จุลพันธ์ เคลียร์ชัด ร้านค้าแบบไหน เข้าข่ายร้านขนาดเล็ก ใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต เริ่มจ่ายไตรมาส 4 ปีนี้ 50 ล้านคน เงินเข้าล็อตเดียว 1 หมื่น
เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 10 เม.ย. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงความคืบหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ว่า คณะกรรมการดิจิทัล เห็นชอบในหลายประเด็นถึงสาเหตุ และความจำเป็นในการดำเนินโครงการ ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความเห็นชอบว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ รวมถึงมีแนวโน้มในการเติบโตลดลง เผชิญความท้าทายทั้งใน และนอกประเทศ
รัฐบาลจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวสู่ชุมชน โดยมีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสม กับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ควบคู่กับการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงในด้านการคลัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนโดยรวม ตลอดจนการรักษาวินัยการเงินการคลัง
คณะกรรมการได้วางแนวทางการดำเนินโครงการ และรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
1.กลุ่มเป้าหมายประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ได้แก่ผู้มีอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันทางการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
2.เงื่อนไขการใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มกลุ่มแรก คือการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า โดยใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอกำหนดให้มีการใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น กลุ่มที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า จะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่ และร้านค้าต่อร้านค้าที่มีการแลกเปลี่ยน ด้วยการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ
3.สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายได้ ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดขึ้น
4.สำหรับการใช้จ่ายโครงการจะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเอง โดยหน่วยงานของภาครัฐได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล ด้วยการใช้งานจะต้องให้ใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆในลักษณะ Open loop จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ โครงสร้างงและสามารถตอบสนองตรวจสอบได้
5.คุณสมบัติของร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ จะต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น คือภาษีมูลค่าเพิ่ม/ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีรายได้บุคคลธรรมดา
ส่วนการถอนเงินสด ร้านค้าจะไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันที หลังประชาชนใช้จ่ายจะ ถอนเงินสดได้ก่อนก็ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริต
6.สำหรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการประชาชนและร้านค้าสามารถเข้าร่วมโครงการได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ปลายเดือน และจะมีการเริ่มใช้จ่ายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
7.เพื่อป้องกันทุจริตและโครงการคณะกรรมการได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน มีผู้บัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกรรมการ
8.มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการ โดยมีนายจุลพันธ์ เป็นประธาน ทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเงื่อนไข และระเบียบ ที่ถูกต้อง รวมถึงประชาสัมพันธ์โครงการ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมการนำมติที่ได้รับการเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนเงินที่จะเข้ากระเป๋าประชาชน 10,000 บาท จะเข้าล็อตเดียวเข้าครั้งเดียว
เมื่อถามว่า 7-11 และแมคโคร ถือเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่เข้าเงื่อนไขหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เบื้องต้นร้านสะดวกซื้อลงมาถือว่าเป็นร้านขนาดเล็ก เพราะต้องการให้เงินกระจายอยู่ในชุมชน ส่วนแมคโคร ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ซุปเปอร์มาเก็ต และห้างสรรพสินค้าไม่รวม ไม่นับ
เหตุผลที่มีการระบุร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากต้องการกระจายเงินให้ชุมชนมากที่สุด โดยร้านค้าจะไม่รวมห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก และค้าส่งขนาดใหญ่ แต่รวมร้านประเภทร้านสะดวกซื้อ ทั้งแบบการสแตนอโลน และตั้งอยู่ในสถานบริการน้ำมัน