เพื่อไทย แนะ 6 ทางออกแก้น้ำท่วมอีสาน ยกโมเดลเนเธอร์แลนด์ป้องน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำ ซัด รัฐบาล อับจนหนทางแก้ปัญหา จี้ เร่งแก้น้ำท่วมให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการจัดเสวนา “ลุ่มเจ้าพระยา ชี มูล ท่วมขนานใหญ่ เพื่อไทยแก้ได้” นำโดย นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี ร่วมเสวนา

นายปลอดประสพ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบ 50 ปี สร้างความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทบประชาชน 10 ล้านคน ขณะนี้หลายพื้นที่ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เงินที่ใช้จับจ่าย ความช่วยเหลือที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ไม่ทันการณ์ ไม่แม่นยำ ไม่เพียงพอ

น้ำท่วมครั้งนี้ได้เห็นความอับจนในการหาหนทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จนประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง สิ่งที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ 1.การแจ้งเตือนภัยไม่ชัดเจน ไม่แม่นยำ ไม่ทันเวลา แต่ขอชื่นชมการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยาที่แจ้งเตือนพายุและพื้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังขาดการให้ข้อมูลว่าน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน น้ำท่วมสูงเท่าไหร่ ลดลงเมื่อไหร่

2.การอพยพประชาชนไปยังแหล่งพักพิงที่รัฐบาลดำเนินการเป็นไปแบบลุกลน โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี และพระนครศรีอยุธยา ที่ต้องอพยพย้ายที่นอนหลายครั้ง 3.รัฐบาลล้มเหลวในการเลือกยุทธวิธีบริหารจัดการสภาวะวิกฤต บุคคลในระดับการบริหารมีความเป็นทหารมากเกินไป เลือกใช้วิธีควบคุมทางไหลของน้ำ ทั้งที่ต้องใช้วิธีการบรรเทาอุทกภัย ที่เกิดจากน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่แล้ว

นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการตามแนวทางดังนี้ ซึ่งรัฐบาลสามารถนำไปใช้ได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน คือ 1.เปลี่ยนแนวคิดการบริหารจัดการสถานการณ์ให้เป็นแนวทางยืดหยุ่น ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนให้ได้ 2.ยึดแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ควรทบทวนผังเมืองให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำมากและหลากแรง เช่น จ.ภูเก็ต น้ำท่วมทั้งที่เป็นเกาะ เพราะมีการก่อสร้างห้องแถวติดถนนบนเชิงเขา ถนนจึงกลายเป็นลำน้ำ ส่วนคลองที่ผ่ากลาง จ.ภูเก็ต ไม่เคยดูแลรักษาหรือขุดลอกจึงเกิดน้ำท่วม

3.ทบทวนการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ สิ่งก่อสร้างใหม่ ที่ต้องมั่นคงยั่งยืนรองรับน้ำท่วมสูงขนาดใหญ่ และปริมาณฝนตกมากขึ้น 4.สภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดฝนตกและมีน้ำปริมาณมาก สิ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างไปแล้วต้องปกป้องให้ได้ โดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่และพื้นที่เศรษฐกิจ อาจสร้างคันกั้นน้ำในบริเวณที่ลุ่มต่ำ ซึ่งใช้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มต่ำ และต่ำกว่าระดับน้ำทะเล สามารถป้องกันบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างไม่ให้ถูกน้ำท่วมได้ ไทยสามารถนำมาปรับใช้กับ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีได้

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า 5.ค้นคว้าหาพื้นที่บริเวณแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล สร้างฝายขนาดใหญ่เพื่อควบคุมน้ำ ทำหน้าที่คล้ายเขื่อนชัยนาท เขื่อนพระรามหก จะช่วยชะลอน้ำและใช้ในระบบชลประทานได้ 6.ปรับแต่งหรือจัดสร้างแก้มลิงในพื้นที่ราบต่ำ บริเวณริมแม่น้ำชีและริมแม่น้ำมูล และอาจทำเขื่อนความสูงไม่เกิน 3 เมตร หรือสูงไม่เกินระดับสูงสุดของแม่น้ำ มีประตูน้ำเข้า และประตูระบายน้ำออก ไว้ใช้ในการรับน้ำ

“ตอนนี้ประชาชนไม่ได้ต้องการกำลังใจ แต่อยากทราบว่าพวกเขาจะอยู่รอดไหม ลูกหลานจะอยู่อย่างไร เวลาท่านไป ไม่ต้องไปทุบหลังปลอบเขา ให้บอกว่าท่านจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดน้ำท่วมขึ้นอีก” นายปลอดประสพ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน