สภาฯ ไฟเขียว “กม.อำนาจเรียกของกมธ.” ถกวุ่นปมคำนิยาม “หมอชลน่าน” หวั่นมีคนร้องศาลรธน. แนะ กลับไปใช้ร่างเดิมดีกว่า “โรม” ยัน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 18 ธ.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ….ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระสองและวาระสาม

โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายในมาตรา 4 บทนิยามคำว่ากรรมาธิการ ว่า ในร่างของกมธ.ที่ไปแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำ ตนเห็นว่าการแก้ไขของกมธ.น่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และข้อเท็จจริงที่มีอยู่ เพราะจากร่างเดิมของสภาฯ ที่รับไป เขียนให้ครอบคลุมกมธ.

นิยามของกมธ. มีกมธ.สามัญ กมธ.วิสามัญ กมธ.ร่วมกันของสภาฯ และวุฒิสภา และกมธ.วิสามัญในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ กรณีที่มีการประชุมร่วมกันในนามรัฐสภา มีอำนาจเรียกบุคคลหรือเรียกเอกสารได้

แต่กมธ.ไปเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ว่า กรรมาธิการ หมายความว่า คณะกมธ.สามัญและคณะกมธ.วิสามัญของสภาฯ วุฒิสภา หรือรัฐสภา ถ้าเขียนอย่างนี้หมายความว่ารัฐสภา วุฒิสภา หรือสภาผู้แทนฯ มีกมธ.สามัญประจำของแต่ละสภา

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า จึงอยากถามว่า รัฐสภามีกมธ.สามัญประจำรัฐสภาหรือ เพราะตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมาจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีบทบัญญัติที่เขียนให้รองรับกมธ.สามัญของรัฐสภา ฉะนั้น ถ้าเขียนอย่างนี้จะเหมารวมว่า รัฐสภาสามารถตั้งกมธ.สามัญได้ ตามกฎหมายฉบับนี้ และอาจจะไปออกข้อบังคับมารองรับ

แต่สิ่งที่ต้องให้สอดรับ คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ซึ่งมาตรานี้เขียนชัดเจนไม่มีคำว่ารัฐสภาอยู่เลย ที่ว่าด้วยเรื่องการตั้งกมธ.ของสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา หรือตั้งกมธ.ร่วมกัน แม้แต่กฎหมายที่เขียนรองรับเกี่ยวกับการตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้เขียนในมาตรา 129

“ฉะนั้น ผมเห็นว่าถ้าเขียนอย่างนี้จะเหมารวมว่า รัฐสภาสามารถมีกมธ.สามัญประจำรัฐสภาได้ ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข และเห็นว่าควรเอาคำว่า ‘หรือรัฐสภา’ ออกแล้วรักษาถ้อยคำเดิมเอาไว้ หรือกลับไปร่างเดิมจะเกิดประโยชน์มากกว่า” นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ. ชี้แจงว่า เห็นตรงกันว่าการมีคณะกมธ.สามัญและวิสามัญนั้น เกิดเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญมาตรา 129 แต่ข้อเท็จจริง คือ มีกมธ.ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137(3) เป็นกมธ.ร่วมกันในกรณีที่ตัดสินใจในเรื่องของความเห็นต่างๆ

ซึ่งทางกมธ.ได้พยายามหาความพอดี ถ้าไม่เขียนแบบนี้กรณีที่จะคุ้มครองไปถึงให้อำนาจกมธ.ร่วมกันได้หรือไม่ เพราะเกิดขึ้นคนละมาตรา ถ้าเขียนตามมาตรา 129 ก็จะมีข้อจำกัดเปิดช่องว่างตามมาตรา 137(3) ทางกมธ.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเขียนแบบนี้

“จริงๆ แล้ว คำนิยามไม่สามารถที่จะลบล้างน้ำหนักของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือน้ำหนักในกฎหมายอื่นได้ เพียงแต่ให้กฎหมายฉบับนี้มีสภาพบังคับเท่านั้น ซึ่งก็เห็นด้วยในความเป็นห่วงของท่าน แต่โอกาสที่จะเขียนเป็นอย่างอื่น ผมยืนยันได้เลยว่า พวกเราไม่ได้สุกเอาเผากิน แต่ใช้ความพยายามที่จะสรรหาถ้อยคำให้เกิดความสมบูรณ์พอสมควร” นายประยุทธ์​กล่าว

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะกมธ. ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องให้ความกระจ่าง เพราะเราถกเถียงในกมธ.เช่นเดียวกัน การที่เราเติมคำว่า “หรือรัฐสภา” เป็นเรื่องของการให้ความหมายแทนคำว่า “กรรมาธิการร่วมกัน” ให้ครอบคลุมกัน

ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นว่า กมธ.ในสภาผู้แทนราษฎรสามารถใช้อำนาจเรียกนี้ได้ ในขณะที่กมธ.ร่วมกันของรัฐสภาไม่สามารถใช้ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงกมธ.ของรัฐสภามีอำนาจน่าจะสูงกว่าด้วยซ้ำ

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ว่าการเพิ่มเติมตรงนี้เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนขอเรียนว่ากรณีนี้ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเลย ส่วนการตีความจะไม่รวมไปถึงกรณีจะให้มีกมธ.สามัญของรัฐสภา

การที่เราจะมีกมธ.ร่วมกันของรัฐสภาหรือไม่ มันเป็นกฎหมายอื่น กรณีนี้เป็นเรื่องของการใช้อำนาจเรียก ซึ่งปัจจุบันเราไม่มีกมธ.สามัญของรัฐสภา กฎหมายนี้ไม่ได้มีอำนาจให้เราไปจัดตั้งกมธ.สามัญของรัฐสภา ตามหลักกฎหมายจึงจะรวมแค่กมธ.ร่วมกันของรัฐสภาเท่านั้น

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน อภิปรายเพิ่มเติมว่า ถ้าเราไปให้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อว่ามีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน และถ้าศาลวินิจฉัยว่าสิ่งที่เราทำไปขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นปัญหา ดังนั้น ตนคิดว่ามีหลายประเด็นที่กมธ.น่าจะกลับไปทบทวน มันไม่ได้สายที่เราจะพิจารณาร่วมกัน หรือถ้าจะกลับไปร่างเดิม ที่อาศัยมาตรา 129 เป็นหลัก กฎหมายก็เดินหน้าได้ เพราะอยากให้โหวตไปแล้วเป็นประเด็น แล้วให้กมธ.ไปหารือกัน

แต่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ไม่ได้สนใจ โดยให้ที่ประชุุมลงมติทันที ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับกมธ. 383 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 8 เสียง

จากนั้น พิจารณามาตราอื่นตามลำดับ กระทั่งมาตรา 14 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกมธ.เสียงข้างมาก 398 เสียง ไม่เห็นด้วย 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 3เสียง ที่ระบุว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดไม่ส่งเอกสารหรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นตามที่คณะกมธ.เรียก ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 8 โดยไม่มีเหตุอันสมควร

ให้ประธานคณะกมธ. โดยความเห็นชอบของคณะกมธ. มีหนังสือแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป และแจ้งให้ประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณีทราบด้วย ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน รายงานผลการดำเนินการต่อคณะกมธ. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการดำเนินการเสร็จสิ้น

ส่วนมาตรา 14/1 เป็นมาตราเพิ่มขึ้นใหม่ เกี่ยวกับโทษ ในกรณีที่บุคคลซึ่งไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียก ไม่ส่งเอกสาร ไม่มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นต่อกมธ. โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือเป็นความผิดทางพินัย ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 1 หมื่นบาท

และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ให้ประธานรัฐสภาออกระเบียบ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าปรับเป็นพินัย และการผ่อนชำระเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย

ต่อมาเวลา 17.20 น. หลังที่ประชุมพิจารณาเสร็จสิ้น ลงมติเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกฯ 398 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน