๆ แล้วอาชญากรอาจจะหมายถึงกฎหมาย สิ่งที่เป็นอาชญากรใหญ่ที่สุดในเรื่องความเป็นธรรม ก็คือกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เราพูดกันวันนี้ คือกฎหมายอุทยานฯ อยู่ๆ ไปประกาศพื้นที่อุทยานทับที่อยู่อาศัยของคนมากมาย บางพื้นที่พิสูจน์ว่าคนอยู่ต่อเนื่องมา 300 ปี คุณก็มาประกาศเป็นเขตอุทยาน หลายแห่งก็มีการพิสูจน์

เห็นแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์แล้วว่ารัฐรุกประชาชน รัฐประกาศเขตป่าทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แต่พอ พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2562 เกิดขึ้นมายุค คสช ทุกคนที่อยู่ระหว่าพิสูจน์สิทธิต้องเป็นผู้อาศัย ทุกคนเป็นผู้บุกรุกป่า ดังนั้นสิ่งที่ควรจะกระทำอย่างยิ่งคือแก้ไขกฎหมายอุทยานฯ และกฎหมายที่ออกในยุคเผด็จการ คสช ยุคที่คนฉีกรัฐธรรมนูญ”

พ.ต.อ.ทวี ยังเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจกล้าใช้นโยบายรัฐสวัสดิการ สวัสดิการคือสิทธิ สวัสดิการไม่ใช่สงเคราะห์ เช่น 3,000 บาทบำนาญถ้วนหน้า ต้องเป็นสิทธิ์ของทุกคน พรรคประชาชชาติได้เสนอตั้งแต่ปี 63 เราคิดว่าถ้าคนสูงอายุมีวันละ 100 บาท หรือมีเดือนละ 3,000 บาท อย่างน้อยมันแก้ปัญหาความยากจน แต่นายกฯบอกว่า เป็นกฎหมายการเงิน ก็โยนตกไป แล้ววันนี้พอให้ฝ่ายรัฐบาลมาแก้เอง บอกว่าบำนาญ 3,000 บาทมีประโยชน์ ก็จะเอากลับมา

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมีพื้นที่ คำว่าพื้นที่คือ การกระจายอำนาจ มีพื้นที่ให้สำหรับประชาชน ต้องจำไว้ว่าประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล รัฐบาลต่างหากที่ต้องอยู่รับใช้ประชาชน อันนี้คือเรื่องใหญ่ ดังนั้นอยากให้ประชาชนตื่นรู้ และลุกขึ้นมาเรียกร้อง ถ้ารัฐบาลทำไมถูกต้อง” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน