ถกร่างพ.ร.บ.ตร. สะดุด ประธานสั่งปิดประชุม หลัง ปิยะ ตีมึนเสนอแก้ ม.169/1 ‘โรม’ โวยเอื้อประโยชน์ช่วยบางคน ด้าน รองปธ.กมธ.ยอมถอย ขอหารือใหม่อีกรอบ 4 ก.ค.นี้

เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 1 ก.ค. 2565 มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภากลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง หลังจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พักรับประทานอาหารกลางวัน โดยการพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จนกระทั่งถึงบทเฉพาะกาล มาตรา 158 ว่าด้วยการโอนงานจราจรให้แก่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และเทศบาลนคร ภายใน 5 ปี นับจากที่ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้บังคับใช้

ปรากฏว่าพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะกมธ. ขอสงวนความเห็น และพล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ส.ว. ขอแปรญัตติ ให้ตัดมาตรา 158 ออกทั้งมาตรา ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับข้อเสนอของพล.ต.อ.ทวี และพล.ต.ท.ศานิตย์ ด้วยคะแนน 322 ต่อ 61 งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 1 เสียง

ต่อมาเวลา 16.35 น. เป็นการพิจารณามาตรา 169/1 โดยทางกมธ.ได้เพิ่มขึ้นใหม่ทั้งมาตรา เกี่ยวกับการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับชั้นสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ โดยพล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผบ.ตร. ในฐานะกมธ. ได้ขอเพิ่มข้อความในมาตรา 169/1 ระบุว่า

“ในวาระเริ่มแรกภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ การคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับอยู่ ในวันก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ในกรณีที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาใช้บังคับได้ตามวรรคหนึ่ง ก็จะดำเนินการประการใดให้เป็นไปตามที่ ก.ตร. กำหนด ซึ่งต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.นี้”

พล.ต.อ.ปิยะ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เพิ่มข้อความในมาตราดังกล่าว เนื่องจากผลกระทบจากกรณีที่มีการเอาเนื้อความบางส่วนไปใส่มาตรา 69 ส่งผลกระทบให้เมื่อพิจารณาจำนวนปีจะเชื่อมโยงไปมาตรา 80 และมาตรา 2 โดยมาตรา 80 ระบุว่า ให้เป็นไปเพื่อความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้ง ดังนั้น จะทำให้ระยะเวลาในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นมีผลใช้ทันที ซึ่งจะส่งผลต่อตำรวจที่มีสิทธิเลื่อนตำแหน่งตามกฎหมายเดิมจะถูกตัดสิทธิทันที

แบ่งเป็นกลุ่มผู้บังคับการ 72 ราย รองผู้บัญชาการ 49 นาย รวม 121 นาย เกิดเป็นปัญหาการพรากสิทธิ์ และเนื่องจากระยะเวลาในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ในรายละเอียดต้องมีการจัดตำรวจเข้าในกลุ่มสายงานต่างๆ โดยมีระยะเวลากำหนด แต่การมีผลบังคับใช้ทันทีจะไม่เปิดโอกาสให้ตำรวจที่ได้รับผลกระทบได้เลือกเส้นทางการดำเนินชีวิตของตัวเอง เพราะระยะเวลาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเดิม

พล.ต.อ.ปิยะ กล่าวอีกว่า เนื่องจากในวาระเริ่มแรกนี้การย้ายข้ามหน่วย ข้ามภูมิลำเนา จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะชั้นประทวน และระดับรองสารวัตร ซึ่งมีเงื่อนไขการย้าย คือ ในทุกปีจะมีภาพรวมช่วงเวลาการแต่งตั้งที่จะมีระดับรองสารวัตรไม่น้อยกว่า 400 นาย ชั้นประทวน 3,000 กว่านาย ร้องขอกลับภูมิ แต่เงื่อนไขใหม่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาว่าจะรับหรือไม่รับก็ได้ แต่ตามกฎหมายเดิมจะเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ตรากตรำครบ 4 ปี จะหมุนเวียนให้กลับภูมิลำเนาได้

จากนั้น นายพรเพชร แจ้งต่อที่ประชุมว่า คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะไม่มีใครแปรญัตติ และเป็นร่างที่ยกขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ มีสมาชิกขอสงวนความเห็น 3 ท่าน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งขอให้ตัดมาตราดังกล่าวออกทั้งหมด และอีกกลุ่มหนึ่งคือ นายวิชา มหาคุณ ซึ่งท่านไม่มาแล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้ากมธ.ต้องการจะเพิ่มข้อความจริงๆ จะต้องถอนร่างออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภา อาทิ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เป็นต้น ลุกขึ้นท้วงติงว่าสิ่งที่ พล.ต.อ.ปิยะ เสนอไม่ถูกต้องตามกระบวนการตรากฎหมายของรัฐสภา ไม่มีที่มาที่ไป เพราะพล.ต.อ.ปิยะไม่ได้ขอสงวนความเห็นหรือแปรญัตติไว้แต่อย่างใด จึงขอให้นายพรเพชร รองประธานรัฐสภา ในฐานะประธานการประชุม สั่งพักการประชุม เพื่อให้ทางคณะกมธ.ได้ปรึกษาหารือว่าควรจะทำอย่างไรในการเพิ่มข้อความ

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า แว่วว่าการเพิ่มข้อความของ พล.ต.อ.ปิยะ เพื่อช่วยใครบางคน เป็นเรื่องไม่เหมาะสม อย่าทำให้ภาพลักษณ์ของกฎหมายดังกล่าวแย่ไปกว่านี้ จึงขอเสนอให้เดินหน้าการประชุมต่อ

ขณะที่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางคณะกมธ.ได้ประชุมกันเองในเรื่องนี้ แต่หาข้อสรุปเองไม่ได้ สุดท้ายจึงใช้วิธีให้พล.ต.อ.ปิยะเสนอกลางสภาฯ ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้ ทางที่ดีเดินหน้าประชุมต่อ โดยลงมติว่าจะเห็นด้วยกับที่กมธ.เสียงส่วนใหญ่เพิ่มทั้งมาตรา หรือให้ตัดออกทั้งมาตรา

จากนั้น เวลา 17.05 น. ประธานในที่ประชุมได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 10 นาที ต่อมา เวลา 17.12 น. ได้เปิดประชุมอีกครั้ง ซึ่งพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร รองประธานกมธ. รักษาการประธานกมธ. แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอให้ทางคณะกมธ.ได้ไปปรึกษาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ช่วงเช้าเสียก่อน เพื่อปรับถ้อยคำ ซึ่งนายพรเพชรก็ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 17.25 น. โดยกล่าวว่า วันนี้สมาชิกรัฐสภาเหนื่อยล้ามาทั้งวัน และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ให้ทางกมธ.ไปดำเนินการ เป็นเรื่องของทางคณะกมธ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 5 ก.ค. จะมีการนำร่างพ.ร.บ.ตำรวจ มาพิจารณาให้เสร็จ ก่อนจะตามด้วยการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 2 ฉบับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน